“วราวุธ” ประกาศชัดไทยเป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

“วราวุธ” ประกาศชัดไทยเป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

“วราวุธ” ประกาศชัดไทยเป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือClimate Change” ถือเป็นปัญหาระดับโลก

“การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือClimate Change” ถือเป็นปัญหาระดับโลก ที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตบนโลกใบนี้ ไทยในฐานะภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (COP) ได้กำหนดเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจก ที่ร้อยละ 20 – 25 จากกรณีปกติ ภายในปี พ.ศ. 2573 โดยเน้นการดำเนินการใน 3 สาขา ได้แก่ พลังงานและขนส่ง กระบวนการทางอุตสาหกรรมและการใช้ผลิตภัณฑ์ และการจัดการของเสียชุมชน

โดยการดำเนินการให้เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ ทส.ได้มีการสร้างโอกาสและมูลค่าเพิ่มสำหรับการลงทุนที่ปล่อยคาร์บอนต่ำ เช่น พลังงานหมุนเวียน ยานยนต์ไฟฟ้า การเปลี่ยนขยะเป็นพลังงาน รวมถึงต้องมีแนวทางส่งเสริมให้สุขภาวะของประชาชนดีขึ้น ดึงดูดเงินลงทุนจากต่างประเทศ เกิดการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ และการจ้างงานสีเขียว พร้อมทั้ง เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับธุรกิจไทย สอดคล้องกับนโยบาย BCG (Bio-Circular-Green Economy) ประกอบด้วยเศรษฐกิจชีวภาพ (Bio-economy)  เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy)

ไทยทำตามคำมั่น ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำ

นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมCOP 27 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 3-18 พ.ย.2565 ณ เมืองชาร์มเอลเชค สาธารณัฐอาหรับอียิปต์ ได้ให้สัมภาษณ์ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า

“ประเทศไทยไม่ได้มามือเปล่า แต่ประเทศไทยได้ทำตามคำมั่นที่ให้ไว้ในการประชุม COP26 ด้วยการจัดส่งยุทธศาสตร์ระยะยาวในการพัฒนาแบบปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำของประเทศ ฉบับปรับปรุง ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี ค.ศ. 2050 และบรรลุการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี ค.ศ. 2065 รวมทั้ง เพิ่มเป้าหมายการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (NDC) ลดก๊าซเรือนกระจกเป็นร้อยละ 40 ภายในปี ค.ศ. 2030 หากได้รับการสนับสนุนระหว่างประเทศ”

สานสัมพันธ์ สร้างความร่วมมือนานาประเทศ

ประเทศไทยได้ประกาศอย่างชัดเจนว่าดำเนินการเรื่องใดไปแล้ว จะกำลังจะทำอะไรที่เกี่ยวกับการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม ซึ่งประเทศไทยแม้จะไม่ใช่ประเทศมหาอำนาจแต่ได้ทำเรื่องนี้อย่างจริงจัง และเห็นเป็นรูปธรรม ที่ผ่านมาประเทศไทยได้ลงนามสัญญา กับประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เป็นประเทศคู่แรกในโลกที่ได้เซ็นสัญญาแลกเปลี่ยนซื้อขายคาร์บอนเครดิตภายใต้เงื่อนไข ข้อ 6.2  ความตกลงปารีส (Paris Agreement)

“ในการประชุมประชุมCOP27 ไทยได้มีการหารือร่วมกับราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ ถึงความเป็นไปได้ในการมีความร่วมมือด้านการจัดการน้ำภายใต้ข้อริเริ่ม “Water as Leverage” ซึ่งประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่กำลังประสบปัญหาเรื่องน้ำ โดยเฉพาะพื้นที่ภาคกลาง เป็นพื้นที่ค่อนข้างต่ำ ริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา กำลังได้รับผลกระทบจากน้ำทะเลหนุนสูงอย่างชัดเจน” นายวราวุธกล่าว

นอกจากนั้น นโยบายการจัดการน้ำของเนเธอร์แลนด์หลายประเด็นที่มีความสอดคล้องกับประเทศไทย อีกทั้ง เนเธอร์แลนด์ยังมี แนวคิดการจัดการน้ำ งานวิจัย และนวัตกรรม ด้านการจัดการน้ำที่น่าสนใจหลายโครงการ ซึ่งสามารถนำมาต่อมายอดในประเทศไทยได้

นายวราวุธ กล่าวต่อว่าไทยยังได้หารือร่วมกับประเทศสหรัฐอเมริกา ในเรื่องการปล่อยก๊าซมีเทน ในประเทศไทย และทั่วโลก ซึ่งก๊าซมีเทน ถือว่ามีอานุภาพร้ายแรงกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 26-28 เท่า  โดยความร่วมมือครั้งนี้จะเป็นการช่วยกันหาแนวทางในการลดปริมาณก๊าซมีเทนลง พร้อมขอให้ประเทศไทยมาลงนามในข้อตกลง

อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยได้รับเรื่องดังกล่าวและต้องไปหารือกับ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ดูแลภาคการเกษตรและปศุสัตว์ รวมถึงกระทรวงแรงงาน และยังต้องนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบก่อนที่จะมีการลงนามในโอกาสต่อไป

จัดตั้งกองทุน Loss and Damage

2 ปีที่ผ่านมาได้เห็นผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างมาก อย่าง ประเทศไทยวันนี้ปริมาณน้ำฝนมีจำนวนมากจนหลายพื้นที่เกิดน้ำท่วม แต่ในอีก 2-3ปีข้างหน้า คาดว่าจะเกิดภัยแล้งอย่างแน่นอน ดังนั้น ประเทศไทย ได้มีการกำหนดแนวทาง มาตรการในการกักเก็บน้ำที่มีอยู่ ณ ตอนนี้ไปใช้ประโยชน์เมื่อเกิดภัยแล้ง ซึ่งทุกหน่วยงาน กระทรวงต้องมีแผนระดับชาติที่เป็นแนวปฎิบัติให้เกิดขึ้นจริง เพื่อดูแลพี่น้องประชาชน

“ประเด็นสำคัญการประชุม COP27 ที่ผมอยากส่งเสริมให้เกิดขึ้นจริงๆ คือ การส่งเสริมค่าเสียหายและการสูญเสีย (Loss and Damage) ให้แก่ประเทศที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งประเทศไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพียง 0.8% เป็นอันดับที่ 22 ของโลกใบนี้ แต่กลับเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบลำดับที่ 9 ของโลก ดังนั้น หลายประเทศกำลังพัฒนา หรือประเทศที่ไม่พัฒนาจึงตื่นตัวขึ้นมาให้เรียกร้องให้มีการจัดตั้งกองทุนเฉพาะ และประเทศที่พัฒนาแล้วจะต้องลงงบประมาณปีละ 2 ล้านเหรียญสหรัฐ ฯ เพื่อนำไปช่วยประเทศที่กำลังพัฒนาแลและได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ”นายวราวุธ กล่าว

ทุกคนต้องเปลี่ยนแปลงตั้งแต่ตอนนี้

หลังจากนี้อีก 1 ปี ถึงจะไม่มีใครรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้างแต่สิ่งที่จะเกิดขึ้น คือการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศน้ำท่วม ภัยแล้ง ภัยพิบัติต่างๆ จะเริ่มทวีความรุนแรงมากขึ้น สิ่งที่ประเทศไทยต้องทำ คือ ต้องเริ่มการเปลี่ยนแปลงตั้งแต่ตอนนี้ ต้องมีแผนมีการดำเนินการงานที่ชัดเจน

"ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต พฤติกรรมของคนหนึ่งคน  โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนทั้งประเทศ ซึ่งประเทศไทยมีประชากร 67 ล้านคน มีเกษตรกร ชาวไร่ ชาวนา นักธุรกิจ การประกอบอาชีพ และอุตสาหกรรมต่าง ๆ ดังนั้น จากนี้อีก 1 ปี จะเป็นความท้าทายในการทำงานให้ชาวโลกได้ประจักษ์ และนำ1 ปีที่จะเกิดขึ้นนี้ไปเสนอต่อเวที COP 28 ที่เมืองอาบูดาบี สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ต่อไป” นายวราวุธ กล่าว

นายวราวุธ กล่าวว่าหลายประเทศมีความชื่นชมต่อประเทศไทยในการจัดการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม ซึ่งในการประชุม COP27 ไทยไม่ได้มามือเปล่า เราทำได้จริง ตลอด 365 วัน ต้องขอบคุณเพื่อนข้าราชการ และภาคเอกชนที่ได้ร่วมกันทำงาน แก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม

“ทุกคนต้องเป็นพลเมืองตื่นรู้ ปลุกพลังมาทำงานด้านสิ่งแวดล้อม การเปลี่ยนแปลงเรื่องนี้ไม่สามารถทำได้คนเดียว ขอให้ทุกคนช่วยกัน  และเริ่มที่ตัวเราเอง เพราะเวลาธรรมชาติเขาเกิดน้ำท่วม น้ำแล้ง เขาไม่ได้เลือกว่ายากดีมีจน หรือเลือกในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง เขาสร้างผลกระทบให้แก่ทุกคน กระทรวงทส.จะเป็นศูนย์กลางในการประสานงาน และผลักดันให้ทุกภาคส่วนทำไปด้วยกัน”นายวราวุธ กล่าว