'แรงงานนอกระบบ'ฟันเฟืองหนุนศก.สิงคโปร์

'แรงงานนอกระบบ'ฟันเฟืองหนุนศก.สิงคโปร์

'แรงงานนอกระบบ'ฟันเฟืองหนุนศก.สิงคโปร์ โดยในปี 2563 มีแรงงาน 228,200 คนที่เป็นแรงงานอิสระถือว่าเพิ่มขึ้น 8% จากจำนวน 211,000 คนในปีก่อนหน้านี้

เว็บไซต์นิกเคอิเอเชียนำเสนอรายงานที่วิเคราะห์ถึงเศรษฐกิจที่เติบโตเพราะได้แรงขับเคลื่อนจากแรงงานนอกระบบ โดยระบุว่า ช่วงที่โรคโควิด-19 ระบาดนี้พนักงานขับรถส่งอาหารและแรงงานนอกระบบอื่นๆ หรือ “gig economy”มีความสำคัญอย่างมากในฐานะเป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลสิงคโปร์จึงเตรียมออกมาตรการต่างๆสนับสนุนแรงงานกลุ่มนี้ให้ได้รับค่าเหนื่อย ตลอดจนสวัสดิการต่างๆเทียบเท่าพนักงานบริษัททั่วไป

นายกรัฐมนตรีลี เซียน ลุง ของสิงคโปร์ กล่าวสุนทรพจน์ในวันชาติเมื่อเย็นวันอาทิตย์(29ส.ค.)แสดงความวิตกกังวลเป็นพิเศษเกี่ยวกับแรงงานนอกระบบที่ขับรถรับส่งอาหารขณะที่รัฐบาลมีนโยบายที่จะช่วยบรรเทาปัญหาต่างๆที่แรงงานกลุ่มนี้ต้องเจอในแต่ละวันทั้งเรื่องค่าจ้างแรงงานที่ต่ำ และเรื่องสวัสดิการต่างๆที่ควรได้รับ

“แรงงานเหล่านี้ทำงานกับแพลทฟอร์มออนไลน์ต่างๆ อย่าง ”ฟู้ดแพนด้า“ ”แกร๊บ“ หรือ”ดีลิเวอโร“ เราจะคุ้นตากับการทำงานของพวกเขาอย่างดี โดยเฉพาะในช่วงที่โรคโควิด-19กำลังแพร่ระบาด พวกเขาบริการส่งของทั้งกลางวันและกลางคืน เป็นงานที่หนักและได้ค่าแรงถูกมาก”นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ กล่าว

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ ยังกล่าวว่าถึงแม้สิงคโปร์จะฉีดวัคซีนให้ประชาชนในประเทศครบโดสไปได้แล้ว 80% ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ 5.7 ล้านคน และถือเป็นประเทศที่มีอัตราการฉีดวัคซีนให้ประชาชนครบ2โดสมากที่สุดในโลก

แต่การที่สิงคโปร์ เป็นประเทศเศรษฐกิจที่ต้องพึ่งพาแรงงานนอกระบบอยู่มาก บวกกับเศรษฐกิจรูปแบบนี้นับวันมีแต่จะขยายตัวขึ้น ทำให้กระทรวงแรงงานของสิงคโปร์ เริ่มศึกษาแนวทางต่างๆเพื่อสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่ดีขึ้น รวมทั้งให้คำปรึกษาแก่แรงงานกลุ่มนี้

แม้สิ่งที่นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์กล่าวยังไม่มีรายละเอียดมากนักแต่ผลพวงของการศึกษาแนวทางต่างๆเพื่อทำให้แรงงานนอกระบบได้รับประโยชน์มากขึ้นน่าจะส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อบรรดาสตาร์ทอัพอื่นๆในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งตลาดงานนอกระบบในลักษณะนี้เติบโตอย่างรวดเร็ว

ข้อมูลจากโมเมนตัม เวิร์คส์ บริษัทที่ปรึกษาสัญชาติสิงคโปร์ ระบุว่า สามแพลทฟอร์มที่ครองส่วนแบ่งตลาดส่งอาหารมากที่สุดในสิงคโปร์คือ โฮมโกรว์ แกร๊บ และฟู้ดแพนด้า โดยมีสัดส่วน 42% และ 34% ของปีที่แล้วตามลำดับ ขณะที่เดลิเวอโร ของสหราชอาณาจักรมีส่วนแบ่งตลาด 24%

นอกจากนี้ คาดการณ์ว่ามีประชาชนหลายพันคนที่ทำงานในฐานะเป็น“หุ้นส่วน”ไม่ใช่พนักงานของบริษัทผู้ว่าจ้าง ขณะที่ผู้ดำเนินธุรกิจหลายรายเร่งขยายธุรกิจให้บริการส่งของชำ โดยพนักงานที่มีหน้าที่่ส่งสินค้าจะมารับสินค้าจากซูเปอร์มาร์เก็ตหรือร้านสะดวกซื้อจากนั้นจึงนำส่งสินค้าให้ถึงมือลูกค้าในสภาพเรียบร้อย

ธุรกิจนี้ซึ่งขยายตัวอย่างต่อเนื่องรองรับแรงงานจำนวนมากที่ตกงานจากบริษัทที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 โดยข้อมูลจากกระทรวงแรงงานสิงคโปร์ระบุว่า มีในปี 2563 มีแรงงาน 228,200 คนที่เป็นแรงงานอิสระซึ่งครอบคลุมถึงแรงงานที่เป็น“ฟรีแลนซ์”ในรูปแบบต่างๆ เพิ่มขึ้น 8% จากจำนวน 211,000 คนในปีก่อนหน้านี้ และในจำนวนแรงงานเหล่านี้ มีแรงงานที่ต้องทำงานด้วยความจำเป็น ไม่ใช่เพราะเป็นงานที่อยากทำเพิ่มขึ้น 74%

“มีคนมากขึ้นที่หันมาทำงานแบบนี้เพราะฉะนั้นปัญหาเหล่านี้จะเพิ่มขึ้น เราต้องแก้ปัญหานี้ด้วยการทำให้แรงงานนอกระบบ หรือ“กิ๊ก เวิร์กเกอร์”มีอนาคตที่มั่นคงกว่าที่เป็นอยู่”นายกรัฐมนตรีลี กล่าว

ตัวแทนจากบริษัทแกร๊บคนหนึ่งให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า เจตนารมณ์ของนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลเป็นแนวคิดที่สร้างสรรค์และสนับสนุนแรงงานนอกระบบและตั้งตารอที่จะได้เห็นความคืบหน้าเกี่ยวกับเรื่องนี้หรือมีการหารือเกี่ยวกับเรื่องนี้ต่อไป

“ยูจีน ตัน” รองศาสตราจารย์จากสิงคโปร์ แมเนจเมนท์ ยูนิเวอร์ซิตี กล่าวว่า สิ่งที่รัฐบาลดำเนินการในขณะนี้มีเป้าหมายเพื่อปกป้องสิทธิขั้นพื้นฐานของแรงงาน โดยเฉพาะแรงงานที่ทำงานผ่านแพลทฟอร์มออนไลน์ ที่ครอบคลุมถึงการจ่ายเงินชดเชยกรณีได้รับบาดเจ็บจากการทำงาน มีตัวแทนสหภาพแรงงาน จัดสวัสดิการด้านการรักษาพยาบาลและจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

นอกจากนี้ ตัน ยังให้ความเห็นเพิ่มเติมว่าความพยายามของรัฐบาลในเรื่องนี้สะท้อนให้เห็นว่าแรงงานนอกระบบที่ทำงานรับส่งอาหาร รับส่งสิ่งของประเภทต่างๆจะไม่ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง และยังสะท้อนให้เห็นถึงการยอมรับว่าแรงงานกลุ่มนี้เป็นแรงงานที่มีเกียรติเทียบเท่าพนักงานบริษัททั่วไป