‘เขียน’ เปลี่ยนโลก

‘เขียน’ เปลี่ยนโลก

บนหน้ากระดาษไร้เส้น คือสนามเด็กเล่น คือโลกกว้าง และอาจเป็นสังคมการอ่านที่พยายามสร้างกันมานาน

คนไทยอยู่กับคำสบประมาททำนองว่า “ไม่อ่านหนังสือ” มาช้านาน และดูเหมือนจะหลุดพ้นจากกับดักนี้ไม่ได้สักทีทั้งที่มีหลายคนพยายามหาทางแก้ไข

ก่อนความหวังจะสิ้นสูญ รอยขีดเขียนเป็นตัวอักษร ถ้อยคำ ภาพวาด สีสัน คือจินตนาการที่จุดประกายให้ ‘สังคมการอ่าน’ มีโอกาสเป็นไปได้

 

  • วิธีสมุดบันทึก

แม้ 5-6 ปีก่อนจะไม่ใช่ยุคตกต่ำที่สุดของการอ่านในประเทศไทย แต่เป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่ มกุฏ อรฤดี บรรณาธิการสำนักพิมพ์ผีเสื้อและศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ ประจำปี 2555 ทดลองยื่นสมุดเปล่าให้เด็กๆ ด้วยความหวังเพียงว่าอาจจะทำให้พวกเขาอ่านหนังสือมากขึ้น เพราะไม่น้อยกว่า 70 ปีที่ทุกหน่วยงาน ทุกองค์กร หรือแทบจะทุกคน พยายามหาวิธีทำให้คนไทยอ่านหนังสือมาก ในทางกลับกันภาพลักษณ์เรื่อง ‘ไม่อ่าน’ กลับกระจ่างขึ้นทุกเมื่อเชื่อวัน จนกระทั่งปี 2538 เขาตระหนักว่าที่พยายามกันมาน่าจะมีอะไรผิดพลาด จึงเปลี่ยนมาตีพิมพ์สมุดเปล่าขายมากถึง 40,000 เล่ม ปรากฏว่าขายหมด เป็นอย่างที่เขาคาดการณ์

“คนไทยเป็นนักเล่าเรื่อง ถ้าเล่าด้วยปากเรียกว่ามุขปาฐะ นอกจากเล่าด้วยปากยังมีวิธีเล่าอย่างอื่น การเขียนก็เป็นวิธีหนึ่ง เราจึงพยายามคิดเรื่อยมาว่าจะทำอย่างไรกับสมุด”

จนกระทั่งปี 2557 เขาประกาศมอบสมุดให้เด็กๆ จำนวนกว่า 1,100 คน พร้อมกับแนบหนังสือไปให้ด้วย ผลคือเด็กที่ยังเขียนไม่ได้ก็เริ่มขีดเขียน พอเริ่มเขียนได้ก็เริ่มอ่าน พอเขียนมากก็อยากอ่านมาก เขาอธิบายว่าเพราะความรู้ที่เด็ก 5-6 ขวบมีค่อนข้างจำกัด เขียนไปเขียนมาก็จนแต้ม ต้องหาความรู้เพิ่มเติม ทั้งจากพ่อแม่และสุดท้ายลงเอยที่การอ่านหนังสือ เขาเรียกสิ่งนี้ว่า ‘วิธีสมุดบันทึก’

“ผมยกตัวอย่างตินติน (ด.ญ.ติณณา แดนเขตต์) มาพบเราและได้สมุดไปเมื่ออายุ 5 ขวบครึ่ง ยังอ่านไม่ออกเขียนไม่เป็น แต่พยายามวาดรูป ต่อมาพอเริ่มเขียนได้ก็เริ่มเขียนเรื่อง เขียนไปสักพักหนึ่งแกเข้าห้องสมุดแล้ว ในปีแรกแกอ่านหนังสือ 75 เล่ม นี่คือสิ่งที่เราเห็นชัดเจนว่าถ้าเอาสมุดไปล่อให้เด็กเขียน วันหนึ่งเด็กจะอ่านหนังสืออย่างเป็นบ้าเป็นหลัง”

การเขียนบันทึกในสมุดอาจทำให้หลายคนนึกถึงการเขียน ‘ไดอารี่’ ถึงวิธีการจะเหมือนกัน แต่แก่นสารนั้นแตกต่างกัน บรรณาธิการสำนักพิมพ์ผีเสื้ออธิบายว่าในไดอารี่มักเป็นเรื่องทำนองว่า เราทำอะไร เกิดอะไรขึ้นบ้าง เป็นการบันทึกเหตุการณ์ปนความคิดอยู่บ้าง ทว่าวิธีสมุดบันทึกคือเขียนอะไรก็ได้ที่ ‘คิด’ หรืออะไรก็ตามที่ ‘อยากเขียน’ อย่างไร้ขอบเขต

“เราไม่อาจบอกได้ว่าควรเขียนอะไร เขียนอะไรก็ได้ที่เธออยากเขียน ที่อยู่ข้างในตัวเธอ เธอรู้สึกว่าวันนี้อยากเขียนอะไรก็เขียนมา นั่นแหละเราจึงจะได้เห็นว่าเด็กคิดอะไร เด็กมีอะไรอยากจะบอก ทุกวันที่เด็กตื่นขึ้นมาหรือก่อนนอนเขาย่อมรู้ว่าเมื่อวานเขาเขียนอะไร แล้ววันนี้เขาจะเขียนอะไรต่อ มันอาจไม่เกี่ยวกันเลยก็ได้ ข้อสำคัญคือวิธีสมุดบันทึกเราจะไม่บอกว่าเขียนอะไร เขียนอย่างไร ทุกอย่างคือสิทธิของเขาหมด”

หมายความว่าทฤษฎีต่างๆ ที่ใครต่อมิใครสร้างขึ้น นำมาใช้กับวิธีสมุดบันทึกไม่ได้ เพราะทฤษฎีต่างๆ เปรียบเหมือน ‘ฝา’ เมื่อนำมาครอบทับ ตัวตนจะไม่มีโอกาสสำแดง

อีกสิ่งที่อาจจะไม่ถึงขนาดปิดกั้น แต่รบกวนจินตนาการอย่างร้ายกาจ คือ ‘เส้นบรรทัด’ ในสมุดทุกเล่มของวิธีสมุดบันทึกจึงเป็นกระดาษเปล่าแบบไม่มีเส้นบรรทัด มกุฏให้เหตุผลว่าเมื่อมีเส้นเราจะรู้สึกทันทีว่าต้องเขียนบนเส้น เด็กก็รู้สึกเหมือนกัน หน้าที่ของเส้นบรรทัดที่เป็นมาร่วมร้อยปียังเป็นเช่นเดิม แต่กับเด็กที่ยังเขียนหนังสือไม่เป็นเขาอาจอยากเขียนอย่างอื่น พื้นที่ว่างคือโลกกว้างอันเสรี

“ข้อสำคัญคือเส้นบรรทัดทำลายทุกสิ่งทุกอย่างที่ไม่ใช่ตัวหนังสือ เช่น ทันทีที่เด็กวาดรูป รูปจะถูกทำลายด้วยเส้นหมดเลย ไม่เป็นอิสระเสรีที่เขาจะทำอะไรก็ได้ นี่คือเหตุผลที่ทำให้สมุดต้องไม่มีเส้น เด็กจะไม่ถูกบังคับด้วยอะไรเลย”

 

  • ยิ่งเขียนยิ่งค้นพบ

ถึงหัวใจของวิธีสมุดบันทึกจะเป็นเรื่องการอ่าน ทว่าเพียงชั่วขณะหนึ่งที่โครงการดำเนินไป เด็กหลายคนกลับฉายแววมากกว่าแค่เป็นนักอ่าน ตัวอย่างหนึ่งคือ ด.ญ.ซายูริ ซากาโมโต้ ที่บางคนอาจคุ้นชื่อนี้อยู่บ้างเพราะมีผลงานหนังสือ ‘บันทึกส่วนตัวซายูริ’ ตีพิมพ์ไปแล้วเมื่อปี 2558 แต่ไม่แค่นั้นเพราะยังมี ตินติน, ในใจ (ด.ญ.ในใจ เม็ทซกะ) และคนต่อไปๆ จนบัดนี้มีนับสิบคนแล้วที่มีผลงานพร้อมตีพิมพ์

“ท้ายที่สุดเราค้นพบว่าวิธีสมุดบันทึกไม่เพียงแต่ทำให้เด็กสนใจและชอบอ่านหนังสือ แต่ยังเป็นเครื่องมือค้นหาอัจฉริยภาพของเด็กด้วย เพราะเด็กที่ปรากฏความสามารถให้เราเห็นเขาไม่ได้เก่งเรื่องการเขียนอย่างเดียว ไม่ได้เก่งเรื่องวาดรูปอย่างเดียว มีคนหนึ่งเก่งเรื่องพับกระดาษ เพราะเขาก็เขียนเรื่องพับกระดาษของเขา เราจึงบอกให้เขาลองทำดูสิ ไม่ใช่เอาของญี่ปุ่นมาเลียนแบบ เอาแบบไทยสิ เขาก็เริ่มสร้างโมเดลขึ้นมา นั่นแสดงว่าเด็กคนนี้ที่อาจจะไม่ชอบอ่านมากเท่าคนอื่น และไม่ชอบเขียนบันทึก แต่อย่างน้อยที่สุด เขาค้นคว้าวิธีที่เขาจะเก่งเรื่องการพับกระดาษ”

อีกคนที่มกุฏเล่าให้ฟังคือเด็กชายที่จะมาทุบสถิติ ‘กวีอายุน้อยที่สุดของประเทศไทย’ เพราะอีกไม่นานเด็กคนนี้จะมีผลงานกวีนิพนธ์ตีพิมพ์ด้วยอายุเพียง 10 ขวบ แม้แต่ศรีปราชญ์ที่ว่าโด่งดังครั้งอายุน้อยก็ยังไม่เท่า

“ตอนที่เจอกันเขาอายุ 7 ขวบ เขียนบันทึกไปจนกระทั่ง 9 ขวบ ปรากฏความเป็นกวี ปีนี้อายุ 10 ขวบ จะมีกวีนิพนธ์รวมเล่ม 1-2 เล่ม ตอนที่เขาบันทึกเขาไม่ได้บันทึกเหมือนคนอื่นๆ ในสมองเขามีเสียงของกวีนิพนธ์ เขาก็เลยเขียนเป็นฉันทลักษณ์ ที่ปรากฏอันแรกก็คือกลอนง่ายๆ ต่อมาก็เริ่มยากขึ้นๆ วิธีคิดวิธีมองปัญหา วิธีเล่าเรื่องต่างๆ เปลี่ยนไป”

สมุดหนึ่งเล่มกับอุปกรณ์ไม่ว่าจะปากกา ดินสอ หรือแท่งสี บวกกับจินตนาการ วิธีสมุดบันทึกจึงเป็นเสมือนการหยิบยื่นเครื่องมือที่ไม่ถูกกำหนด สิ่งที่เด็กเป็น เด็กคิด จะค่อยๆ ปรากฏบนสมุดนั้น อย่างความสามารถด้านศิลปะก็ฉายแววได้ด้วยสมุดบันทึกเช่นกัน

ด.ช.ยูโตะ ฟุคะยะ วัย 10 ขวบ ได้รับสมุดบันทึกเช่นเดียวกับเด็กคนอื่น แต่สมุดเล่มนั้นไม่ได้พาเขาไปสู่เส้นทางนักอ่านหรือนักเขียน เขาแสดงฝีมือด้านการวาดภาพจนเข้าตาบรรณาธิการสำนักพิมพ์ผีเสื้อ ปัจจุบันยูโตะกำลังฝึกปรือเพื่อเป็นนักวาดภาพประกอบที่จะมีผลงานตีพิมพ์ในไม่ช้า

และที่เกินคาดฝันคือวิธีสมุดบันทึกเคยช่วยชีวิตคนมานักต่อนัก...

“เราเคยช่วยชีวิตเด็กมาแล้วด้วยสมุดบันทึก เราให้เขียนสมุดบันทึก วันหนึ่งเขามาส่งสมุดบันทึกอย่างดีเลย ในนั้นเขาบอกว่าจะมีชีวิตช่วงสุดท้าย เราก็เรียกมาถามว่าเกิดอะไรขึ้น เขาบอกว่าหนูจะฆ่าตัวตาย คือปกติเขาเล่าเรื่องอื่นๆ แต่นี่เหมือนเขียนเรื่องสั้นเรื่องหนึ่ง ฉากผู้หญิงเดินลงไปในทะเล มันงามมากนะ แต่บังเอิญเรารู้ว่าอารมณ์แบบนี้มันไม่ใช่อารมณ์ปกติ”

หลังจากมกุฏฟังปัญหาของนิสิตคนนั้น จึงบอกไปว่า “เรียนให้จบก่อน แล้วจะฆ่าตัวตายครูก็ไม่ว่า” ตกปากรับคำกันเสร็จสรรพพร้อมคำแนะนำให้ไปฝึกงานกับโรงพิมพ์เพื่อเลี่ยงที่จะเจอปัญหาทางบ้าน ปรากฏว่านิสิตคนนั้นได้เห็นคุณค่าชีวิต การทำงานช่วยฟื้นฟูจิตใจเขาได้ จนกระทั่งกลับมาเรียนได้ดีขึ้น ประคับประคองตัวเองจนเรียนจบ

“หนูไม่อยากฆ่าตัวตายแล้ว” นิสิตบอกครูของเขาในวันจบการศึกษา

 

  • วิธีเก่า แนวคิดใหม่

สมุดบันทึกหรือการจดบันทึกไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ที่ผ่านมายังไม่เคยมีใครทดลองกับเด็กจำนวนมาก ไม่ได้ติดตามผล อย่างมากคือสั่งให้เด็กเขียนบันทึกประจำวันด้วยรูปแบบที่ครูกำหนดตั้งแต่ต้นจนจบ ร้ายไปกว่านั้นยังถูกตีค่าด้วยการให้คะแนนหรือการสอบ ซึ่งผิดไปจากวัตถุประสงค์ของวิธีสมุดบันทึกที่ต้องการให้ความคิดของเด็กออกมาอยู่บนกระดาษ

แม้ไม่ใหม่ แต่กลับสร้างแรงกระเพื่อมไปไกลถึงประเทศที่ได้ชื่อว่า ‘วัฒนธรรมการอ่านแข็งแรง’ อย่างฝรั่งเศส

ตอนที่ วิริญจน์ หุตะสังกาศ นักศึกษาปริญญาเอกได้ไปศึกษาด้านวรรณคดี ที่มหาวิทยาลัยตูร์ (Tours) ในประเทศฝรั่งเศส เมื่อปี 2559 อาจารย์ประจำวิชาชาวฝรั่งเศสถามว่ามีอะไรที่ไทยมีแต่ฝรั่งเศสไม่มี เธอจึงค้นคว้าจนเจอเรื่อง ‘วิธีสมุดบันทึก’

“พอเราไปเล่าให้อาจารย์ที่นู่นฟังว่าไทยมีหนังสือเขียนโดยนักเขียนเด็กแล้วเกิดจากสมุดบันทึก อาจารย์ก็สนใจแล้วเล่าให้อาจารย์ท่านอื่นๆ จากหลายประเทศฟัง

ฝรั่งเศสเคยมีสำนักพิมพ์ตีพิมพ์หนังสือของเด็ก แต่ปรากฏว่าเป็นหนังสือที่เหมือนของผู้ใหญ่ ไม่ได้มีอะไรพิเศษ แต่ด้วยความที่หนังสือจากนักเขียนเด็กของไทยมันออกมาจากความคิดเขาเอง คือเขียนอะไรก็ได้ ซึ่งของฝรั่งเศสถูกกำหนดเช่นต้องเขียนเป็นนิยาย ความยาวเท่านี้ ไม่ได้มีอิสระให้เด็ก อาจารย์เลยคิดกันว่าฝรั่งเศสดึงศักยภาพของเด็กออกมาผิดวิธีหรือเปล่า”

ความแปลกใหม่ทำให้อาจารย์ที่มหาวิทยาลัยตูร์ยกย่องวิธีสมุดบันทึกว่าเป็น ‘นวัตกรรม’ เพราะยังไม่เคยมีใครนำสมุดบันทึกมาค้นหาศักยภาพของเด็ก ทั้งยังร่นระยะเวลาสร้างความสำเร็จให้เด็กได้ อย่างที่เห็นว่าหนังสือหลายเล่มอันเกิดจากสมุดบันทึกได้รับรางวัลระดับประเทศ

“การอ่านเป็นเรื่องสำคัญของโลกตะวันตก แต่เขาเน้นผู้ใหญ่สอนให้เด็กอ่าน ซึ่งของไทยก็สอนแบบนั้นจนกระทั่งมีวิธีที่อาจารย์มกุฏทำ จริงๆ ทางอเมริกาก็เคยมีนักเขียนแบบนี้แหละค่ะ แต่ก็เป็นแบบให้เขียนนิยายออกมา สุดท้ายก็เหมือนของผู้ใหญ่ที่อ่านๆ กันมา แล้วมันก็จบแค่นั้นคือได้หนังสือมาหนึ่งเล่ม ไม่ได้ถูกกล่าวถึง ไม่ได้รับรางวัล”

ถึงวิธีสมุดบันทึกจะทำให้วงการหนังสือฝรั่งเศสตื่นเต้น แต่วิริญจน์บอกว่าระบบหนังสือที่นั่นค่อนข้างอยู่ในกรอบ ขนบที่แข็งแรงทำได้เพียงเพิ่มกิจกรรมเข้าไป ตราบที่วิธีสมุดบันทึกยังเจาะเข้าไปไม่ได้ วิธีนี้จึงน่าจะได้ผลดีที่สุดในประเทศไทย

  แม้เด็กจะเป็นตัวละครหลักของวิธีสมุดบันทึก แต่ผู้ใหญ่ก็ใช้ได้เหมือนกัน ยังมีผู้ใหญ่มากมาย ‘เกิด’ จากสมุดบันทึก แล้วยังก้าวเดินบนโลกนี้ได้อย่างสง่างาม มกุฏเล่าว่านอกจากเคยสร้างคนด้วยวิธีสมุดบันทึกไปแล้ว ตอนนี้ได้ทดลองกับอากงอาม่าคู่หนึ่งซึ่งกำลังเขียนบันทึกและมีแนวโน้มว่าจะได้หนังสือที่ดีเล่มหนึ่งแน่นอน แม้ไม่อุดมวรรณศิลป์ ทว่าหนักแน่นด้วยประสบการณ์และความคิด อาจจะดีเท่ากับหรือมากกว่านักเขียนเก่งๆ สักคนเลยทีเดียว