1 ทศวรรษ พ.ร.บ คุมเหล้า “รู้” แล้วต้อง “เลิก”

1 ทศวรรษ พ.ร.บ คุมเหล้า “รู้” แล้วต้อง “เลิก”

 

เบิร์บ// ประมวลสถานการณ์ 1 ปีของพ.ร.บ.คุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์… อดีต ปัจจุบัน และอนาคตที่ต้องปรับตัวเพื่อเดินต่อ

วันที่ 14 กุมภาพันธ์นี้นับเป็น10 ปีของการมีพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551

1ทศวรรษที่กฎหมายมีผลบังคับใช้นี้ได้มีเหตุการณ์ที่สำคัญมากมาย ทั้งการสร้างความตระหนักรู้ให้กับสังคมเชื่อมโยงเรื่องการดื่มแอลกอฮอล์เข้าปัญหาครอบครัว อุบัติเหตุและอาชญากรรม แต่อีกด้านหนึ่งใครจะปฏิเสธได้ว่าด้านบริษัทผู้ผลิตก็ปรับรูปแบบวิธีสื่อสารการตลาดเช่นเดียวกัน

ในงาน “1ทศวรรษ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551”ซึ่งจัดขึ้น ณ กระทรวงสาธารณสุข นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวเน้นย้ำว่า การคุมเข้มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้นเป็นนโยบายของรัฐบาลที่ต้องแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน และตั้งแต่การประกาศใช้พ.ร.บ.ตั้งแต่วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2551 การควบคุมแออลกอฮฮล์ถือว่ามีพัฒนาการที่ดีขึ้นตามลำดับ อย่างไรก็ตามแม้จะมีการทบทวนกฎหมายกันทุกๆ 5 ปี แต่ผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีการปรับยุทธศาสตร์เช่นกัน การโฆณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จึงพัฒนาไปไว้มาก ดังนั้นคนที่ดูแลการบังคับใช้กฎหมายต้องติดตามและปรับนโยบายให้ดูแลได้อย่างครอบคลุมเช่นเดียวกัน

นพ.บัณฑิต ศรไพศาล รองผู้จัดการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวในงานเสวนา “1ทศวรรศ แห่งการปกป้องสังคมและสุขภาพ” ตอนหนึ่งว่า นับตั้งแต่พ.ร.บ.ประกาศใช้ ประชาชนล้วนเห็นความสำคัญกับประเด็นปัญหาสังคมที่มากับการดื่มเหล้า โดยเฉพาะความรุนแรงในครอบครัวและอุบัติเหตุที่เชื่อมโยงกันอย่างแยกไม่ออก

ในอดีตการดื่มถูกมองอย่างแยกส่วน สังคมมองแค่เรื่องสุขภาพที่เป็นปัญหาแบบปัจเจก จุดเด่นหนึ่งของการมีกฎหมายบังคับใช้นั่นคือเรารณรงค์และชี้ให้เห็นว่าการดื่มนั้นเชื่อมโยงกับคนรอบข้าง เพราะสถิติเรื่องความรุนแรงในครอบครัวและอุบัติเหตุทางถนนเกี่ยวข้องกับการดื่มเหล้าอย่างชัดเจน”

ผลของการบังคับใช้พ.ร.บ.ตลอด 10ปีที่ผ่านมา เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมและมีผลสำรวจระบุ ได้แก่ 1.การรับรู้และเห็นด้วยกับการมีมาตรการบังคับใช้ซึ่งสังคมล้วนเห็นพ้องต้องกันทั้งหมด2.การให้ความร่วมมือที่ไม่ไปซื้อและงดดื่มในสถานที่ห้าม อาทิ วัด สถานศึกษา สถานที่ราชการ ซึ่งได้ผลเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 79.0 ในปี 51 เป็นร้อยละ 92.0 ในปี 53 และ ร้อยละ96.0 ในปี 61

3.การจำกัดอายุเยาวชน ซึ่งผลสำรวจพบว่าได้รับการปฏิบัติที่ดีขึ้น โดยอยู่ในร้อยละ 57.0 ในปี 51 และทรงตัวในระดับร้อยละ 73.0 ในปี 53และปี61 ตามลำดับ 4.การสำรวจกิจกรรมส่งเสริมการขายเครื่องดื่มฯในรอบ 3 เดือนที่ผ่านมาซึ่งพบว่าลดลงอย่างต่อเนื่อง และ 5.การรับรู้โฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งพบว่าประชาชนมีการรับรู้น้อยลง

“ถึงวันนี้เราเชื่อว่าทุกคนเห็นด้วยกับการมีกฎหมาย เข้าใจถึงการจำกัดสถานที่ดื่มการรับรู้โฆษณาในสื่อหลักก็น้อยลง แต่จากการที่ธุรกิจเองก็ปรับตัว มีการพัฒนารูปแบบสื่อสารการตลาดใหม่ๆ ทำให้ช่องทางอย่างอินเตอร์เน็ต และกิจกรรมส่งเสริมการขายอื่นๆ เช่นคอนเสริ์ต การใช้พื้นที่ในร้านอาหารส่งเสริมการขาย การใช้หอพักเป็นสถานที่ดื่มทดแทน ล้วนเป็นความกังวลว่าอัตราการดื่มจะเพิ่มมากขึ้น”

สิ่งที่เครือข่ายงดเหล้าอยากเห็นในทศวรรษที่ 2 จึงหนีไม่พ้นการแก้ไขกฎหมายโดยเฉพาะการห้ามไม่ให้มีการโฆษณาหรือส่งเสริมการขายผ่านช่องทางโซเชียลมีเดีย เพราะเป็นช่องทางที่เข้าถึงประชาชนได้ 24 ชั่วโมง โดยเฉพาะเด็กอายุต่ำกว่า 20 ปีที่เป็น เป้าหมายสำคัญของธุรกิจ เนื่องจากหากทำให้เกิดนักดื่มหน้าใหม่ ตั้งแต่อายุน้อย ก็สุ่มเสี่ยงว่าพวกเขาเหล่านั้นจะมีพฤติกรรมการดื่มสืบต่อไปในอนาคต

ศ.ดร.บรรเจิด สิงคะเนติ ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย หนึ่งในนักกฎหมายที่ร่วมยกร่าง พ.ร.บ.เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 วิเคราะห์ถึงสิ่งที่เกิดขึ้นไปจากนี้ว่ากฎหมายที่ว่าด้วยการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่างจากบุหรี่ ที่มีลักษณะโทเทิลแบนหรือห้ามไม่ให้การโฆษณาทั้งหมดการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จึงห้ามโฆษณาเพียงการอวดอ้างสรรพคุณหรือชักจูงใจให้ผู้อื่นดื่มการไม่ปรากฏภาพของสินค้า หรือบรรจุภัณฑ์ของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์         

“การเปิดช่องให้โฆษณาได้แบบนี้ จึงทำให้เกิดปัญหาเรื่องของการตีความ เพราะมีข้อยกเว้น จึงมองว่า พ.รบ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ที่บังคับใช้มาแล้ว 10 ปี ควรมีการปรับปรุงแก้ไข โดยสิ่งแรกที่ควรปรับปรุงคือ เรื่องการโฆษณา เป็นประเด็นสำคัญที่สุด ต้องปรับปรุงกฎหมายหลักให้ทันต่อสถานการณ์ ไม่ใช่แค่ออกกฎหมายลูกเท่านั้น โดยแก้ไขต้องแสดงเขตแดนของการควบคุมการโฆษณาทางโซเชียลมีเดียให้ชัดเจนว่าแบบไหนควบคุม หรือแบบไหนเป็นเรื่องส่วนตัว”

ศ.นพ.รณชัย คงสกนธ์ นายกแพทยสมาคม กล่าวว่า แม้สุราจะยังมีจำหน่ายได้ตามกฎหมาย แต่ความเห็นทางการแพทย์นั้นชัดเจนว่า เครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นสารเสพติด หากดื่มสุราเรื้อรังทำให้ความจำเสื่อม ความคิดเลอะเลือน บุคลิกภาพเปลี่ยน และยังส่งผลต่อระบบสุขภาพหลายส่วน อาทิ ระบบทางเดินอาหาร ทำให้เกิดโรคกระเพาะอาหารอักเสบ แผลในกระเพาะอาหาร ทำลายตับจนเป็นตับแข้งหรือมะเร็งตับ มีโอกาสเกิดมะเร็งสูงขึ้น 10 เท่า ยิ่งหากดื่มตั้งแต่อายุน้อยส่งผลต่อการเรียน เสี่ยงก่ออาชญากรรม และมักติดยาเสพติดร่วมเสมอ

ยิ่งสถานการณ์บริโภคเครื่องดื่มที่ผ่านมามีแนวโน้มนักดื่มหน้าใหม่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง นั่นคือเยาวชนและนักดื่มเพศหญิงและแต่ละปีมีผู้เสียชีวิตจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 5 หมื่นคนอีกทั้งเคยมีการศึกษาพบว่าภาษีของประเทศที่ จัดเก็บได้จากธุรกิจแอลกอฮอล์ประมาณ 8 หมื่นล้านบาท แต่รัฐต้องสูญเสียงบประมาณในการดูแลผลกระทบ ที่เกิดขึ้นประมาณ 1.5 แสนล้านบาท

ในทศวรรษที่ 2 ในเป้าหมายระดับชาติ ยังคงต้องเพิ่มความเข้มข้นในการลดปริมาณการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้ได้ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการลดความชุกของการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยร่วมมือกับเครือข่าย จำกัดการเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอ ฮอล์ในเด็กและเยาวชน และพัฒนาอนุบัญญัติกฎหมายตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอ ฮอล์ พ.ศ.2551 ให้ครอบคลุมและทันสมัยต่อสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของปัจจุบันและในอนาคต

ไม่ให้เรื่องของการดื่มเหล้าจำกัดแค่เพียง “การรับรู้” แต่ยังไปไม่ถึงเปลี่ยนพฤติกรรม“เลิกดื่ม”กันจริงๆ สักที