OSP ขยายตลาด CLMV ตั้งเป้ารายได้ต่างประเทศโตไม่ต่ำกว่า 10%

OSP ขยายตลาด CLMV ตั้งเป้ารายได้ต่างประเทศโตไม่ต่ำกว่า 10%

OSP ประเมินครึ่งหลังรายได้โตต่อเนื่อง อานิสงส์ยอดขายสินค้าเดิมเติบโต-ขยายตลาดต่างประเทศ โตไม่ต่ำกว่า 10% เน้น “กลุ่มซีแอลเอ็มวี” เล็งขายสินค้าที่มีส่วนผสมกัญชง-กัญชาต้นปี 65

นางสาวจิตอาภา อัมราลิขิต หัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์ทางการเงิน บริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน) หรือ OSP เปิดเผยว่า บริษัทมั่นใจว่ารายได้ ในช่วงครึ่งหลังปี 2564 จะเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง แม้เดือน ก.ค. และเดือน ส.ค.2564 ที่ผ่านมา ตลาดเครื่องดื่ม (Beverages) และผลิตภัณฑ์ของใช้ส่วนบุคคล (Personal Care) จะหดตัวลงในระดับเลขสองหลัก (Double Digit) จากผลกระทบของโควิด-19 แต่ยอดขายของบริษัทยังมีแนวโน้มเติบโตได้ดีกว่าตลาด นอกจากนี้ ในช่วงปลายเดือน ส.ค. พบว่ายอดขายมีแนวโน้มกลับมาฟื้นตัวดีขึ้นตอบรับกระแสข่าวการเปิดเมือง

สำหรับกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจช่วงครึ่งหลังของปี 2564 บริษัทจะเน้นเติบโตผ่านกลุ่มสินค้าเดิมที่มีความแข็งแกร่งอยู่แล้ว ได้แก่ เครื่องดื่มชูกำลังเอ็ม-150 (M-150) และเครื่องดื่มวิตามินซี-วิท (C-vitt) รวมถึงการลดต้นทุนที่ไม่จำเป็นอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ บริษัทยังเดินหน้าขยายธุรกิจในต่างประเทศ โดยตั้งเป้าหมายยอดขายเติบโต Double Digit ต่อเนื่องจากช่วงครึ่งแรกที่เติบโต 37.2% โดยจะเน้นกลุ่มประเทศรอบบ้าน (CLMV) นอกจากนี้ บริษัทยังเดินหน้าศึกษาดีลการควบรวมกิจการ (M&A) และการจับมือกับพันธมิตรทางธุรกิจ เพื่อสนับสนุนการเติบโตจากภายนอก (Inorganic Growth)

ในการนี้ บริษัทได้ปรับโครงสร้างธุรกิจในช่วงครึ่งแรกที่ผ่านมาเพื่อให้เกิดความคล่องตัว โดยแต่งตั้งให้ พลเอก สุรพงษ์ สุวรรณอัตถ์ และนายจรัมพร โชติกเสถียร เข้าดำรงตำแหน่งกรรมการอิสระของบริษัทฯ รวมถึงแต่งตั้ง นางวรรณิภา ภักดีบุตร กรรมการผู้จัดการใหญ่ ขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) พร้อมยกเลิกตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ เพื่อความคล่องตัวในการบริหารงาน

เมื่อสอบถามถึงผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของกัญชาและกัญชง นางสาวจิตอาภา กล่าวว่า คาดว่าจะเริ่มวางขายในช่วงต้นปี 2565 แม้กฎหมายจะเปิดให้สามารถผลิตและจัดจำหน่ายได้แล้วก็ตาม แต่บริษัทมองว่าตลาดยังขาดความพร้อม ส่วนพืชกระท่อมที่ถูกปลดจากยาเสพติดให้โทษนั้น บริษัทมีการศึกษาวิจัยและพัฒนาเช่นเดียวกันกับสมุนไพรประเภทอื่นๆ ซึ่งบริษัทไม่ได้รีบร้อนจะออกผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง โดยจะรอความชัดเจนของกฎหมายและความพร้อมของตลาดในระยะถัดไป

สำหรับงบลงทุนในปี 2564 บริษัทวางเอาไว้ที่ 2-2.5 พันล้านบาท โดยในช่วงครึ่งแรกที่ผ่านมาถูกใช้ไปกับการปิดซ่อมเตาหลอมขวดแก้ว (Cold Tank Repair) ส่วนในช่วงครึ่งหลังที่เหลือจะนำไปใช้ลงทุนด้านดิจิทัล การลดต้นทุน และการขยายคลังสินค้า