'องค์กรอิสระ'ต้องยื่นแสดงบ/ชทรัพย์สิน หนี้สิน

'องค์กรอิสระ'ต้องยื่นแสดงบ/ชทรัพย์สิน หนี้สิน

กมธ.ยกร่างฯเพิ่ม"องค์กรอิสระ"ต้องยื่น-แสดงบัญชีทรัพย์สิน หนี้สิน ห้ามนอมินี ถือทรัพย์สินแทน ปกปิดมีโทษ

พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช โฆษกคณะกรรมาธิการ(กมธ.)ยกร่างรัฐธรรมนูญ แถลงความคืบหน้าในการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ รายมาตราที่เข้าสู่สัปดาห์ที่ 3 ว่า กมธ.ยกร่างฯพิจารณาเสร็จแล้ว 120 มาตรา ขณะนี้เข้าสู่การพิจารณา หมวด 2 การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ซึ่งคาดว่าจะพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 28-29 ม.ค.นี้ ซึ่งประเด็นที่สำคัญคือ มาตรา (3/2/1)2 ว่าด้วย การกำหนดตำแหน่งผู้ดำรงตำแหน่งที่มีหน้าที่ยื่นบัญชีแสดงรายทรัพย์สินและหนี้สิน รวมทั้งสำเนาแบบแสดงรายการภาษีเงินได้ พร้อมทั้งหลักฐานที่เกี่ยวข้องต่อ ป.ป.ช. หรือองค์กรตรวจสอบอื่นตามที่กฎหมายบัญญัติ จากเดิมที่แบ่งเป็น 7 กลุ่มได้แก่ 1.นายกรัฐมนตรี 2.รัฐมนตรี 3.ส.ส. 4.ส.ว. 5.ข้าราชการการเมืองอื่นและผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอื่น 6. ผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่น 7. เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐตามกฎหมายบัญญัติ โดยกมธ.ยกร่างฯได้เพิ่มขึ้นมาอีก 1 กลุ่ม คือกรรมการในองค์กรตามรัฐธรรมนูญที่ใช้อำนาจตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ อาทิ กกต. ป.ป.ช. ผู้ตรวจเงินแผ่นดิน กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เป็นต้น

พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าวต่อว่า ในมาตรา (3/2/1)2 วรรคสอง ยังกำหนดเอกสารที่ต้องยื่นได้แก่ บัญชีทรัพย์และหนี้สิน สำเนาแบบแสดงรายการภาษีเงินได้ พร้อมทั้งหลักฐานที่เกี่ยวข้องของคู่สมรส และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ซึ่งกมธ.ยกร่างฯได้ตัดถ้อยคำ “ผู้ซึ่งอยู่กินด้วยกันฉันท์สามีภริยา”ออก แต่ได้มีการเพิ่มเนื้อหาต่อท้ายในวรรคที่สองว่า “รวมทั้งผู้ซึ่งบุคคลตามวรรคหนึ่งทั้ง 8กลุ่ม ได้มอบหมายให้ครอบครองหรือดูแลทรัพย์สินของตนไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม” ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นผู้ซึ่งอยู่กินกันฉันท์สามีภรรยาทางพฤตินัยแต่ไม่ได้จดทะเบียนสมรส รวมทั้งบุคคลอื่นๆที่ถือครองทรัพย์สินของบุคคลตามวรรคหนึ่งก็ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินหนี้สินด้วย หากมีเจตนาปกปิดก็จะมีความผิด

พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าวอีกว่า บัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน และเอกสารประกอบของนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี กรรมการในองค์กรตามรัฐธรรมนูญที่ใช้อำนาจในการตรวจสอบอำนาจรัฐ ส.ส. ส.ว.ให้เปิดเผยให้สาธารณชนทราบโดยเร็วแต่ต้องไม่เกิน 30 วัน นับแต่วันครบกำหนดที่ต้องยื่นบัญชีดังกล่าว ส่วนบัญชีของผู้ดำรงตำแหน่งอื่นจะเปิดเผยได้ต่อเมื่อการเปิดเผยดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาพิพากษาคดี หรือการวินิจฉัยชี้ขาดและได้รับการร้องขอจากศาลหรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหรือคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินหรือตามที่กฎหมายบัญญัติ

พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าวต่อว่า สำหรับการพิจารณาในส่วนที่ 2 การกระทำที่เป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ ในมาตรา (3/2/2)1 กำหนดให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเจ้าหน้าที่ของรัฐจะต้องไม่กระทำการที่เป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ส่วนตัวและประโยชน์ส่วนรวม โดยอย่างน้อยต้องไม่ดำเนินการดังต่อไปนี้ (1)ไม่กำหนดนโยบายหรือเสนอกฎหมายหรือกฎซึ่งเอื้อประโยชน์ต่อกิจการที่ตน คู่สมรส บุตร หรือบิดา มารดา มีส่วนได้ส่วนเสียอยู่ (2)ไม่นำความสัมพันธ์ส่วนตัวที่ตนมีต่อบุคคลอื่น มาประกอบการใช้ดุลยพินิจในการปฎิบัติหน้าที่ให้เป็นคุณหรือเป็นโทษแก่บุคคลนั้น (3)ไม่ใช่เวลาราชการหรือหน่วยงาน เงิน ทรัพย์สิน บุคคลากร บริการ สิ่งอำนวยความสะดวก หรือข้อมูลภายในของราชการหรือหน่วยงานไปเพื่อประโยชน์ส่วนตัวของตนหรือผู้อื่น เว้นแต่ได้รับอนุญาตโดยกฎหมายหรือกฎ (4) ไม่กระทำการใด ดำรงตำแหน่งใด หรือปฎิบัติการใด ในฐานะส่วนตัว ซึ่งก่อให้เกิดความเคลือบแคลงว่าจะขัดต่อประโยชน์ส่วนรวมที่อยู่ในความรับผิดชอบของหน้าที่ หรือเป็นที่เสื่อมเสียแก่ตำแหน่งหน้าที่

โฆษก กมธ.ยกร่างฯ กล่าวอีกว่า สำหรับมาตรา (3/2/2)2 นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีต้อง (1)ไม่ดำรงตำแหน่งใดในห้างหุ้นส่วน บริษัท หรือองค์การที่ดำเนินธุรกิจโดยมุ่งหาผลกำไร หรือรายได้มาแบ่งปันกัน หรือเป็นลูกจ้างของบุคคลใด (2)ไม่ดำรงตำแหน่งหรือหน้าที่ใดในหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือตำแหน่งสมาชิกสภาท้องถิ่น ผู้บริหารท้องถิ่น (3) ไม่รับหรือแทรกแซงหรือก้าวก่ายการเข้ารับสัมปทานจากรัฐ หน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือเข้าเป็นคู่สัญญากับรัฐ หน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจ อันมีลักษณะเป็นการผูกขาดตัดตอน หรือเป็นหุ้นส่วน หรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วน หรือบริษัทที่รับสัมปทาน หรือเข้าเป็นคู่สัญญาในลักษณะดังกล่าวไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม (4)ไม่รับเงินหรือผลประโยชน์ใด ๆ จากหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจเป็นพิเศษ นอกเหนือไปจากที่หน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ ปฎิบัติต่อบุคคลอื่น ๆ ในธุรกิจการงานตามปกติ (5)ไม่กระทำการอันเป็นการต้องห้ามตามมาตรา (1/2/2)20 วรรคเจ็ด ที่ห้ามผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเข้าไปถือหุ้นในสื่อ และเป็นเจ้าของสื่อทั้งทางตรงทางอ้อม

นอกจากนี้ในวรรคสาม ให้นำความใน(3)(4)(5)มาบังคับใช้กับคู่สมรสและบุตร ซึ่งแก้ไขจากคำว่า“บุตรซึ่งยังไม่บรรลุนิติภาวะ”มาเป็น“บุตรของนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีและบุคคลอื่น”ซึ่งมีการตัดถ้อยคำ“มิใช่คู่สมรสและบุตรของนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีนั้น