เล่าเรื่องโรงเรียนปฐมวัยที่แคนาดา เมื่อเด็กทุกฐานะได้การศึกษาที่มีคุณภาพเท่าเทียมกัน

เล่าเรื่องโรงเรียนปฐมวัยที่แคนาดา เมื่อเด็กทุกฐานะได้การศึกษาที่มีคุณภาพเท่าเทียมกัน

ภาษีแสนแพงที่พ่อแม่ชาวแคนาดาต้องจ่าย กลายเป็นความคุ้มค่าเมื่อแลกกับการศึกษาคุณภาพสูงที่ทุกคนเข้าถึงได้

ตอนลูกชายคนโตเกิดมา ฉันตั้งใจจะเลี้ยงลูกด้วยตัวเองให้มากที่สุด ซึ่งสามีก็ยอมตามใจให้ฉันออกจากงานมาเลี้ยงลูก และเราตั้งใจว่าจะให้ลูกเข้าโรงเรียนนานาชาติ เพราะเราใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษากลางที่บ้าน แต่ด้วยความจำเป็น สามีต้องย้ายกลับมาแคนาดา พวกเราเลยได้อพยพตามมาด้วย และพบว่า การจ่ายภาษีที่สูง มันคุ้มกับชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นจริงๆ โดยเฉพาะการศึกษาของลูก

ที่รัฐออนทาริโอ มีทั้งโรงเรียนรัฐและโรงเรียนในเครือคาธอลิคที่ไม่ต้องจ่ายค่าเทอม เด็กที่จะเข้าโรงเรียนคาธอลิคได้ พ่อหรือแม่ของเด็กหรือตัวเด็กเอง ต้องได้รับศีลล้างบาปของศาสนาคริสต์ นิกายคาธอลิคที่ถูกต้องตามกฎพระศาสนจักร ฉันเกิดในครอบครัวคาธอลิคและได้รับศีลล้างบาป จึงให้ลูกเข้าโรงเรียนคาธอลิคที่ใส่เครื่องแบบนักเรียน (บางโรงเรียนแต่งชุดธรรมดา) ส่วนโรงเรียนรัฐไม่มีเครื่องแบบ จะใส่อะไรก็ได้ตามใจชอบ แต่มีกฎว่าต้องแต่งตัวสุภาพ แต่บางทีฉันเห็นเด็กวัยรุ่นบางคนแต่งตัวไปโรงเรียนแล้วใจหายวาบเลยทีเดียว ฉันและสามีรู้สึกสบายใจกว่าที่ให้ลูกชายแต่งเครื่องแบบ เพราะประหยัดเวลา ลดความขัดแย้งเวลาเลือกเสื้อผ้า และเด็กๆ น่ารักเวลาใส่เครื่องแบบ

image1 (4)

เด็กๆ ส่วนใหญ่ จะเข้าโรงเรียนใกล้บ้าน ครอบครัวเราก็เช่นกัน ฉันเดินพาลูกไปกลับโรงเรียนทุกวัน ได้ออกกำลังกายไปในตัว บางครอบครัวอยู่ไกลหน่อย ก็จะมีรถโรงเรียนสีเหลืองคันใหญ่มารับส่งตรงจุดนัดพบ โรงเรียนที่นี่เข้าสายและเลิกเร็ว ดังนั้นบางครอบครัวที่ผู้ปกครองมารับตอนโรงเรียนเลิกไม่ได้ ก็จะมีโปรแกรมดูแลเด็กหลังเลิกเรียน แต่โปรแกรมนี้มีค่าใช้จ่ายที่ผู้ปกครองต้องจ่ายเอง

เด็กที่สามารถเรียนอนุบาลเต็มวัน (6 ชั่วโมง / วัน) ได้ที่รัฐออนทาริโอ คือเด็กที่อายุ 4 - 5 ขวบแล้ว หรือจะมีอายุเต็ม 4 ขวบภายในวันที่ 31 ธันวาคมของปีที่เข้าเรียน แต่ไม่มีข้อบังคับ พ่อแม่ผู้ปกครองต้องตัดสินใจเอง แต่เมื่อเด็กอายุ 6 - 18 ปี จะต้องเข้าโรงเรียน ลูกชายคนโตของฉันเกิดต้นปี ดังนั้นตอนเข้าอนุบาลปีแรก เขาก็อายุเกือบ 5 ขวบ ดูแลตัวเองได้มากแล้ว และไม่ร้องไห้เลยเวลาไปส่งที่โรงเรียน ฉันเห็นเด็กร้องไห้แค่คนเดียวเท่านั้นทั้งชั้นเรียนที่มี 3 ห้อง โรงเรียนที่ลูกชายฉันเข้ามีหลักสูตรอนุบาล 2 ปี และเกรด 1 - 8 ส่วนเกรด 9 - 12 ต้องไปโรงเรียน Highschool ซึ่งทั้งหมดไม่ต้องจ่ายค่าเทอมอีกเหมือนกัน ทั้งโรงเรียนรัฐและโรงเรียนในเครือคาธอลิค

การเรียนอนุบาลที่แคนาดา ทั้งโรงเรียนรัฐและโรงเรียนในเครือคาธอลิค สำหรับชั้นอนุบาล จะใช้วิธีเรียนผ่านการเล่น เด็กๆ จะได้เล่นทั้งวัน และไม่มีการบ้าน เต่อาจมีเนื้อเพลง โคลงกลอนที่เรียน ให้เอากลับมาร้อง อ่านให้ผู้ปกครองฟัง โรงเรียนที่ลูกชายเรียนนั้น เด็กอนุบาลปี 1 และ ปี 2 อยู่ห้องเดียวกัน เด็กโตกว่า จะเป็นแบบอย่างให้เด็กเล็กกว่า และคอยช่วยเหลือกัน โดยมีครู 2 คน และจะไม่ย้ายห้องทั้ง 2 ปี เพื่อให้เด็กเคยชินกับสิ่งแวดล้อม เพื่อน และคุณครู เด็กจะได้สบายใจและเรียนรู้ได้อย่างเต็มที่

image2 (3)

เด็กๆ ต้องเอาอาหารกลางวัน อาหารว่างเช้า และบ่ายมาเอง ไม่มีอาหารขายที่โรงอาหาร แต่ทางโรงเรียนก็มีโปรแกรมเสริม ที่ผู้ปกครองสามารถซื้อเพิ่มได้ เช่น พิซซ่าทุกวันพุธ นมตอนกลางวัน หรืออาหารปรุงสำเร็จจากผู้รับเหมาทำอาหารกลางวันสำหรับโรงเรียน และแน่นอน อาหารทุกอย่างต้องปราศจากถั่วลิสงและเมล็ดสน เพื่อหลีกเลี่ยงอันตรายจากการแพ้อาหาร

image4 (1)

โชคดีมากสำหรับลูกชาย ที่ทางโรงเรียนเพิ่งเปลี่ยนสนามเด็กเล่นให้เป็นสนามแบบธรรมชาติ เอาเครื่องเล่นพลาสติกสีสดและพื้นปูนออก เปลี่ยนมาเป็นเนินเขา ต้นไม้ บ่อดิน บ่อทราย และครัวดินโคลนแทน มีต้นไม้ให้ร่มเงา ออกดอกออกผลให้กิน และได้ปลูกผักสวนครัวอีกด้วย (ปีนี้ยังไม่มีผลไม้เพราะเพิ่งปลูก) เด็กๆ ได้เล่นข้างนอกเกือบทั้งวันเวลาอากาศดี ใครใคร่เล่นอะไรก็เล่นไป วิ่งโลดโผนยังไงก็ได้ ล้มไปก็ไม่เจ็บ เพราะเป็นดิน ทราย และหญ้า เวลาเลอะก็ไปล้างมือล้างหน้า สนุกกันสุดๆ

ในห้องเรียนก็มีของเล่นให้เล่นเต็มไปหมด มีมุมต่างๆ เช่นมุมศิลปะ นับเลข ต่อบล็อค หนังสือ และมุมสำหรับทำกิจกรรมร่วมกัน เช่น เล่นเกม เล่านิทาน ร้องเพลง

หัวข้อในการเรียนก็เกิดจากการเล่น อาจมาจากการที่เด็กคุยกับคุณครู แล้วถามกันไปมา ก็ช่วยกันหาคำตอบ

เช่น วันหนึ่งคุณครูถามว่า ช่วงหน้าร้อนที่ผ่านมา หนูเอไปเที่ยวที่ไหน? หนูเอตอบว่า ไปฮาวายมาค่ะ ฮาวายมีภูเขาไฟด้วย เด็กๆ บางคนไม่รู้จักภูเขาไฟ ครูก็จะหารูปให้ดู หรือสร้างโมเดลภูเขาไฟกัน หรือเด็กอยากวาดรูปภูเขาไฟ ทุกอย่างได้ประโยชน์ทั้งหมด

อีกวัน ครูเล่าให้ฟังว่า หนูบีเอาแอ๊ปเปิ้ลมา 4 ลูก แม่ให้เอามาแบ่งเพื่อนๆ ครูถามว่า อยากแบ่งเพื่อนทุกคนเลยหรือเปล่า แล้วถ้าจะแบ่งทุกคน ทำยังไงถึงจะพอแบ่งเพื่อน 22 คน เด็กก็ตอบว่า ต้องหั่นแบ่งกัน แล้วก็ช่วยกันคิดว่า ต้องหั่นลูกละกี่ชิ้นจึงจะแบ่งพอ เป็นการเรียนการหารและเศษส่วนไปในตัวเลย เห็นมั้ยล่ะคะ แค่เล่นก็ได้ประโยชน์แล้ว

image3 (3)

ช่วงเริ่มเปิดเทอม ทางโรงเรียนจะจัดงานประชุมผู้ปกครอง เพื่อชี้แจงสิ่งที่ลูกหลานจะได้เรียนรู้ในปีนั้นๆ ให้ผู้ปกครองได้รับทราบ และคุณครูประจำชั้นของลูกชายฉันก็ได้อธิบายว่า เด็กแต่ละคนแตกต่างกัน เรียนรู้และมีความสนใจต่างกัน ดังนั้นคุณครูจะมีหน้าที่สังเกตว่าเด็กแต่ละคนชอบอะไร ทำอะไรได้ดีอยู่แล้ว และต้องเสริมอะไร คุณครูจะจดบันทึกไว้ พอถึงปลายเทอมการศึกษา คุณครูจะนัดผู้ปกครองมาพบเพื่อรายงานความก้าวหน้าของเด็กๆ การเรียนผ่านการเล่นนี้ไม่มีวัดเกรดวัดผล เด็กอนุบาลมาโรงเรียนเพื่อเรียนรู้การดูแลตนเองและการเข้าสังคมเท่านั้น ไม่มีการแข่งขันประกวดประชันอะไรเลย เด็กก็ได้ใช้ชีวิตเป็นเด็กได้เต็มที่ แต่มีระเบียบวินัย และช่วยเหลือตนเองได้

เด็กทุกคนได้รับการปฏิบัติดูแลอย่างเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะยากดีมีจนอย่างไร การที่ประชาชนจ่ายภาษีค่อนข้างสูง คนรายได้มากจ่ายภาษีมากกว่าคนรายได้น้อย ทำให้สภาพความเป็นอยู่ การใช้ชีวิตประจำวัน ไม่ลำบากมากนัก แม้ไม่มีรถขับ ต้องนั่งรถประจำทาง ก็ไม่รู้สึกลำบากอะไรเลย

เด็กๆ ที่เกิดมาในครอบครัวที่ยากจน แต่ได้รับการศึกษาที่ดี และฟรีจากรัฐ ก็สามารถใช้ความรู้ที่ได้มาพัฒนาตัวเองต่อไป การศึกษาสำคัญที่สุด โลกของเราคงน่าอยู่กว่านี้ ถ้าเด็กๆ ทุกคนในโลกได้รับโอกาสในการศึกษา และการเลี้ยงดูอย่างดีเหมือนเหมือนกับเด็กๆ ในประเทศแคนาดา