รฟม.เดินหน้าประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มรอบใหม่ ต.ค.นี้ หลังศาลปกครองไฟเขียว

รฟม.เดินหน้าประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มรอบใหม่ ต.ค.นี้ หลังศาลปกครองไฟเขียว

รฟม.ลุยขายซองรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ - มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ต.ค.นี้ หลังศาลปกครองสูงสุดไม่รับคำฟ้อง “บีทีเอส” ไฟเขียวประมูลรอบใหม่ ดันเปิดให้บริการต้นปี 2568

นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการดำเนินคดีเกี่ยวกับการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ - มีนบุรี (สุวินทวงศ์) โดยระบุว่า เมื่อวันที่ 1 ก.ย.ที่ผ่านมา ศาลปกครองกลางได้มีการนัดอ่านคำสั่งศาลปกครองสูงสุด กรณีที่เอกชนฟ้อง รฟม.และห้ามมิให้กระทำหรือดำเนินการคัดเลือกเอกชนในโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม

“ศาลปกครองสูงสุดไม่รับฟ้องคำขอที่ไม่ให้ รฟม.กระทำหรือดำเนินการเกี่ยวกับการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มครั้งใหม่ ประเด็นพิพากเรื่องการคัดเลือกครั้งใหม่ จึงได้ข้อยุติแล้ว ส่วนคดีความต่างๆ ที่อยู่ระหว่างฟ้องคดี ทั้งในศาลปกครองที่ยังมีคดีที่เอกชนเรียกร้องค่าเสียหาย 5 แสนบาทจากผลกระทบยกเลิกประกวดราคา และคำฟ้องต่อการยกเลิกประกวดราคาโดยมิชอบ และคดีในศาลอาญาทุจริต ยังคงดำเนินการตามกระบวนการฟ้องร้องต่อไป”

สำหรับคดีที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ซึ่งอยู่ระหว่างการไต่สวนมูลฟ้องยังไม่ได้รับคำฟ้องกรณีที่บริษัทเอกชนรายหนึ่งฟ้องตนและคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงงมีนบุรี-บางขุนนนท์ (สุวินทวงศ์) รวม 7 คน ในฐานความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 และมาตรา 165 และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 172

นอกจากนี้ยังมีคดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ส่งเรื่องไปยังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อดำเนินการไต่สวนและวินิจฉัยตามพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พ.ศ.2561 กรณีที่รฟม.และคณะกรรมการตามมาตรา 36 แก้ไขทีโออาร์หลังจากเปิดขายซองไปแล้ว หลังจากที่มีการร้องเรียนว่าการกระทำดังกล่าวอาจไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งน่าเชื่อว่าจะมีการกีดกันการเสนอราคา (ฮั้วประมูล) อันอาจเป็นความผิดตามพ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 เป็นคดีพิเศษ ตามมาตรา 21 วรรคหนึ่ง (1) แห่งพ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 โดย ล่าสุด รฟม.ได้มีส่งข้อมูลชี้แจงต่อป.ป.ช.แล้ว ซึ่งการดำเนินงานเป็นอย่างไร อยู่ระหว่างการพิจารณาของ ป.ป.ช.

ทั้งนี้ จากคำตัดสินของศาลปกครองสูงสุดนั้น รฟม.เล็งเห็นว่าคดีที่เกี่ยวกับการปรับปรุงหลักเกณฑ์การคัดเลือกในครั้งแรก ถือว่าสิ้นสุดลงตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ให้จำหน่ายคดีไปก่อนหน้านี้แล้ว และคดีฟ้องการคัดเลือกครั้งใหม่ ก็ได้ข้อยุติสิ้นสุด ศาลปกรองสูงสุดก็ตัดสินไม่รับฟ้อง ทำให้ รฟม.สามารถเริ่มดำเนินการประกวดราคาต่อไปได้

 

อย่างไรก็ดี รฟม.มีกรอบดำเนินการประกวดราคารอบใหม่ โดยกำหนดว่าจะมีการนัดประชุมคณะกรรมการ ม.36 ในเดือน ก.ย.นี้ เพื่อพิจารณาเอกสารประกวดราคา (ทีโออาร์) หลังจากนั้นในเดือน ต.ค.จะขายซองเอกสาร ให้เวลาเอกชนจัดทำข้อเสนอประมาณ 90 วัน และเปิดให้ยื่นข้อเสนอในช่วงเดือน ม.ค.2565 คาดว่าจะใช้เวลาในการประเมินข้อเสนอและเจรจาต่อรองกับเอกชนที่ยื่นข้อเสนอเป็นประโยชน์กับ รฟม.และโครงการ ราว 3 เดือน และเสนอคณะรัฐนมตรี (ครม.) เห็นชอบผลการประกวดราคาในเดือน เม.ย.2565

สำหรับภาพรวมโครงการ เนื่องจากการประกวดราคารอบใหม่นี้ รฟม.จะปรับแก้ข้อกำหนดกรอบเวลก่อสร้างโครงการให้สั้นลง เพื่อเร่งรัดการให้โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มสามารถเปิดเดินรถช่วงตะวันออก ศูนย์วัฒนธรรมฯ - มีนบุรี ต้นปี 2568 และเปิดเดินรถทั้งสายในช่วงไตรมาส 3 ปี 2570