เก็บภาษีสรรพสามิตบุหรี่ไฟฟ้า แก้หรือซ้ำเติมปัญหาให้สังคมไทย?

เก็บภาษีสรรพสามิตบุหรี่ไฟฟ้า แก้หรือซ้ำเติมปัญหาให้สังคมไทย?

สุชาดา ตั้งทางธรรม สถาบันส่งเสริมสุขภาพไทย มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ เขียนบทความเรื่อง เก็บภาษีสรรพสามิตบุหรี่ไฟฟ้า แก้หรือซ้ำเติมปัญหาให้สังคมไทย?

สุชาดา ตั้งทางธรรม สถาบันส่งเสริมสุขภาพไทย มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ เขียนบทความถึงเรื่อง ภาษีบุหรี่ ที่กำลังเป็นประเด็นร้อนในขณะนี้คือ กรมสรรพสามิต พยายามผลักดันให้มีการเก็บ ภาษีบุหรี่ไฟฟ้า โดยอ้างเหตุผลเรื่องการหารายได้เข้ารัฐ กลุ่มผู้สนับสนุนให้เหตุผลว่า ปัจจุบันมีการลักลอบจำหน่ายกันมาก การไม่เก็บภาษีทำให้รัฐสูญเสียรายได้ที่ควรจัดเก็บได้จำนวนมาก นักวิชาการบางท่านอ้างรายงานขององค์การอนามัยโลก (WHO) ว่าชี้แนะให้เก็บภาษีบุหรี่ไฟฟ้าและเสนอให้ไทยควรพิจารณาเรื่องนี้ด้วย โดยคำนึงถึงหลักการ ภาษีสรรพสามิต ที่ดี 

สุชาดา ยังเพิ่มเติมถึงประเด็นนี้ว่า หากมองผิวเผินเหมือนจะดูดีมีเหตุผล เพราะ WHO สนับสนุนให้ทุกประเทศใช้มาตรการภาษีเพื่อควบคุมยาสูบอยู่แล้ว องค์กรเศรษฐกิจที่สำคัญอย่างธนาคารโลกก็ชี้แนะว่า ภาษียาสูบเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิผลสูงสุด คือให้ผลลัพธ์ดีที่สุดในการควบคุมยาสูบโดยเสียต้นทุนต่ำสุดเมื่อเทียบกับมาตรการอื่น อย่างไรก็ตาม การเก็บภาษีบุหรี่ไฟฟ้าเป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ ผู้กำหนดนโยบายต้องมองให้ทะลุถึงผลที่จะเกิดตามมา เพราะมันไม่เพียงแต่จะสร้างปัญหาเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นเท่านั้น แต่ยังจะสร้างปัญหาสังคมหนักขึ้นไปด้วย

WHO มองเห็นปัญหาและให้แนวทางในการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้ามาตั้งแต่ปี 2551 และในการประชุมภาคีกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบครั้งที่ 7 ปี 2559 ก็ชี้แนะให้ประเทศต่างๆ "ห้าม" หรือ "จำกัด" การผลิต การนำเข้า การนำเสนอ การขาย และการใช้ผลิตภัณฑ์นี้ตามความเหมาะสมกับกฎหมายของแต่ละประเทศและวัตถุประสงค์ด้านสาธารณสุข 

ไทยเป็นหนึ่งใน 32 ประเทศที่กำหนดให้ บุหรี่ไฟฟ้า เป็นสินค้าต้องห้าม (ตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ พ.ศ. 2557) ดังนั้น หน่วยงานใด หรือบุคคลใดที่เสนอหรือสนับสนุนให้มีการเก็บ ภาษีบุหรี่ไฟฟ้า จึงเป็นการเสนอหรือสนับสนุนให้บุหรี่ไฟฟ้ากลายเป็นสินค้าที่ทุกคน โดยเฉพาะเด็กและเยาวชน สามารถซื้อหามาสูบได้ง่าย เพราะวางจำหน่ายในตลาดได้ 

ปัจจุบันหลายประเทศกำลังมีปัญหาการแพร่ระบาดอย่างหนักในกลุ่มเด็กและเยาวชน ซานฟรานซิสโกเป็นเมืองแรกในสหรัฐอเมริกาที่ออกกฎหมายห้ามผลิตห้ามจำหน่ายแล้ว

สำหรับไทย การสำรวจปี 2564 โดย กรมอนามัย พบว่า มีนักเรียนชายสูบบุหรี่ไฟฟ้าร้อยละ 18.7 นักเรียนหญิงร้อยละ 8.9 ซึ่งเป็นเรื่องน่าห่วงมาก ปัจจุบันเป็นที่ทราบกันว่าคุณภาพการศึกษาของเด็กไทยด้อยกว่าเด็กในประเทศเพื่อนบ้านหลายประเทศ บุหรี่ไฟฟ้าเป็นต้นทางของอบายมุขทั้งเหล้า บุหรี่ รวมทั้งยาบ้าซึ่งเป็นต้นเหตุของความรุนแรงในรูปแบบต่างๆ จึงน่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนในกลุ่มเปราะบาง เป็นการซ้ำเติมความเหลื่อมล้ำในสังคมให้มากขึ้น

ในประเทศที่ไม่ห้ามบุหรี่ไฟฟ้า WHO ชี้แนะให้รัฐบาลควบคุมอย่างจริงจังโดยใช้มาตรการต่างๆ ตามกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบ (WHO FCTC) เป็นหลัก เพื่อลดอุปสงค์และอุปทานเช่นเดียวกับผลิตภัณฑ์ยาสูบอื่น ซึ่งแน่นอนว่าหนึ่งในมาตรการสำคัญก็คือ การจัดเก็บภาษี 
    

สำหรับไทยมีกฎหมายห้ามอยู่แล้วนั้น การอ้างรายงานของ WHO เรื่อง ภาษีบุหรี่ไฟฟ้า มานำเสนอให้พิจารณาเก็บภาษีนี้จึงเป็นเรื่องตลกเมื่อคำนึงถึงเจตนารมณ์ของ WHO ในการควบคุมยาสูบ

WHO ชี้ให้เห็นเล่ห์เหลี่ยมกลยุทธ์ของธุรกิจยาสูบข้ามชาติในการพยายามเข้าถึงบุคคลและหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดนโยบายภาษียาสูบ ระบุว่า มีงานวิชาการจำนวนมากที่ได้รับทุนสนับสนุนจากธุรกิจยาสูบ และชี้แนะว่าประเทศที่ห้ามบุหรี่ไฟฟ้าควรดำเนินการอย่างเคร่งครัดไม่ให้อุตสาหกรรมยาสูบแทรกแซงได้เพื่อให้มั่นใจได้ว่าเด็กและเยาวชนจะได้รับการปกป้องให้พ้นพิษภัยยาสูบ

การเก็บ ภาษีบุหรี่ไฟฟ้า ไม่ใช่การเพิ่มรายได้อย่างยั่งยืน แต่เป็นการซ้ำเติมปัญหาเพราะจะทำให้เด็กและเยาวชนสูบบุหรี่เพิ่มขึ้น รัฐบาลจะมีรายจ่ายเพิ่มขึ้นอีกมากในอนาคตในการรักษาพยาบาลผู้ป่วย จึงเป็นภาษีที่ไม่มีประสิทธิภาพและไม่เป็นธรรม กรมสรรพสามิตจึงไม่ควรผลักดันเรื่องนี้ 

สิ่งที่ควรทำคือการตรวจสอบและแก้ไขปัญหาภาษีบุหรี่ที่การปรับโครงสร้างภาษีปี 2560 ที่ทำให้ภาษีสรรพสามิตยาสูบไม่มีประสิทธิภาพ ไม่เป็นธรรม และไม่อยู่บนพื้นฐานของแนวทางปฏิบัติที่ดีของสากล ซึ่งสร้างความเสียหายให้สังคมอยู่ทุกวันนี้โดยเร็ว เร่งปราบปรามบุหรี่ผิดกฎหมายอย่างจริงจังทุกช่องทาง รวมทั้งสนับสนุนกรุงเทพมหานครให้เร่งจัดเก็บภาษียาสูบ เพราะนอกจากจะเป็นช่องทางหารายได้ของ กทม. แล้ว ยังช่วยปิดช่องโหว่ที่ (อาจ) เป็นช่องทางหลีกเลี่ยงภาษีของบุหรี่ต่างชาติด้วย