เอกภาพเพลงไทยคลาสสิก

เอกภาพเพลงไทยคลาสสิก

โครงการวิจัย งานสร้างสรรค์ดุริยางคศิลป์ฯ ที่ไม่ได้ทำเพื่อยกสถานภาพ หรือเลื่อนวิทยฐานะของผู้ทำวิจัย แล้วสุดท้ายก็ซุกไว้บนหิ้ง!

ณ หอแสดงดนตรี อาคารศิลปวัฒนธรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีการสัมมนาโครงการวิจัยในหัวข้อเรื่อง “งานสร้างสรรค์ดุริยางคศิลป์ : วรรณกรรมเพลงไทยคลาสสิกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์” เมื่อปลายเดือนที่แล้ว

การวิจัยครั้งที่ 7 นี้ ได้รับทุนอุดหนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)ใช้เวลา 1 ปีครึ่ง

เท่าที่ประเมิน เห็นว่าการสัมมนาครั้งนี้ มีประโยชน์ต่อวงการดนตรีบ้านเราอย่างมาก ผลงานการวิจัยเป็นรูปธรรม จับต้องได้ ให้ทั้งความรู้ สารัตถะที่ปฏิบัติจริงได้  ข้อสำคัญเป็นการอนุรักษ์และพัฒนาเพลงไทยไปสู่มิติของดนตรีตะวันตก ที่เรียกว่า “คลาสสิก” มีมาตรฐานสมบูรณ์พร้อมที่จะนำออกเผยแพร่ไปยังนานาชาติได้ มิใช่งานวิจัยของนักทฤษฏี นักวิชาการประเภทกางตำรา ไม่มีบริบทที่ชัดเจน ไร้จุดหมาย ใช้ปฏิบัติจริงไม่ได้ เป็นงานวิจัยที่ทำขึ้นเพียงเพื่อยกสถานภาพ หรือเลื่อนวิทยฐานะของผู้ทำวิจัยเองเท่านั้น

งานวิจัยแบบที่ว่านี้ อย่างดีก็แค่ไปซุกอยู่บนหิ้ง

Music-025_re

ศาสตราจารย์ ดร.ณัชชา พันธุ์เจริญ (เมธีวิจัยอาวุโส สกว.) หัวหน้าโครงการวิจัยดังกล่าวข้างต้น ใช้มโนทัศน์เกี่ยวกับเพลงไทยคลาสสิก  โดยนำเอาเพลงไทยรวม 50 เพลงมาเรียบเรียง  ต่อยอดให้เป็นรูปแบบดนตรีคลาสสิกตะวันตก บันทึกการบรรเลงทั้งหมดลงในแผ่น “ซีดี” รวม 5 ชุด

  • ชุดแรก “สดับทิพย์ธรณินทร์”

ในรูปแบบ “วงเครื่องสายผสมเปียโน” แผ่น 1 มีเพลงแขกมอญบางขุนพรหม, มอญรำดาบ, แขกต่อยหม้อ, ทองย่อน, ลาวสวยรวย, หกบท, ลมพัดชายเขา แผ่น 2 มีเพลง ปฐมดุสิต, พราหมณีดีดน้ำเต้า, เขมรพวง, วิลันดาโอด, สาลิกาชมเดือน,แขกปัตตานี, ธรณีร้องไห้ เปียโนบรรเลงโดย ณัชชา พันธุ์เจริญ ผู้เชี่ยวชาญการเดี่ยวเปียโนแบบไทย ร่วมกับนักดนตรีไทยร่วมสมัยที่มีชื่อเสียง เลอเกียรติ มหาวินิจฉัยมนตรี (ซอด้วง) ชัยภัค ภัทรจินดา (ซออู้) ประสาน วงศ์วิโรจน์รักษ์ (ขลุ่ย) อานันท์ นาคคง (โทน-รำมะนา)  อัษฏาวุธ สาคริก (ฉิ่ง)

  • ชุดที่สอง “ซิมโฟนีแห่งกรุงรัตนโกสินทร์”

เป็นเพลงในรูปแบบซิมโฟนี โดย ศ.ดร.ณรงค์ฤทธิ์ ธรรมบุตร นักประพันธ์เพลงรางวัล “ศิลปาธร” มีผลงานนำออกแสดงทั้งในและต่างประเทศ บทเพลงซิมโฟนีนี้เป็นผลงานลำดับที่ 7 ณรงฤทธิ์ได้เลือกบทเพลงพระราชนิพนธ์ในพระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี 2 พระองค์มาเป็นพื้นฐานในการประพันธ์ ได้แก่ “ราตรีประดับดาว”และ “เขมรลออองค์” พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว, “บุหลันลอยเลื่อน”  พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รวมถึง “แขกมอญบางขุนพรหม” พระนิพนธ์ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตร สุขุมพันธ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต

บรรเลงโดยวงซิมโฟนีออร์เคสตรา แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อภิชัย เลี่ยมทอง นักเชลโล ชั้นนำในวงการดนตรีคลาสสิกที่มีพื้นฐานจากดนตรีไทย เดี่ยวเพลง “บุหลันลอยเลื่อน”

  • ชุดที่สาม “สยามดุริยางค์เครื่องสาย”

ในรูปแบบดุริยางค์เครื่องสาย (String orchestra) บรรเลงโดยวงเครื่องสายแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรียบเรียงโดย ผศ.ดร.นรอรรถ จันทร์กล่ำ ทั้งนี้ได้ประพันธ์ท่อนนำ ท่อนเชื่อม ท่อนจบ เพิ่มเติมเพื่อให้มีความต่อเนื่องสมบูรณ์ขึ้น

แต่ละเพลงมีความนุ่มนวล ไพเราะ อิ่มเอิบ ละเมียดละไม ตามคุณลักษณะของเครื่องสาย มีเพลงลาวน้อย, ลาวเจริญศรี, บังใบ, ลาวเสี่ยงเทียน, แขกมอญบางขุนพรหม, แขกปัตตานี, เขมรไทรโยค, ลาวดวงเดือน, ระบำสุโขทัย, โศกพม่า, แขกบูชายัญ

ความพิเศษคือ นรอรรถได้เชิญนักดนตรีคลาสสิกระดับแนวหน้ามาร่วมบรรเลงด้วย

ดำริห์ บรรณวิทกิจ คณบดีคณะดุริยางคศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ผู้ก่อตั้งวง “เฟร์โรชี” วงดุริยางค์เครื่องลมที่กำลังมีชื่อเสียง ซึ่งเพิ่งไปแสดงที่ญี่ปุ่นในงานเชื่อมความสัมพันธ์ ไทย-ญี่ปุ่น  130 ปี ดำริห์นักโอโบมือหนึ่งในวงการดนตรีคลาสสิกบ้านเรา เดี่ยวเพลง “ลาวเจริญศรี”และ “ลาวดวงเดือน”

วรพล กาญจณวิทยกิจ ผู้คร่ำหวอดในวงการดนตรีคลาสสิกมานับสิบปี  เดี่ยวฟลูตเพลง บังใบ

รวยชัย แซ่โง้ว นักไวโอลินรุ่นใหม่ที่กำลังมาแรง เดี่ยวเพลง แขกมอญบางขุนพรหม

ดำริห์และวรพล ร่วมกันสร้างสีสันในเพลง “เขมรไทรโยค”

Music-231_re

  • ชุดที่สี่ “สยามดุริยางค์เครื่องลม”

เรียบเรียงเพลงไทย รวม 12 เพลง เพื่อใช้บรรเลงด้วยวงดุริยางค์เครื่องลม  บรรเลงโดย “เฟร์โรชี ฟิลฮาร์มอนิควินด์ส” อำนวยเพลงโดย วานิช โปตะวนิช

ดร.ยศ วณีสอน อาจารย์คณะดุริยางคศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร นำเพลงชมแสงทอง, เขมร  ชมดง, สาลิกาชมเดือน, น้ำลอดใต้ทราย, ปฐมดุสิต, แขกมอญบางขุนนนท์, ลาวคอน, เขมรปี่แก้ว, ลาวคำหอม, วิลันดาโอด มาเรียบเรียง แต่งเติมให้เหมาะกับวงดุริยางค์เครื่องลม

เนื่องจากเป็นผู้เชี่ยวชาญเครื่องดนตรีประเภทเครื่องลม โดยเฉพาะคลาริเน็ต เป็นหัวหน้าวงและนักเดี่ยวคลาริเน็ตในวงเฟร์โรชีฟิลฮาร์มอนิกวินด์สเป็นนักดนตรีในรอยัลบางกอกซิมโฟนีออร์เคสตราและอีกหลายวงในต่างประเทศ  ซึ่งถือเป็นความแปลกใหม่สำหรับเพลงไทย

  • ชุดที่ห้า”สยามดุริยางค์เชมเบอร์”

ผศ.ดร.พิมพ์ชนก สุวรรณธาดา แห่งคณะดุริยางคศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้นำเพลงไทยรวม 11 เพลงมาเรียบเรียงในรูปแบบดนตรี “เชมเบอร์” โดยบรรเลงเปียโนเอง ยกเว้นบางเพลง จามร ศุภผล อาจารย์สถาบันเดียวกันเป็นผู้บรรเลงเปียโน  โดยได้เชิญเพื่อนนักดนตรีร่วมบรรเลงด้วย ศิริพงศ์ ทิพย์ธัญ หัวหน้าวง และนักเดี่ยวไวโอลินแห่งรอยัลบางกอกซิมโฟนี ออร์เคสตรา มิติ วิสุทธิ์อัมพร (วิโอลา) ยศ วณีสอน (คลาริเน็ต) นาดีส บุญรอด (มาริมบา) ณัฏฐพัชร กองแก้ว (มาริมบา)

เพลงทุกเพลงที่เลือกมาเรียบเรียงและบรรเลงล้วนน่าฟัง ได้แก่เพลง ธรณีร้องไห้, นางครวญ, มอญดูดาว, มะลิซ้อน,  วิลันดาโอด, ลาวเสี่ยงเทียน, แขกต่อยหม้อ, นกเขาขะแมร์, พม่าเห่, จีนลั่นถัน, ลาวกระแต

แม้พิมพ์ชนกจะเรียนดนตรีสากลมาเป็นหลัก แต่ด้วยสิ่งแวดล้อมในครอบครัวอบอวลด้วยกลิ่นอายของดนตรีไทย จึงทำให้ซึมซาบเพลงไทยมาแต่เด็ก

สรุปได้ว่าผลงานของนักวิจัยทั้งห้า มีความเป็นเอกภาพในการอนุรักษ์และพัฒนาเพลงไทย ด้วยการใช้ระบบและวิธีการแบบดนตรีคลาสสิก เป็นการสร้างสรรค์วัฒนธรรมเพลงไทยในทิศทางใหม่ อันจะนำไปสู่ความเป็นสากลมากขึ้น

ทั้งนี้นอกจากได้บันทึกเสียงลงแผ่นซีดีอย่างมีคุณภาพเสียงแล้ว ทั้งหมดยังได้บันทึกโน้ตสากลลงใน “สกอร์” อย่างประณีต สามารถถอดสกอร์นำไปบรรเลงตามลักษณะวงทั้ง 5 ประเภท

พร้อมกันนี้มีคำอธิบายเพลงใน  booklet โดยอาจารย์ ประสาน วงศ์วิโรจน์รักษ์

Music-238_re

ผมมีโอกาสคุยกับผู้วิจัยในกลุ่ม 3 คน ได้แก่ ณัชชา พันธุ์เจริญ, ณรงฤทธิ์ ธรรมบุตร และยศ วณีสอน ในหลายประเด็น โดยผมตั้งคำถามแรกว่า

สิ่งที่ทุกคนทำมีลักษณะเป็น nationalism (ชาตินิยม) แบบดนตรีคลาสสิกในศตวรรษที่ 19 และ 20 หรือไม่

ณรงฤทธ์  -  คงตอบยาก เอาเป็นว่าอย่างตัวเองไม่ได้เล่นดนตรีไทย ไม่ได้สัมผัสดนตรีไทยตั้งแต่แรก แต่ดนตรีไทยมีอยู่ในตัวเราตลอด 4 ปี เรียนที่จุฬาฯ ห้องซ้อมติดกับห้องดนตรีไทย เลยตกลงกับเพื่อนนิสิตว่าผลัดกันซ้อมคนละชั่วโมง ไม่งั้นฟังไม่รู้เรื่อง ในระหว่างที่รอฟังพวกเขาเล่น ซ้อมมโหรี ระนาด จึงถามไปว่าเล่นอะไร เพราะดี สอนกันบ้างสิ

ช่วง 4 ปีที่จุฬาฯดนตรีไทยอยู่ในตัวเราโดยธรรมชาติ  จากนั้นเมื่อลงมือประพันธ์เพลง  เป็นประสบการณ์ที่เข้ามาในตัวเรา  บางทีไม่ได้บังคับว่าต้องเป็นอย่างนั้น จึงคิดว่าการประพันธ์ให้มีสำเนียงไทยมันเกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติ...ถามว่าเป็น nationalism หรือไม่ มันก็เป็นอย่างที่เราไม่จงใจ แต่ในกลุ่มยุโรป เช่น อย่าง The Five  กลุ่มนักประพันธ์เพลงชาวรัสเซีย 5 คน อันนั้นเป็นการจงใจให้เป็น...

ยศ  -  ทำมาหลายงาน งานแรกๆพยายามอย่างหนัก คิดว่าจะทำยังไงให้เสียงเป็นไทย ทำไปทำมาก็ค้นพบว่าไม่ต้องเสแสร้ง ยังไงเสียงที่มันอยู่ในหัวก็เป็นไทย ถึงแม้จะไม่ใช่รูปแบบที่ชัดเจน...

ณัชชา – เสียงของแต่ละคนเหมือนกับตกผลึกจากชีวิตเขา

ดังนั้นจะถือว่าเป็นชาตินิยมก็น่าจะได้ เพราะเท่าที่ปรากฏในโลกดนตรีตะวันตก มีทั้งที่จงใจและไม่จงใจให้เป็นชาตินิยม