งานแต่งที่รบกวนโลกน้อยที่สุด

งานแต่งที่รบกวนโลกน้อยที่สุด

แต่งงานทั้งที ขอไม่ตัดเค้ก ไม่ฟุ่มเฟือยเกินไป ไม่เหลืออาหารและขยะเป็นภาระของโลก ขอเป็นวันที่ทุกคนรักกัน

“มีความใฝ่ฝันตั้งแต่เด็กว่า ถ้าแต่งงานไม่อยากตัดเค้ก ไม่รู้จะตัดไปทำไม มันเป็นเค้กปลอม...” แอน-ศศวรรณ จิรายุส หัวหน้าฝ่ายสื่อสารองค์กร หอจดหมายเหตุพุทธทาส (สวนโมกข์กรุงเทพฯ) เล่า หลังจากจัดงานบุญเริ่มต้นชีวิตคู่ของเธอกับ ทอม-สุรชัย ตรงงาม ทนายความและเลขาธิการ มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) เมื่อไม่นานนี้

เธอไม่ใช่คนดัง ไม่ใช่ดารา เป็นแค่คนตัวเล็กๆ ที่ทำงานทางธรรม และมีโอกาสเรียนรู้คำสอนของท่านอาจารย์พุทธทาส เมื่อมีโอกาสจัดงานแต่งของตัวเอง ก็อยากมีส่วนทำบุญให้โลกด้วยการลดขยะ และอยากให้คนมางานอยู่ในบรรยากาศสบายๆ เต็มไปด้วยความรัก และการแบ่งปันซึ่งกันและกัน  ไม่ต้องมีพิธีรีตองมากนัก

“เขียนไว้ในการ์ดแต่งงานว่า ให้คนมางานร่วมกันทำบุญให้โลก ลดขยะด้วยการเอากระติกน้ำมาด้วย” แอน อดีตคนทำงานบันเทิง และด้านออแกไนซ์ ซึ่งปัจจุบันทำงานที่สวนโมกข์กรุงเทพฯ มานานกว่า 8 ปี เล่า และบอกว่า

“เคยทำงานออแกไนซ์ พร็อพต่างๆที่ทำขึ้นในงาน เห็นอยู่ว่ากลายเป็นขยะกองใหญ่ หรืออาหารบุฟเฟ่ต์เหลือและทิ้งเยอะมาก ตอนนั้นเราก็แค่คิด หาทางออกไม่ได้ จนมาถึงงานแต่งงานของเรา เราก็ขอทำแบบสบายๆ ไม่เป็นภาระของโลก ”

ทำบุญตักบาตร จากนั้นญาติล้อมวงกินข้าว ในงานแต่งของเธอ แอนเลือกที่จะใช้วัสดุเหลือใช้และวัสดุธรรมชาติ ใบตอง  ใบไม้ ไม่ใช้พลาสติก รวมถึงลดขั้นตอนของพิธีการ

“เราเองก็ไม่ชอบงานแต่งงานที่มีพิธีรีตองเยอะๆ ถ้าไม่มีแล้วยังแต่งงานกันได้ ขอไม่มีดีกว่า อยากให้มีขยะน้อยที่สุด และขอปลูกต้นไม้แทนตัดเค้ก เราให้ทุกคนที่มางานได้ปลูกต้นไม้ร่วมกัน เราปลูกต้นโมกข์สีชมพู 7 ต้น โดยนำไปถวายตามวัดที่เราเคยไปทำกิจกรรมร่วมกัน และปลูกที่บ้านของเราหนึ่งต้น”

 เธอเลือกไม่เห่ขันหมาก แต่เลือกตักบาตร สวดมนตร์ ฟังเทศน์ ทำวัตรเช้า ร่วมกัน เพราะคิดว่าคนมางานมงคลสมรส ก็น่าจะเอาความเป็นมงคลกลับไปด้วย

“เราจัดห่อยาเล็กๆ ด้วยกระดาษรีไซเคิล เป็นสังฆทานถวายพระ เพราะตามวัดต่างๆ ถังสังฆทานมีเยอะจนล้น ส่วนแขกมาในงานก็บอกไปว่า ผู้หญิงจะนุ่งซิ่นก็ได้ เสื้อผ้าที่ใส่ไม่ต้องซื้อใหม่ มีชุดแบบไหนก็ใส่มาสบายๆ ส่วนการเลี้ยงอาหาร เรามีปิ่นโตเป็นของชำรวย ซึ่งทุกคนสามารถใช้เป็นภาชนะตักอาหารกินได้เลย และใส่อาหารกลับบ้านได้ด้วย เราก็ใช้กระทง ใบตองแห้ง ใบตองสด แก้วกระดาษ ชามกะละมังที่สวนโมกข์ ขยะพลาสติกแทบไม่มี "

ส่วนเวทีก็ใช้ผ้าม่านติดลูกไม้เล็กๆ เธอและแฟนช่วยกันตัดเย็บ หลังจากเสร็จงานก็นำไปใช้เป็นผ้าม่านในห้องนอนได้อีก 

แอน เล่าต่อว่า วันงานเราก็ถอดรองเท้าทั้งงาน ถ้ารู้แบบนี้ไม่ซื้อรองเท้าก็ได้ เหมือนที่ท่านอาจารย์พุทธทาส พูดว่า “ประโยชน์สูง ประหยัดสุด ”

เล่าเรื่องราวความรักแบบเรียบง่าย “อาจารย์สิงห์ทองเคยเล่าว่าเวลาท่านอาจารย์พุทธทาสใช้กระดาษทิชชู จะใช้ไม่เกินหนึ่งล็อค ถ้าซับน้ำแล้วไม่สกปรก ท่านก็จะตากกระดาษทิชชูนั้น เพื่อจะเอามาใช้อีก หรือเวลาจดบันทึก ท่านก็ใช้ซองที่ใช้แล้วมาจดแล้วจดอีก ดังนั้นสิ่งที่เราทำแค่นิดเดียว ”

เมื่อถามถึงการทำงานที่สวนโมกข์ แอน เล่าว่า ตอนนั้นยังไม่มีแฟน และรู้สึกว่าไม่มีก็ได้ ทำงานสนุกดี จนได้ไปทำกิจกรรมที่วัดป่ามหาวัน จ.ชัยภูมิ ได้เจอแฟนที่นั่น คบกันปีเดียวก็แต่งงาน

“เคยถามเพื่อนว่าทำไมถึงตัดสินใจแต่งงาน เขาก็บอกว่าอยากอยู่กับคนนี้ เพิ่งจะเข้าใจความรู้สึกที่ว่าอยากอยู่กับคนๆ นี้เป็นอย่างไร ทั้งๆ ที่แอนก็เคยมีแฟน และไม่เคยคิดว่าจะต้องแต่งงาน ไม่ได้มีความศรัทธาในการมีชีวิตคู่ แต่พอได้คุยกับพี่ทอม...ซึ่งโดยนิสัยแล้วแอนเป็นคนใจร้อน ใช้ความรู้สึกล้วนๆ พี่ทอมเป็นคนใจเย็นและชอบใช้เหตุผล บางทีเราก็งี่เง่าไร้เหตุผล แต่เขารับในความไม่น่ารักของเราได้”

หากถามว่า ทำไมทำงานแวดวงบันเทิง ได้ทั้งความสนุกและรายได้ที่มากกว่า จึงหันมาทำงานสายธรรมที่สวนโมกข์กรุงเทพฯ

“เมื่อก่อนคิดว่า หาเรื่องสนุกมีความสุขทำ ก็ไปปาร์ตี้กับเพื่อนๆ  ชอปปิ้ง ท่องเที่ยว และติดเพื่อน ดื่มเหล้ากัน อยู่คนเดียวไม่ได้ ทำงานมาเยอะแต่กลับรู้สึกว่าทำไมความสุขแบบนั้นมันเหนื่อยขนาดนี้ จนวันหนึ่งมาที่สวนโมกข์ แค่ยืนนิ่งๆ ริมน้ำ ก็มีความสุข เออ! มีความสุขแบบนี้ด้วยหรือ “แอน เล่าถึงจุดเปลี่ยนเมื่อ 8 ปีที่แล้ว 

และเมื่อก่อนเธอตัวเองว่า การนอนไม่หลับคืนก็มีความทุกข์เหมือนกัน  จนได้มาเรียนรู้คำสอนของท่านอาจารย์พุทธทาสและครูบาอาจารย์ทางธรรม ก็ค่อยๆ เข้าใจชีวิตมากขึ้น

“ถ้าเรายังใช้ชีวิตแบบเดิมๆ ก็คงไม่เจอคำตอบ คงเหนื่อยตลอดไป ก็เลยคิดว่าคงมีอีกด้านของชีวิตที่เราน่าจะเรียนรู้ จนได้มาทดลองปฏิบัติตามที่ครูบาอาจารย์สอน ทำแล้วก็เห็นผล เห็นความเป็นจริง นอนไม่หลับเพราะคิดปรุงแต่ง ทำให้เราเป็นทุกข์ ก็ค่อยๆ ปรับตัว”

ของน่ารักๆ ในงาน ไม่ใช้พลาสติก กระทั่งเกิดการเปลี่ยนแปลงในชีวิตตามเหตุปัจจัยที่ควรจะเป็น จากคนชอบช้อป ก็ช้อปน้อยลง เริ่มรู้สึกว่า ชีวิตคนเราบริโภคเท่าที่จำเป็นก็น่าจะพอ

“คนเรามีรองเท้า2-3 คู่ที่ใส่สบายก็พอแล้ว ไม่ต้องซื้อของทุกครั้งที่มันออกใหม่ และเหล้าไม่ต้องดื่มทุกคืน อยู่คนเดียวก็มีความสุขได้ ส่วนงานที่ทำ ได้เห็นครูบาอาจารย์ทำงานเยอะมาก ไม่เคยบ่นเลย ขณะที่เราชอบบ่นโน้นบ่นนี่" 

ถ้าถามว่า เปลี่ยนแปลงเยอะไหม ...

“จริงๆ ไม่ได้รู้สึกว่าเปลี่ยนอะไรมาก แต่น้าและแม่บอกว่าเปลี่ยนไปเยอะ เมื่อก่อนทำอาหารเช้าให้ ไม่ชอบก็ออกไปกินนอกบ้าน อยู่ยาก แต่เดี๋ยวนี้มีอะไรก็กินได้หมด ไม่มีก็ไม่กิน อยู่และนอนง่ายขึ้น รู้สึกว่าชีวิตทุกข์น้อยลง จากเรื่องที่ทุกข์หนักหนา เราก็เห็นว่าไม่ทุกข์ก็ได้ ทั้งๆ ที่เป็นเรื่องเดิม”

 

ของชำร่วย ใช้เป็นภาชนะในงานได้ด้วย