ชมงานของ Egon Schiele ในปีที่ 99 ที่เขาจากไป

ชมงานของ Egon Schiele ในปีที่ 99 ที่เขาจากไป

สุดยอดคอลเลกชั่นของอีกอน ชีเลอ ศิลปินออสเตรียน ในลัทธิเอ็กซ์เพรสชันนิซึ่ม ผู้เสียชีวิตในวัยเพียง 28 ปี แต่สร้างผลงานไว้กว่า 200 ชิ้น

แม้จะถูกภาพเขียน The Kiss ของกุสตาฟ คลิมท์ (Gustav Klimt) ลากไปเวียนนา จึงวาง Belvedere Museum ไว้เป็นจุดหมายหลัก แต่พอได้เข้า Leopold Museum ก่อน เพื่อตั้งใจจะใช้เวลาอย่างไม่จำกัดที่ Belvedere Museum ในวันถัดไป กลายเป็นเหตุให้เทใจไปหลงรักงานของศิลปินอีกคนเข้าอย่างจัง

ที่ Leopold Museum มีสุดยอดคอลเลกชั่นของศิลปินเวียนนาตั้งแต่ศตวรรษที่ 17 ถึงศตวรรษที่ 20 ซึ่งเวียนนาได้มีกลุ่มศิลปินที่เป็นหนึ่งในหัวหอกความเคลื่อนไหวทางศิลปะระดับโลก ในกลุ่มของ Art Nouveua, Art Deco จนมาถึง Expressionism รวมถึงวิทยาการด้านการออกแบบที่ทรงคุณค่า

เป็นอีกครั้งที่เราถูกดึงดูดด้วยภาพ Death and Life ของคลิมท์ ที่ถูกใช้เป็นภาพโปรโมทพิพิธภัณฑ์ แต่สิ่งที่เราไปชมอย่างไม่ตั้งใจคืองานศิลปะของอีกอน ชีเลอ (Egon Schiele) ซึ่งเคยผ่านตางานของเขามาแล้ว ทั้งในวิชาประวัติศาสตร์ศิลป์ ซึ่งก็จำอะไรได้ไม่มาก แต่มักได้เห็นงานภาพนู้ดอันอื้อฉาว (ในยุคนั้น) ของเขาเสมอในสื่อต่างๆ แม้คนที่ไม่ได้สนใจศิลปะเป็นพิเศษ ก็อาจเคยได้เห็นภาพของเขามาบ้าง

7 ภาพวาดตัวเอง 1

ภาพวาดตัวเองของชีเลอ

คอลเลกชั่นใหญ่ที่สุดของชีเลออยู่ที่นั่น พอได้เห็นเราก็ทึ่งมาก เพราะงานชิ้นจริงของเขานั้นทรงพลังรุนแรงทั้งเรื่องราว จังหวะ และทีแปรงที่สะกดสายตา นอกจากภาพตัวเอง ภาพผู้หญิง ภาพนู้ด และภาพบุคคลจากฝีมือของเขา เราไม่เคยรู้มาก่อนว่าชีเลอเขียนภาพแลนด์สเคปไว้มากมายทีเดียว แต่ละภาพสัมผัสได้ไม่ยากว่าโลกที่เขาเติบโตมาเป็นแบบไหน

6 House_with_Shingles_Egon_Schiele_1915

ชีวิตแสนสั้นแต่เข้มข้น

อีกอน ชีเลอ เป็นศิลปินออสเตรียน เกิดเมื่อปี 1890 และเสียชีวิตตั้งแต่อายุน้อย ด้วยวัยเพียง 28 ปีเท่านั้น แต่พลังในการสร้างงานล้นเหลือ เพราะเขามีผลงาน (เพนท์ติ้ง) ถึง 245 ชิ้น ไม่นับดรออิ้งอีกมากมาย วัยเด็กชีเลอเป็นเด็กเงียบๆ เก็บตัว เรียนไม่เก่ง ยกเว้นวิชาศิลปะ พ่อของชีเลอเป็นพนักงานการรถไฟ เขาหลงใหลรถไฟจนวาดรูปรถไฟมากมาย แต่ด้วยความที่มีบุคลิกแปลกๆ และติดเล่นกับเพื่อนผู้หญิงรุ่นน้องคนหนึ่งมาก ทำให้พ่อเขาออกจะกังวลในความหมกมุ่นของเขา

Egon_Schiele_040

หลังจากที่พ่อเสียชีวิตตอนเขาอายุได้ 10 ขวบ ชีเลอก็ได้ไปอยู่ในอุปการะของลุง ผู้สังเกตเห็นพรสวรรค์ด้านการวาดภาพของหลานชาย ก็ส่งให้ชีเลอไปเรียนศิลปะกับครูที่สอนศิลปะตามแนวจารีต ซึ่งไม่ตอบโจทย์เด็กหนุ่ม เขาจึงลาออกจากโรงเรียน และเดินทางไปหากุสตาฟ คลิมท์ ศิลปินรุ่นพี่ที่มีสไตล์การวาดที่ชีเลอชื่นชม คลิมท์ขึ้นชื่อเรื่องความใจดี สนับสนุน และเป็นพี่เลี้ยงให้กับศิลปินรุ่นเยาว์มากมาย และเมื่อได้เห็นงานของชีเลอ คลิมท์ก็ยินดีเป็น Mentor ให้ และส่งเสริมชีเลอเป็นพิเศษ ทั้งชักชวนมาใช้นางแบบร่วมกัน แนะนำเขาให้กับคหบดีผู้ส่งเสริมงานศิลปะทั้งหลาย และดึงเข้ามาศึกษาอยู่ในกลุ่ม Vienna Secession ซึ่งเป็นกลุ่มศึกษาและพัฒนาแนวทางศิลปะแนวใหม่ ที่แยกตัวออกจากสถาบันศิลปะดั้งเดิมของเวียนนา จนกระทั่งชีเลอได้มีโอกาสแสดงนิทรรศการเดี่ยวครั้งแรก เมื่อมีอายุเพียง 20 ปี

klimt-1450284272

ซ้าย: ภาพ The Kiss, 1907-1908 ของคลิมท์, ขวา: ภาพ The Hermits, 1912 ของชีเลอ

สไตล์งานของชีเลอในช่วงแรกนั้นได้รับอิทธิพลจากคลิมท์อย่างมาก ทั้งการเลือกเนื้อหา และองค์ประกอบ ทั้งยังมีกลิ่นของอาร์ตนูโวเข้ามาด้วย จนนักวิจารณ์หลายคนนำงานมาเปรียบเทียบกัน ชีเลอรู้ตัวดี เขาพยายามพัฒนาสไตล์ของตัวเองจนฉีกแนวจากคลิมท์ ได้รับทั้งความชื่นชมสูง ขณะเดียวกันก็สร้างความขัดใจ อื้อฉาวในสังคม

งานของชีเลอมีฝีแปรงที่รุนแรงทรงพลัง เขาทำลายโครงสร้างเดิมของร่างกายมนุษย์ให้ยืดบิดเบี้ยว ฉีกขนบความงามดั้งเดิมออกจนสิ้น ท่าทางของนิ้วมือในงานของเขาถึงกับเป็นกรณีศึกษาเลยทีเดียว เขามักวาดภาพพอร์ตเทรตของตัวเอง และนิยมวาดภาพเปลือยอันโจ่งแจ้งของผู้หญิง โดยเฉพาะหญิงวัยเยาว์

เขามีความรักรุนแรงครั้งหนึ่ง กับ Wally ผู้หญิงที่เป็นทั้งนางแบบ และผู้ช่วยของคลิมท์ ผู้มีข่าวลือว่าเป็นชู้รักของคลิมท์เองนั่นแหละ ทั้งสองหนีตามกัน ออกจากกรอบที่ปิดกั้นของสังคมเวียนนา ไปใช้ชีวิตอยู่ในเมืองใกล้ๆ เชสกีครุมลอฟ แต่ก็ถูกชาวบ้านไล่ออกมา เพราะรับไม่ได้กับไลฟ์สไตล์ “หัวใหม่” ของทั้งสอง

Green Stockings

พวกเขาย้ายกลับมาออสเตรีย ก็สร้างความอื้อฉาวอีกด้วยการที่ชีเลอมักวาดรูปนู้ดของเด็กสาว จนลือกันว่าเขาพรากผู้เยาว์ คือไม่เพียงลวงมาเป็นนางแบบแต่ยังมีสัมพันธ์กับเด็กสาวอีกด้วย จนถูกชาวบ้านแจ้งตำรวจจับ และค้นพบภาพวาดเปลือยอล่างฉ่างของหญิงสาวมากมาย และถูกกล่าวหาว่าภาพเหล่านั้นคือภาพอนาจาร ไม่ใช่ศิลปะ

ชีเลอถูกยกฟ้องในคดีพรากผู้เยาว์ แต่มีความผิดในข้อหามีภาพโป๊จัดแสดงไว้ในที่ที่เยาวชนสามารถเข้าถึงได้ เขาติดคุกอยู่กว่า 20 วัน สามารถวาดภาพออกมาได้ถึง 12 ภาพ

1 Death and the Maiden ภาพซึ่งวาดด้วยใจพะวงถึงวอลลี่

Death and the Maiden ภาพซึ่งวาดด้วยใจพะวงถึงวอลลี่

หลังจากนั้นเขาก็เลือกแต่งงานกับอีดิธ สุภาพสตรีชนชั้นกลางเพื่อสร้างการยอมรับทางสังคม ทั้งที่ยังรักวอลลี่อยู่ แต่ด้วยเหตุผลนั้นแหละทำให้วอลลี่จากเขาไป ไม่พบหน้าอีกเลย นั่นก็เป็นที่มาของภาพวาด Death and the Maiden อันโด่งดัง จนได้รับการยกย่องว่าเป็นภาพที่ดีที่สุดของชีเลอ และยังเป็นชื่อของภาพยนตร์อัตชีวประวัติของชีเลอในปี 2016 ด้วย

สงครามโลกครั้งที่ 1 พัดพาชีเลอเข้าไปเป็นทหาร แต่โชคดีที่หัวหน้าหน่วยเห็นว่าเขาเป็นศิลปิน จึงมอบหมายงานเสมียน และให้เขาบันทึกภาพวาดสงครามและเชลยศึกชาวรัสเซียด้วย ทำให้แม้แต่ยามสงครามเขาก็สร้างผลงานได้มากมาย และมีงานแสดงนิทรรศการในระหว่างนั้นด้วย

หลังสงครามจบ ชีเลอเหมือนได้สะสมประสบการณ์เต็มที่ ฝีมือของเขาเบ่งบาน มีนิทรรศการที่ประสบความสำเร็จทั้งในซูริค ปราก และเดรสเดน ได้รับชื่อเสียงมากมาย แต่เพียงในช่วงเวลาสั้นๆ เพราะต่อมาเกิดโรคระบาดไข้หวัดสเปนในปี 1918 ซึ่งคร่าชีวิตคนไปทั่วยุโรปถึง 20 ล้านคน ชีเลอและภรรยาของเขาก็เป็นหนึ่งในนั้น ชีเลอเสียชีวิตหลังภรรยาเพียง 3 วัน และใน 3 วันนั้น เขาก็วาดภาพอีดิธได้ถึง 3 ภาพ

จากคลิมท์ถึงชีเลอ

วันต่อมา เราได้ไปที่ Belvedere Museum ซึ่งที่นี่ห้องจัดแสดงงานของชีเลอ ถูกวางลำดับไว้ต่อจากงานของคลิมท์ สำหรับเราแล้ว นี่เป็นการเล่าเรื่องความสัมพันธ์ของศิลปินได้อย่างดี หลายคนอาจหมายใจไว้ที่งาน The Kiss ของคลิมท์เท่านั้น แต่การจัดลำดับห้องจัดแสดงได้คลี่คลายให้เห็นอิทธิพลที่ศิลปินมีต่อกัน และงานช่วงแรกของชีเลอก็เหมือนกับงานของคลิมท์ราวกับวาดตามกันมา แต่สิ่งที่ลอกเลียนไม่ได้คือจิตวิญญาณที่อยู่ในนั้น อย่างภาพ “มารดา” ที่คลิมท์และชีเลอวาดโดยสื่อถึงพระแม่มารี ชีเลอกลับแสดงความมืดหม่นลึกซึ้งภายในออกมาจนราวกับเล่าคนละเรื่อง

2 Die Familie ภาพครอบครัวที่เขาวาดไม่เสร็จ ก่อนเสียชีวิตในปี 1918

Die Familie ภาพครอบครัวที่เขาวาดไม่เสร็จ ก่อนเสียชีวิตในปี 1918

ทุกภาพของชีเลอนั้นแสดงสภาวะจิตบางอย่างที่ชวนให้เราสงสัยว่ามีอะไรในหัวของเขา ไม่เพียงแค่ความบิดเบี้ยวของร่างกายที่อยากจะหลุดออกนอกกรอบเข้มงวดของสังคมแล้ว ในหลายภาพเปลือยที่แสดงถึงสัมพันธ์อันลึกซึ้งระหว่างหญิงชาย หรือคราใดที่มีชายหญิงที่มีความเป็นคู่รักร่วมเฟรมกันแล้ว ไม่มีครั้งใดเลยที่พวกเขาสบตากัน ราวกับว่าศิลปินนั้นมีปัญหากับการแสดงออกถึงความรัก และเขาน่าจะมีวิธีแสดงความสัมพันธ์ที่แปลกอยู่ไม่น้อย แนบชิดแต่เหินห่าง ยิ่งงานของเขา “แสดงออก” มากเท่าไหร่ เราก็ยิ่งเห็นการปิดกั้นตัวตนอยู่ในนั้น ความพลุ่งพล่านในงานของเขาที่ฝังลึกอยู่ในเนื้อสี ทีแปรง อยู่บนผืนผ้าใบ ต่อให้เวลาผ่านไปเข้าสู่ร้อยปีแล้ว มันก็ยังส่งผลเป็นความประทับใจที่รุนแรงต่อผู้ชมอยู่ดี โดยเฉพาะผู้เสพงานที่กินความทุกข์เศร้าเป็นอาหาร

งานศิลปะของศิลปินผู้ทำงานรับใช้หลุมมืดในใจของตัวเองอย่างไม่เคยหยุดพัก กระทบใจผู้ชมได้ง่ายๆ เพราะเราต่างก็มีหลุมมืดของตัวเองอยู่ทุกคน

4

กลายเป็นว่า The Kiss งานอันสดุดีความรักที่คลิมท์มีต่อศิลปะอันแสนเจิดจรัส กลับเป็นผู้นำพาให้เรามาตกหลุมรักงานสีทึมกับลายเส้นรุนแรงซึ่งราวกับสดุดีอารมณ์รักรุนแรงและความเจ็บปวดในชีวิตของชีเลอไปเสียได้ ถ้ามีโอกาสได้ไปเวียนนาอีก ก็เป็นเพราะชีเลอลากไป แต่อาจจะไปตกหลุมงานของใครอีก ก็ต้องแล้วแต่ภาวะใจในช่วงนั้น