BAM ลุยเจรจาขายNPA 3-4รายการ ดันยอดเก็บหนี้เข้าเป้า1.7หมื่นล้าน

BAM ลุยเจรจาขายNPA 3-4รายการ ดันยอดเก็บหนี้เข้าเป้า1.7หมื่นล้าน

“แบม” ตั้งเป้ายอดเรียกเก็บหนี้ครึ่งปีหลัง หมื่นล้าน เจรจาขายเอ็นพีเอ -โควิดคลี่คลายเรียกเก็บหนี้เพิ่ม  หนุนทั้งปีตามเป้าที่ 1.7 หมื่นล้าน พร้อมคงเป้ายอดซื้อหนี้ปีนี้ 9 พันล้าน 

นายรฐนนท์ ฟูเกียรติ ผู้จัดการกลุ่มนักลงทุนสัมพันธ์ บริษัท บริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ BAM เปิดเผยว่า บริษัทยังคงเป้ายอดเรียกเก็บหนี้จากการดำเนินงานที่ 17,452 ล้านบาท  เนื่องจาก คาดว่าครึ่งปีหลัง2564 จะสามารถเรียกเก็บหนี้ได้ประมาณ 10,000 ล้านบาท แบ่งเป็นไตรมาส 3 จำนวน 4,200 ล้านบาท และไตรมาส 4 จำนวน 6,000 ล้านบาท  จากครึ่งปีแรกที่บริษัทมียอดเรียกเก็บหนี้แล้วประมาณ 7,000 ล้านบาท

 “บริษัทตั้งเป้ายอดเรียกเก็บหนี้ในช่วงไตรมาส4 อยู่ที่ประมาณ 6,000 ล้านบาท ซึ่งถือว่าเป็นเป้าที่ท้าทายมาก แต่เชื่อว่าจะสามารถทำได้ เพราะส่วนหนึ่งจากสถานการณ์โควิด-19 ที่มีทิศทางที่คลี่คลายคาดว่าจะทำให้เรียกเก็บหนี้ได้”

     

ขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างเจรจากับพันธมิตรในการขาย NPA จำนวน 3-4 รายการ คาดว่าจะมีความชัดเจนภายในปีนี้  ขณะที่บริษัทเน้นการขายทรัพย์เฉพาะกลุ่ม ทั้งนักลงทุนรายย่อยและรายใหญ่ รวมถึงพัฒนารูปแบบการจัดงานประมูลทรัพย์ ทั้งร่วมกับกรมบังคับคดีและเพิ่มช่องทางอื่นซึ่งบริษัทจะพิจารณาคัดเลือกทรัพย์ออกประมูลเพิ่มเติมในไตรมาส 4 ปีนี้ด้วยและบริษัทจะนำแพลตฟอร์มประมูลออนไลน์มาใช้ในปี 2565

รวมถึงจากที่บริษัทได้วางกลยุทธ์แต่ปลายปีก่อน ทั้งการผ่อนเกณฑ์ประนอมหนี้ อนุมัติราคาพิเศษให้ลูกหนี้ปิดจบในคราวเดียว และปรับโครงสร้างหนี้ทยอยจ่ายหนี้   รวมถึงบริษัทอยู่ระหว่างปรับโครงสร้างองค์กร เพื่อเพิ่มศักยภาพพนักงานและเพิ่มประสิทธิภาพบริหารจัดการงานประนอมหนี้และจำหน่ายทรัพย์ รวมถึงบริหารจัดการสภาพคล่องในช่วงโควิด-19คาดมีผลเรียกเก็บดีขึ้นและสร้างผลกำไรที่ดีให้กับผู้ลงทุนในอนาคต          

   

 สำหรับเป้าในการซื้อหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) และสินทรัพย์รอการขาย (NPA) ที่ 9,000 ล้านบาท  แม้สถานการณ์ NPLที่สถาบันการเงินนำออกมาขาย เริ่มชะลอตัวลง แต่คาดว่าปีหน้าสถานการณ์จะกลับมาใกล้เคียงก่อนโควิด-19ได้ โดยบริษัทยังคงวิธีการซื้อทรัพย์ที่บริหารจัดการได้อย่างเหมาะสม ไม่เร่งซื้อมากจนเกินไป คำนึงถึงภาระดอกเบี้ย แม้พิจารณาหนี้สินต่อทุน (D/E)  ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 2 เท่า บริษัทจะซื้อได้ถึง 20,000 ล้านบาทก็ตาม  โดยปัจจุบันมีพอร์ตรวม 250,000 ล้านบาท แบ่งเป็น NPL190,000 ล้านบาท และ NPA 60,000 กว่าล้านบาท            

สำหรับความคืบหน้า ของบริษัทร่วมทุน (Joint Venture) ขณะนี้ได้ทำการศึกษาสมมติฐาน ทั้งข้อจำกัด และปัจจัยเสี่ยงที่เกี่ยวข้องเรียบร้อยแล้ว และอยู่ระหว่างการทำหลักเกณฑ์ข้อบังคับให้ถูกต้อง ร ซึ่งคาดว่าจะได้ความชัดเจนภายในไตรมาส 4 ปีนี้