‘เงินบาท’ วันนี้เปิด‘แข็งค่า’ ที่32.30บาทต่อดอลลาร์

‘เงินบาท’ วันนี้เปิด‘แข็งค่า’ ที่32.30บาทต่อดอลลาร์

“กรุงไทย” ชี้บาทมีแนวโน้มแข็งค่าหลังการแพร่ระบาดโควิดในประเทศเริ่มทรงตัว แต่ยังต้องจับตาการตรวจเชิงรุกและการฟื้นตัวเศรษฐกิจสหรัฐ ขณะที่ตลาดการเงินทั่วโลกได้รับแรงหนุนหุ้นเทคฯ อีกครั้งมองกรอบเงินบาทวันนี้ที่32.15- 32.35บาทต่อดอลลาร์

นายพูน พานิชพิบูลย์  นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุนธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดตลาดวันนี้(2 ..) ที่ระดับ 32.30 บาทต่อดอลลาร์แข็งค่าขึ้นจากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  32.35 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 32.15-32.35 บาทต่อดอลลาร์

ในส่วนแนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า เงินบาทอาจแกว่งตัว Sideways ในกรอบใกล้ระดับ 32.20 บาทต่อดอลลาร์เนื่องจากผู้เล่นในตลาดอาจรอจับตาดูความชัดเจนของการฟื้นตัวตลาดแรงงานสหรัฐฯ จากข้อมูลการจ้างงานสหรัฐฯในวันพรุ่งนี้ก่อน ทำให้ เงินดอลลาร์ก็มีโอกาสที่จะแกว่งตัว Sideways

ทั้งนี้ เงินบาทยังมีแรงหนุนฝั่งแข็งค่าอยู่ หลังสถานการณ์การระบาดในประเทศเริ่มดูทรงตัวและผู้เล่นในตลาดก็ต่างคาดหวังการฟื้นตัวเศรษฐกิจจากการทยอยผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ดังจะเห็นได้จากแรงซื้อสินทรัพย์ไทยจากนักลงทุนต่างชาติอย่างต่อเนื่องในสัปดาห์นี้

อย่างไรก็ดี เราคงมองว่า สถานการณ์การระบาดในไทยยังน่าเป็นห่วง เพราะการตรวจเชิงรุกยังทำได้ไม่ดีพอ จึงเสี่ยงที่จะเกิดการระบาดระลอกใหม่ๆ หลังการผ่อนคลายล็อกดาวน์ดังนั้น ผู้ประกอบการโดยเฉพาะฝั่งผู้นำเข้า อาจรอจังหวะเงินบาทแข็งค่าในการทยอยปิดความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งถ้าหากผู้ประกอบการมีความไม่มั่นใจต่อแนวโน้มค่าเงิน ก็สามารถใช้เครื่องมือเพิ่มเติม อาทิ Options ในการเพิ่มประสิทธิภาพการวางแผนกลยุทธ์ป้องกันความเสี่ยงค่าเงินได้

ตลาดการเงินโดยรวมได้รับแรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นในกลุ่มเทคฯ หลังบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ย่อตัวลงสู่ระดับ 1.30% อีกครั้ง จากแนวโน้มการจ้างงานในสหรัฐฯ ที่ชะลอตัวลง สะท้อนผ่านยอดการจ้างงานภาคเอกชนสหรัฐฯโดย ADP ในเดือนสิงหาคม ที่เพิ่มขึ้นเพียง 3.74 แสนราย น้อยกว่าที่ตลาดคาดไว้ว่าจะเพิ่มขึ้น 6.1 แสนราย ซึ่งปัจจัยกดดันมาจากปัญหาการระบาดของ Delta รวมถึงภาวะขาดแคลนแรงงาน

ทั้งนี้ แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นเทคฯ นั้น ได้ช่วยให้ ในฝั่งสหรัฐฯ ดัชนี Nasdaq ปิดบวก +0.33% ขณะที่ ดัชนี S&P500 ปรับตัวขึ้นเล็กน้อย +0.03% ในขณะที่ ดัชนี Dowjones ปิดตลาดย่อตัวลง -0.14% กดดันโดยการปรับตัวลงของหุ้นในกลุ่ม Cyclical ท่ามกลางความกังวลของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มการฟื้นตัวของตลาดแรงงานสหรัฐฯ

ส่วนในฝั่งยุโรป ดัชนี STOXX50 ของยุโรป พลิกกลับมาปรับตัวขึ้นราว +0.74% เช่นกัน หนุนโดยการปรับตัวขึ้นของหุ้นในกลุ่มเทคฯ เช่นเดียวกับตลาดหุ้นสหรัฐฯ (Infineon Tech. +1.5%, ASML +1.4%) นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังได้แรงหนุนจากการปรับตัวของหุ้นในกลุ่ม Cyclical ตามความหวังการฟื้นตัวเศรษฐกิจเนื่องจากผู้เล่นในตลาดเริ่มไม่ได้กังวลปัญหาการระบาดของ Delta มากนัก อาทิ กลุ่มสินค้าแบรนด์เนม Inditex +3.6%, Louis Vuitton +3.2% กลุ่มการเงิน Santander +1.6%, ING +1.3% เป็นต้น

ในฝั่งตลาดบอนด์ บอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ กลับมาย่อตัวลงสู่ระดับ 1.30% หลังยอดการจ้างงานภาคเอกชนออกมาแย่กว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ ทั้งนี้ เรามองว่า บอนด์ยีลด์ 10ปี จะแกว่งตัวใกล้ระดับ 1.30% เนื่องจากผู้เล่นในตลาดต่างรอลุ้นรายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯในวันศุกร์ อาทิ ยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) โดยบอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ อาจปรับตัวขึ้นได้เล็กน้อย หากข้อมูลการจ้างงานออกมาแข็งแกร่งกว่าคาดสวนทางกับยอดจ้างงานภาคเอกชนที่ได้รายงานออกมาก่อนหน้า (Nonfarm Payrolls สูงกว่า 7.5 แสนราย)

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงิน หลังการฟื้นตัวของตลาดแรงงานสหรัฐฯในเดือนสิงหาคมแย่กว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ โดยล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ปรับตัวลดลงใกล้ระดับ 92.50 จุด และมีโอกาสที่เงินดอลลาร์อาจแกว่งตัวในกรอบ Sideways เนื่องจากตลาดจะรอดูยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม(Nonfarm Payrolls) ในช่วงปลายสัปดาห์นี้ โดย ผู้เล่นในตลาดต่างมองว่า หากตลาดแรงงานสหรัฐฯ ฟื้นตัวแข็งแกร่งมากกว่าที่ตลาดคาดหวังไว้ ก็มีโอกาสที่จะทำให้เฟดมีความมั่นใจการทยอยลดคิวอีในปีนี้มากขึ้น ซึ่งภาพดังกล่าวอาจช่วยพยุงโมเมนตัมของเงินดอลลาร์ได้ในระยะสั้น แต่ถ้ายอด Nonfam Payrolls ออกมาแย่ตามคาด สอดคล้องกับรายงานยอดจ้างงานภาคเอกชนโดย ADP ตลาดอาจเริ่มกังวลแนวโน้มการฟื้นตัวของตลาดแรงงานสหรัฐฯ มากขึ้นกดดันให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าต่อได้

สำหรับวันนี้ เรามองว่า ตลาดการเงินจะยังไม่มีการไหวเคลื่อนอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากผู้เล่นในตลาดต่างรอลุ้นสัญญาณการฟื้นตัวของตลาดแรงงานผ่าน ยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) ในวันศุกร์ โดยตลาดมองว่า ยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม อาจเพิ่มขึ้นราว 7.5 แสนราย ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่า ยอดNonfarm Payrolls อาจออกมาน้อยกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ หลังจากที่ ยอดการจ้างงานภาคเอกชนที่สำรวจโดยADP เพิ่มขึ้นเพียง 3.74 แสนราย น้อยกว่าที่ตลาดประเมินไว้มาก