กว่าจะเป็น ‘พระโกศจันทน์’ ในรัชกาลที่ 9

กว่าจะเป็น ‘พระโกศจันทน์’ ในรัชกาลที่ 9

13 ต.ค. 2559 วันที่ชาวไทยทั้งประเทศโศกเศร้าเสียใจมากที่สุด แต่ผู้เกี่ยวข้องในการดำเนินงานพระบรมราชพิธีพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ต้อมข่มความรู้สึกเหล่านั้น

ใช้ดวงใจอันเต็มเปี่ยมไปด้วยความอาลัย บรรจงถวายงานครั้งสุดท้ายอย่างเต็มกำลังความสามารถเพื่อกษัตริย์อันเป็นที่รักยิ่ง

พระบรมโกศ หรือพระโกศ เป็นภาชนะเครื่องสูงสำหรับบรรจุพระบรมศพของพระมหากษัตริย์ หรือพระศพของพระบรมวงศ์ รวมถึงผู้มีบรรดาศักดิ์สูง

การใช้โกศบรรจุพระศพ เป็นธรรมเนียมที่ทำกันมายาวนาน เริ่มมีหลักฐานตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ลักษณะอันโดดเด่นของพระโกศ คือรูปทรงกระบอก ปากผาย ก้นสอบเล็กน้อย มียอดแหลม ฝาทรงกลม

ในงานพระราชพิธีในหลวงรัชกาลที่ 9 จะใช้รูปแบบของ พระโกศทองใหญ่ อันเป็นพระโกศที่มีลำดับชั้นยศสูงสุด สำหรับพระเจ้าแผ่นดิน

ตั้งแต่อดีตพระบรมโกศ ประดิษฐ์สร้างด้วยความพิถีพิถัน โดยใช้ ไม้จันทน์หอม พันธุ์ไม้ที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นไม้พระราชทาน เพื่อปลูกเป็นมงคลในจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศไทย

จุดเด่นของไม้จันทน์หอม คือ เป็นไม้เนื้อแข็งขนาดใหญ่ โตช้า จึงมีอายุยืนหลายร้อยปี ความสูง 10-20 เมตร และที่พิเศษคือเมื่อยืนต้นตาย แก่นของต้นจันทน์หอมจะมีกลิ่นอ่อนๆ ยิ่งโดนความร้อนยิ่งส่งกลิ่นหอม ด้วยเหตุนี้จึงถูกนำมาใช้ในงานพระราชพิธีพระบรมศพของพระมหากษัตริย์ และพระบรมวงศ์ศานุวงศ์ในการสร้างพระโกศ ส่วนประกอบสำคัญของพระเมรุมาศ

กาญจนพันธ์ คำแหง หัวหน้าอุทยานแห่งชาติกุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ผู้รับหน้าที่ในการคัดเลือก และจัดเตรียมไม้จันทน์เพื่อใช้จัดสร้างพระโกศจันทน์ทรงพระบรมศพเหนือพระจิตกาธาน บนพระเมรุมาศในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เล่าถึงกระบวนการตั้งแต่เริ่มคัดเลือกไม้จันทน์หอม ซึ่งต้องเลือกต้นที่ยืนต้นตายตามธรรมชาติ มีการวัดขนาด ถ่ายรูป และทำแผนที่แต่ละจุดไว้อย่างละเอียด หลังจากนั้นทางสำนักพระราชวังได้เข้ามาคัดเลือกไม้จันทน์หอม และต่อมาจัดให้มีพิธีบวงสรวง และตัดไม้จันทน์หอมตามขั้นตอนประเพณี

"ครั้งหนึ่งในชีวิตที่เราเกิดมาในรัชกาลที่ 9 อย่างน้อยได้รับใช้อยู่เบื้องหลัง ก็ภูมิใจที่ได้ทำงานให้พระองค์ท่าน" ทองสุข แดงโชติ เจ้าหน้าที่บริหารงานทั่วไป อุทยานแห่งชาติกุยบุรี เล่าถึงความรู้สึกที่ได้มีส่วนร่วมคัดเลือกไม้จันทน์หอม ในงานพระราชพิธีครั้งนี้

การสำรวจต้องดูอย่างละเอียดจากโคนถึงยอด ว่ามีปริมาตรไม้มากน้อยเท่าใด โดยใช้ค้อนหรือขวานเคาะดูว่าเนื้อไม้มีลักษณะโพรง หรือตัน และกิ่งสมบูรณ์หรือไม่ ถ้าสมบูรณ์หมายความว่า เนื้อไม้ยังตัน นำไปใช้งานได้ แต่ถ้าโพรง นั่นหมายความว่า น้ำฝนเข้าไปในกิ่งที่โพรงจะทำให้ ไม้ผุ กลวงไม่เหมาะแก่การนำไปใช้

สำนักช่างสิบหมู่ รับไม้ต่อจากอุทยานแห่งชาติกุยบุรี เพื่อนำไม้จันทน์ที่แปรรูปสมบูรณ์แล้วมาประดิษฐ์เป็นพระโกศ และองค์ประกอบที่สำคัญต่างๆ โดยแบ่งเป็นไม้แผ่น จำนวน 1,415 แผ่น และเป็นไม้ท่อนทั้งสิ้น 46 ท่อน

การออกแบบลายประกอบพระโกศจันทน์ เป็นงานประณีตศิลป์ชั้นสูง ต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญเป็นพิเศษ อย่าง พิจิตร นิ่มงาม นายช่างศิลปกรรมอาวุโส สำนักช่างสิบหมู่ หนึ่งในคณะช่างฉลุลาย ผู้ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการออกแบบฐานรองพระโกศจันทน์ เป็นผู้มีประสบการณ์จากการสร้างงานพระโกศจันทน์ของเจ้านายหลายพระองค์ มาในครั้งนี้ถือเป็นอีกครั้งหนึ่งที่ตั้งใจทำมากที่สุดในชีวิต

การสร้างพระโกศจันทน์ เริ่มจากการขยายแบบและนำเหล็กเส้นมาผูกเป็นโครง แล้วปิดโครงทั้งหมดด้วยตาข่ายลวด  ส่วนไม้จันทน์นำไปตัดเป็นท่อนๆ และซอยเป็นแผ่น จนได้ขนาดตามที่ต้องการ จากนั้นนำไปฉลุลายซ้อนไม้เป็นลวดลายต่างๆ ที่สื่อความหมายตามศิลปะไทยอันลึกซึ้ง และนำลายไม้จันทน์ที่ได้มาผูกเข้ากับตะแกรงลวดโดยรอบ จัดวางโดยเน้นความสวยงามเป็นหลัก ให้ดูมีการเคลื่อนไหว และน้ำหนัก สุดท้ายนำแผ่นไม้จันทน์แต่ละแผ่นที่ฉลุอย่างงดงามบรรจงประกอบขึ้นจนครบถ้วนตามแบบสมบูรณ์

ลายละเอียดของ หีบพระบรมศพจันทน์ นั้นจะใช้ลวดลายประกอบ 24 รูปแบบ ประดับลายซ้อนไม้ประมาณ 30,000 ชิ้น ใช้ลายเครือเถาครุฑ จำนวน 132 องค์ในการประดับตกแต่ง

ครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกที่ใช้ลายเครือเถาครุฑในการประดับจำนวนมาก ก็เพื่อให้หีบพระบรมศพออกมาสมพระเกียรติมากที่สุด

ส่วนพระโกศจันทน์ ใช้ลวดลาย 46 รูปแบบ ประดับลายซ้อนไม้ราว 10,000 ชิ้น ใช้ลายเทพพนมเป็นลายหลัก ทั้งหมด 64 องค์ เพื่อเป็นสัญลักษณ์ในการอัญเชิญพระโกศขึ้นเทินบนหีบพระบรมศพจันทน์ เปรียบเสมือนพระนารายณ์อวตารลงมา โดยใช้ครุฑเป็นพาหนะในการส่งเสด็จ

ไม้จันทน์ส่วนหนึ่ง ยังนำมาแปรรูปและสร้างสรรค์เป็น ท่อนฟืนไม้จันทน์ เพื่อใช้สำหรับเป็นเชื้อเพลิงในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ โดยจัดวางซ้อนกันบนพระจิตกาธานใต้พระโกศจันทน์ มีทั้งสิ้น 24 ท่อน ขนาดกว้าง 2 นิ้ว ยาว 60 เซนติเมตร ใช้ศิลปะลายรดน้ำ ลวดลายทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ ถือเป็นงานประณีตศิลป์ชั้นสูง โดยกระบวนการเริ่มจากวาดลวดลายหรือภาพรวมไปถึงภาพประกอบลายต่าง ๆ ที่ปิดด้วยทองคำเปลวบนพื้นรัก จนถึงขั้นตอน

สุดท้าย คือการเอาน้ำรดจนเกิดเป็นลวดลายงดงามเป็นเอกลักษณ์

เมื่อไม้จันทน์หอมสัมผัสกับเปลวไฟ กลิ่นหอมอบอวนย่อมฟุ้งขจรขจายไม่เสื่อมคลาย เสมือนดั่งพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ที่จะยังคงสถิตย์และตราตรึงอยู่ในดวงใจของพสกนิกรไทยตราบนานเท่านาน