ลองหรือยัง...น้ำอัดลม จากเปลือกเมล็ดกาแฟ

ลองหรือยัง...น้ำอัดลม  จากเปลือกเมล็ดกาแฟ

เห็นเปลือกเมล็ดกาแฟกองไว้วันแล้ววันเล่าไม่เกิดประโยชน์ ตามประสาคนช่างคิด จึงเอามาทำเครื่องดื่ม

 ช่วงที่อยู่ว่างๆ อดีตนักดนตรีคนนี้นอนเล่นในสวน และไม่มีอะไรทำ เห็นเปลือกเมล็ดกาแฟกองเป็นภูเขา ก็เลยคิดต่อว่า นอกจากปล่อยให้เน่าเหม็นและทิ้งลงแหล่งน้ำ กลายเป็นแหล่งเพาะเชื้อโรค จะสามารถทำอะไรได้บ้าง

“ช่วงปลายปีที่พวกเขาเก็บเมล็ดกาแฟ ผมนอนๆ อยู่บนสวน ผมก็ได้กลิ่นผลไม้เหม็นเน่า ตื่นขึ้นมาตอนเช้า ก็เลยตามหากลิ่นนั้น ไปเจอเปลือกเมล็ดกาแฟกองไว้เป็นภูเขาเป็นหมื่นตันๆ และไม่มีใครเคยคิดว่าจะทำอะไรกับมัน” รัฐศรัณญ์ พีรพงศ์เดชา เจ้าของธุรกิจคาสทาวน์(Castown) เล่าถึงจุดเริ่มต้นในการเอาเปลือกเมล็ดกาแฟที่ถูกทิ้งเป็นขยะมาทำเป็นน้ำอัดลม 

ในงานสัมมนา สร้างแรงบันดาลใจ “APi Inspirational Talk 2019 " เขาเล่าถึงธุรกิจเล็กๆ จากขยะพืชผลทางการเกษตรผันมาเป็นเครื่องดื่มของคนรุ่นใหม่ ซึ่งค่อยๆ เติบโต โดยไม่ทำเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ไม่วางในซุปเปอร์มาร์เก็ต เพราะอยากให้ผู้บริโภครู้ที่มาทีั่ไปของผลิตภัณฑ์ที่เขาทำ

“ผมก็เลยกลับมานั่งทำการบ้าน ผมค้นพบว่าเกษตรกรยุโรปเอาเปลือกเมล็ดกาแฟไปตาก แล้วชงดื่มในตอนเช้า และมีข้อมูลว่าการดื่มเปลือกเมล็ดกาแฟ ไม่ได้ทำให้ใจสั่นเท่าการดื่มกาแฟ เพราะมีคาเฟอินน้อยมาก กินแล้วรู้สึกสดชื่น”

จากตรงนั้น รัฐศรัณญ์ เอาเปลือกกาแฟเหล่านั้นไปตรวจหาสารอาหารที่สถาบันในเมืองเชียงใหม่ ปรากฎว่า เปลือกเมล็ดกาแฟมีวิตามินที่มีคุณค่า ผลิตเป็นเครื่องดื่มได้ และที่สำคัญคือ ถ้ารับซื้อเปลือกเมล็ดกาแฟ เกษตรกรก็จะมีรายได้ และช่วยแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมได้ด้วย

เมื่อคิดเรื่องการต่อยอดสินค้าเกษตร รัฐศรัณญ์ ที่มีร้านกาแฟของตัวเอง และปกติก็ชอบดื่มคราฟเบียร์ที่ปรุงเอง เขาจึงพยายามคิดสูตรและปรุงรสน้ำอัดลมออกมา

“ผมชอบมองอะไรจากจุดเริ่มต้น ถ้าต้นดีปลายก็ดี ถ้าจะทำเปลือกเมล็ดกาแฟให้คนกิน ผมก็คิดต่อว่า คนจะได้อะไรจากมันบ้าง ผมก็มานั่งเขียนเลยว่า ผมและสังคมจะได้อะไร ผมก็เลยแปรรูป ผมสามารถเอาความรู้เหล่านี้มาให้เกษตรกร ซึ่งเป็นความคิดแรกๆ ของผมและต้องใช้เวลา”

24993584_297898020706626_2123203626474823627_n เมื่อตกผลึกมาลงตัวที่น้ำอัดลม เขา บอกว่า การทำธุรกิจแบบนั้น ต้องใช้เครื่องจักร ลงทุนเป็นสิบๆ ล้าน ซึ่งเป็นเรื่องไกลตัว

“ผมก็เลยคิดวิธีการเอายีสต์ สิ่งมีชีวิตที่ใช้ทำขนมปังมาใช้ เพื่อให้มันกินน้ำตาล จากนั้นสิ่งที่มันคลายออกมาคือ คาร์บอนไดออกไซด์ หรือ CO₂ และผมก็เอาไปสอนเกษตรกรลองทำ ตอนนั้นไม่ค่อยประสบความสำเร็จ เพราะยังต้องขายกาแฟ จนพัฒนารสชาติน้ำอัดลมมาเรื่อยๆ แจกบ้าง ขายบ้าง กระแสตอบรับดีขึ้น ก็ค่อยๆ ปรับรสชาติและความซ่าส์ จนวันหนึ่งมีงานประกวดของกรมทรัพย์สินทางปัญญา

เมื่อนำน้ำอัดลมจากเปลือกเมล็ดกาแฟ ผลิตภัณฑ์ที่เขาตั้งชื่อว่า คาสทาวน์ ส่งไปประกวดนวัตกรรม เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์การเกษตรและอาหาร กรมทรัพย์สินทางปัญญา ปี 2560 ปรากฎว่าได้รับรางวัลชนะเลิศอันดับ 1  เนื่องจากทำจากขยะเปลือกกาแฟ แปรรูปเป็นเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ใช้กระบวนการผลิตแบบแฮนด์เมด และสร้างงานให้เยาวชนได้ด้วย โดยเรียกรวมๆว่า “คราฟต์โซดา” ปัจจุบันมี 35 รสชาติ ผลิตโดยคนไทย และเขาก็หาวิธีการทำตลาดที่ไม่เหมือนใคร

 "เพราะผมเป็นนักดนตรีมาก่อน ผมจึงไม่รู้ว่า ต้องกำหนดกลุ่มเป้าหมาย ไม่รู้แม้กระทั่งอะไรคือการทำธุรกิจ เราเชื่อว่า ถ้าราอยากเห็นการเปลี่ยนแปลง ถ้าเราทำอะไรที่แตกต่าง แม้จะเสี่ยง ผลลัพท์อาจแย่กว่าเดิมหรือดีกว่าเดิม แต่อย่างน้อยๆ ไม่เหมือนเดิมแน่นอน ผมเริ่มทำธุรกิจจากความเสี่ยง เราจะไม่เดินตามอะไรที่มีอยู่แล้ว ผมไม่ได้ทำแบบโรงงาน ไม่เอาสินค้าเข้าซุปเปอร์มาร์เก็ต ผมคิดแค่ว่า นอกจากทำธุรกิจแล้ว ต้องกระจายรายได้ด้วย 

26230140_310724406090654_9153843528438368184_n คนส่วนใหญ่อยากเติบโตแบบอุตสาหกรรม สร้างโรงงาน เพื่อลดต้นทุน แต่การลดต้นทุนหมายถึงการลดคุณภาพ กดค่าแรงและต่อรองราคาวัตถุดิบให้ถูกลง ผมไม่ทำแบบนั้น ผมไปคุยกับเกษตรกรก่อน ผมไม่ได้มีความคิดว่า เราไปช่วยพวกเขา แต่คิดว่าเกษตรกรนั่นแหละที่ช่วยเรา ต้องมาตากเปลือกเมล็ดกาแฟให้ผม ผมต้องคุยกับเขาตรงไปตรงมา และไม่ใช้เเล่ห์เหลี่ยมในการทำธุรกิจ”

จากขยะเปลือกเมล็ดกาแฟไร้ค่า เขารับซื้อกิโลกรัมละ 30 บาท และด้วยข้อจำกัดไม่มีเงินทุนซื้อเครื่องจักรเพื่อทำโรงงานน้ำอัดลม คนที่คิดนอกกรอบเช่นเขา จึงใช้ไอเดียออกแบบเครื่องจักรให้พอเหมาะพอดีกับธุรกิจ 

“เราทำเล็กๆ เราไม่จำเป็นต้องเป็นอุตสาหกรรมก็ได้ เราค่อยๆ เดิน ผมก็เลยจ้างน้องๆ ที่จบมัธยมปีที่ 6 บ้าง ไม่จบบ้าง มาช่วยกันปิดฝาแปะฉลาก เราทำธุรกิจโดยไม่ได้คิดว่าผลลัพท์เป็นยังไง ก็สนุกดี ลองทำดู เจ๊งก็เจ๊ง ทำทุกอย่างให้ยั่งยืนก่อน เอาเงินมาแบ่งเกษตรกรและน้องๆ ที่ทำ”

  31265228_351625778667183_2718916638572281856_n