‘แบงก์-นอนแบงก์’รุกอุ้มลูกหนี้ จัดซอฟท์โลน‘รร.-ค้าปลีก’เพิ่ม

‘แบงก์-นอนแบงก์’รุกอุ้มลูกหนี้ จัดซอฟท์โลน‘รร.-ค้าปลีก’เพิ่ม

แบงก์-นอนแบงก์ ขานรับมาตรการ ธปท.ต่อลมหายใจลูกหนี้ เอสเอ็มอี-รายย่อย เพิ่ม “กสิกรไทย” เผยปล่อยกู้ซอฟท์โลน โรงแรม-ที่พักแล้วเฉียด “พันล้าน” ส่วนกลุ่มค้าปลีกช่วยแล้ว 3.46 พันล้าน ตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อฟื้นฟู 4 หมื่นล้าน

ธปท.และสมาคมธนาคารไทย ออกมาตรการช่วยลูกหนี้เพิ่มเติม ให้สอดคล้องสถานการณ์เศรษฐกิจที่ยังได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยเฉพาะลูกหนี้ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) และรายย่อย รวมถึงกลุ่มโรงแรม ค้าปลีก เพื่อให้สามารถหล่อเลี้ยงธุรกิจได้ต่อ

นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย(KTB) ในฐานะประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า ธนาคารพาณิชย์ทุกแห่งพร้อมช่วยเหลือลูกค้าตามแนวทางของ ธปท.ให้ตรงจุดและตรงภาคอุตสาหกรรม ผ่านผลิตภัณฑ์ที่แบ่งกลุ่มลูกหนี้อย่างชัดเจน ติดตามดูแลลูกค้าอย่างใกล้ชิด

อย่างไรก็ดี ระยะเวลาปรับโครงสร้างหนี้ระยะยาว ขึ้นกับขนาดธุรกิจ ผลกระทบที่ได้รับ และโครงสร้างประกอบธุรกิจของลูกค้า โดยสมาคมฯ ไม่กำหนดเพดานเวลาช่วยเหลือลูกค้าเอาไว้ เช่น ลูกค้าโรงแรมที่ถูกผลกระทบค่อนข้างหนัก ซึ่งสถาบันการเงินบางแห่งมองระยะเวลาช่วยเหลืออาจยาวถึง 10-15 ปี เป็นต้น เพื่อให้เหมาะสมกับลูกค้า เป็นการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน

กสิกรปล่อยสินเชื่อฟื้นฟู4หมื่นล.ปีนี้

นายชัยยศ ตันพิสุทธิ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย หรือ KBANK เปิดเผยว่า ธนาคารมีมาตรการช่วยลูกค้าต่อเนื่อง เช่น พักชำระหนี้ ลดยอดผ่อน ลดดอกเบี้ย รวมทั้งปรับโครงสร้างหนี้ นโยบายช่วยเหลือจะสอดคล้องกับของธปท.ทุกระยะ

ส่วนยอดสินเชื่อซอฟท์โลน เฉพาะโครงการสินเชื่อฟื้นฟู ที่ธนาคารได้อนุมัติจาก ธปท.แล้ว ณ 1 ก.ย.2564 รวมทั้งสิ้น 31,579 ล้านบาท จำนวนลูกค้า 9,186 ราย จากวงเงินโครงการรวมของ ธปท. 250,000 ล้านบาท แบ่งเป็นลูกค้าธุรกิจโรงแรมและที่พัก จำนวน 931 ล้านบาท และธุรกิจค้าปลีก จำนวน 3,460 ล้านบาท ธนาคารตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อฟื้นฟู 40,000 ล้านบาทปีนี้

“ลูกค้าที่มาขอสินเชื่อซอฟท์โลนกับธนาคารส่วนใหญ่ อยู่กลุ่มอุตสาหกรรม ดังนี้ กลุ่มการพาณิชย์ เช่น ค้าส่ง ค้าปลีก และกลุ่มอุตสาหกรรมการผลิต เช่น ผลิตภัณฑ์อาหาร, ผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก, ผลิตภัณฑ์เคมีภัณฑ์ เป็นต้น วงเงินเฉลี่ยต่อราย 3.44 ล้านบาท เพื่อนำไปใช้หมุนเวียนในธุรกิจ เสริมสภาพคล่อง ลดผลกระทบการจ้างงาน และฟื้นฟูธุรกิจ”

ไทยพาณิชย์เล็งช่วยธุรกิจ รร.-ท่องเที่ยว

นางพิกุล ศรีมหันต์ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอี ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) กล่าวว่า ขณะนี้ธนาคารอยู่ระหว่างพูดคุยกับลูกค้าเอสเอ็มอี เพื่อให้ความช่วยเหลือตามที่ ธปท.มีมาตรการใหม่เพิ่มเติม อย่างการปรับโครงสร้างหนี้ระยะยาวอย่างยั่งยืน และอื่นๆ

ขณะเดียวกัน สัญญาณลูกค้าเอสเอ็มอีของธนาคารที่ขอโครงการความช่วยเหลือปัจจุบัน ถือว่าดีกว่าคาดน่าจะเข้ามาเพียง 50% เท่านั้นจากที่ประมาณการไว้ระดับแสนกว่าล้านบาท และยังมีอัตราการกลับมาชำระหนี้ดีกว่าที่คาดไว้ ปัจจุบัน มีลูกค้าที่เข้าโครงการความช่วยเหลือรวมทั้งสิ้น 376,000 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นลูกค้าเอสเอ็มอีราว 72,000 ล้านบาท

นางพิกุล กล่าวว่า ตอนนี้เอสเอ็มอี เกือบทุกกลุ่มได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ยืดเยื้อ กลุ่มโรงแรมและเกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว ยังคงเป็นกลุ่มเปราะบางและได้รับผลกระทบมากที่สุด ซึ่งทางธนาคารมองถึงการช่วยเหลือที่เพิ่มขึ้น เพื่อให้ลูกค้าสามารถอยู่รอดและทำให้ธุรกิจเติบโตได้ในระยะยาว ซึ่งปัจจุบันสำหรับกลุ่มโรงแรม มีการยืดชำระหนี้สูงสุด 24 เดือน ทั้งนี้ขึ้นลักษณะธุรกิจและสถานะการเงินของธุรกิจ

กรุงศรีฯ จัดแพ็คเกจช่วยลูกค้า

รายงานข่าวจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) หรือ BAY กล่าวว่า ขณะนี้ธนาคารอยู่ระหว่างการจัดเตรียมแพกเกจให้ความช่วยเหลือลูกค้าเอสเอ็มอีตามมาตรการเพิ่มเติมของ ธปท. และปัจจุบันธนาคารมีมาตรการช่วยเหลืออื่นๆ ด้วยเช่นกันในหลากหลายธุรกิจพิจารณาตามความเหมาะสม ได้แก่ พักทรัพย์พักหนี้ การพักชำระเงินต้น พักชำระค่างวด ปรับลดจำนวนเงินผ่อนชำระค่างวด ปรับลดอัตราดอกเบี้ย และปรับประเภทวงเงินสินเชื่อ ปรับโครงสร้างหนี้

ทั้งนี้ ตั้งแต่เริ่มโครงการช่วยเหลือทางด้านสินเชื่อซอฟท์โลน สินเชื่อฟื้นฟูของธปท.และสินเชื่อซอฟท์โลนของธนาคารออมสิน จนถึงปัจจุบันธนาคารให้ความช่วยเหลือลูกค้าเอสเอ็มอีแล้วกว่า 25,000 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นลูกค้าเอสเอ็มอี มีวงเงินสินเชื่อซอฟท์โลนเฉลี่ย 3 ล้านบาท เพื่อนำไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน จ่ายค่าเงินเดือนพนักงาน จ่ายค่าใช้จ่าย สำหรับค่าใช้จ่าย Fix Cost ต่างๆ

“บัวหลวง”เปิดแผนช่วยลูกค้า3ระยะ

นายทวีลาภ ฤทธาภิรมย์ กรรมการผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ (BBL) กล่าวว่า ธนาคารจะพิจารณาความช่วยเหลือให้สอดคล้องกับสถานะ และผลกระทบ รวมถึงการคาดการณ์การฟื้นตัวของธุรกิจและของลูกค้า ทั้งสินเชื่อเดิม (หนี้เดิม) พิจารณาปรับเงื่อนไขให้สอดคล้องความสามารถการชำระหนี้ และสนับสนุนสินเชื่อเพิ่มเติม (New Money) ผ่า

“เราแบ่งความช่วยเหลือเป็น 3 ช่วง คือ ช่วงที่ 1 ประคองธุรกิจผ่านปัญหา เน้นให้สภาพคล่องระยะสั้น และรักษาการจ้างงาน ช่วงที่ 2 เริ่มฟื้นฟูธุรกิจ ปรับตัวได้ พร้อมรีสตาร์ทอีกครั้ง เน้นให้เงินทุนหมุนเวียนเสริมธุรกิจฟื้นตัวอย่างแข็งแรง และช่วงที่ 3 ระยะยาวปรับปรุงรูปแบบธุรกิจ (Business Model) สอดคล้องสภาพตลาดที่เปลี่ยนแปลงไปในยุคหลังโควิด เน้นให้เงินทุนระยะยาวเพื่อปรับโครงสร้างธุรกิจได้มีประสิทธิภาพ”

ธุรกิจบัตรฯ รุดแจ้งลูกค้า-ปรับระบบใหม่ เพิ่มเติม

นายนันทวัฒน์  โชติวิจิตร กรรมการบริหาร บริษัท อิออน ธนสินทรัพย์ (ไทยแลนด์) เปิดเผยว่า มาตรการเพิ่มเติมของธปท.ในส่วนลูกค้าบัตรเครดิต ซึ่งเป็นการขยายระยะเวลาให้ความช่วยเหลือไปถึงปีหน้าเท่านั้น  คาดว่า น่าจะช่วยเหลืิอเพิ่มเติมได้ช่วงระยะสั้น เนื่องจากช่วงใกล้สิ้นสุดมาตรการก่อนหน้านี้  พบว่า ลูกค้าไม่ค่อยสนใจเงื่อนไขนี้มากนัก เพราะเหลือเวลาไม่มากและส่วนใหญ่ยังมีความกังวลว่าเมื่อสิ้นสุดมาตรการช่วยเหลือแล้วก็ต้องกลับมาชำระหนี้เพิ่มขึ้นอยู่ดี แต่เมื่อธปท. ขยายระยะเวลาให้ความช่วยเหลือไปถึงปีหน้าและเพิ่มวงเงินมากขึ้น ก็อาจทำให้ลูกค้ากลุ่มนี้มีความต้องการขอความช่วยเหลือเพิ่มเติม 

ในส่วนของบริษัทอยู่ระหว่างแจ้งการให้ช่วยเหลือเพิ่มเติม ไปยังลูกค้าที่เคยสอบถามมาก่อนหน้านี้ และคงต้องรอผลตอบรับว่าจะมีเข้ามาขอความช่วยเหลือมากน้อยแค่ไหน ยังประเมินได้ไม่ชัดเจนนัก 

แต่อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาบริษัทให้ความช่วยเหลือตามมาตรการของธปท.มาอย่างต่อเนื่อง ทั้งลดอัตราชำระคืนขั้นต่ำ พักชำระหนี้ -ลดค่างวด และการเปลี่ยนประเภทสินเชื่อเป็นสินเชื่อระยะยาว อัตราดอกเบี้ยพิเศษ 12%   

ปัจจุบันพบว่า ลูกค้ามาขอเข้าโครงการช่วยเหลือ สัดส่วน 6-7% จากทั้งหมด ถือว่าไม่มากและทรงตัว อีกทั้ง NPL ก็ทรงตัว ซึ่งลูกค้าบัตรเครดิตก็ยังคงระมัดระวังการใช้จ่าย เพราะยังไม่เห็นจุดกลับตัวของเศรษฐกิจที่ชัดเจน ประเมินว่าสถานการณ์ลูกหนี้บัตรเครดิตของบริษัทปีนี้ค่อนข้างทรงตัวจากปลายปีก่อน ขณะที่ยอดการใช้จ่ายผ่านบัตรฯ ในปีนี้น่าจะเป็นบวกอยู่แต่ก็ยังต่ำกว่าที่คาดไว้

นางสาวพิชามน จิตรเป็นธรรม ผู้ช่วยประธานเจ้าหน้าที่บริหาร -​ ธุรกิจสินเขื่อบุคคล บริษัทบัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า บริษัทให้ความร่วมมือตามมาตรการของธปท. ที่ออกมาเพิ่มเติม เกี่ยวกับการผ่อนปรนหลักเกณฑ์ลูกค้าสินเชื่อลูกค้าบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-​19พร้อมกับนำเสนอแนวทางช่วยเหลือที่เหมาะสมกับความหลากหลายของสมาชิกที่แจ้งความประสงค์เข้ามา 

โดยมีกลุ่มลูกหนี้ทุกผลิตภัณฑ์เข้าร่วมมาตรการช่วยเหลือกับเคทีซี ณ 30 มิ.ย.2564 รวม 21,564 บัญชี ด้วยยอดหนี้คงค้างชำระที่ 1,545 ล้านบาท และมีสมาชิกทุกผลิตภัณฑ์ขอพักชำระหนี้ 2 เดือน รวม 13,370 ราย ณ15 ส.ค.2564

นางสาวณญาณี เผือกขำ ประธานกรรมการ กรุงศรี คอนซูมเมอร์ เปิดเผยว่า  มาตรการเพิ่มเติมของธปท. รอบนี้ ทั้งการปรับวงเงินลูกค้ามากขึ้น และการปรับภาระการชำระคืนออกไป คือชำ ระขั้นต่ำที่ 5% จะยาวไปถึง ปลายปี 2565  ถือว่าเหมาะสมและมีความยืดหยุ่นกับผู้ถือบัตรเครดิต ในสถานการณ์ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19ยืดเยื้อ 

โดยบริษัทจะพิจารณาปรับแผนตามที่ ธปท. ประกาศเพิ่มเติมเพื่อช่วยเหลือลูกค้าด้วย แต่จะเริ่มเมื่อไหร่นั้นอาจจะต้องแก้ไขระบบ เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายใหม่ก่อน ซึ่งจะแจ้งอีกครั้ง

แต่อย่างไรก็ตามบริษัทมีแนวทางช่วยเหลือลูกค้าของเราเอง ยังคงเป็นมาตรการช่วยเหลืออย่างต่อเนื่องจากปีก่อนหลายแนวทาง ทั้งเรื่อง การพักชำระหนี้ ติดต่อกัน 2 เดือน  (skip payment)  หรือเรื่อง การลดภาระการชำระคืนลง ขยายเวลาการชำระคืนให้ยาวออกไป พร้อมทั่งปรับลดดอกเบี้ยลงด้วย หากมีการขยายเวลาการชำระคืนออกไป โดยการเปลี่ยนเป็นสินเชื่อแบบชำระรายเดือน (term loan) ซึ่งบัตรเครดิตสำหรับโครงการนี้ ปรับดอกเบี้ยอยู่ที่ 12% ต่อปี และ สินเชื่อบุคคล อยู่ที่ 22% ต่อปี