'อาเซียน' ชูซัพพลายโลก หวังฟื้นเศรษฐกิจหลังโควิด

'อาเซียน' ชูซัพพลายโลก หวังฟื้นเศรษฐกิจหลังโควิด

“สุพัฒนพงษ์” เตรียมประชุมร่วม รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน 8 ก.ย. รับรองกรอบการอำนวยความสะดวกด้านการลงทุนอาเซียน 11 ด้าน แก้ปัญหาอุปสรรคการลงทุน เตรียมดันความร่วมมือภูมิภาคให้อาเซียนเป็นซัพพลายเชนสำคัญของโลก "ทีดีอาร์ไอ" ชูประชากรรายได้สูงเพิ่มหนุนฐานผลิต

การระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก รวมถึงการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (เอฟดีไอ) ที่หดตัวลงทุกประเทศ โดยอาเซียนมีแผนที่จะผลักดันการลงทุนเพื่อผลักดันเป้าหมายการเป็น “ซัพพลายเชน” สำคัญของโลก

รายงานข่าวจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม.เมื่อเร็วๆนี้ เห็นชอบร่างกรอบการอำนวยความสะดวกด้านการลงทุนอาเซียน (ASEAN Investment Facilitation Framework : AIFF) ตามที่คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เสนอ โดย ครม.มอบหมายให้รัฐมนตรีผู้รับผิดชอบด้านเศรษฐกิจและการลงทุนของไทย คือ “สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์” รองนายกรัฐมนตรี เป็นผู้แทนไทยรับรองกรอบ AIFF ในที่ประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนและคณะมนตรีเขตการลงทุนอาเซียนครั้งที่ 24 (ASEAN Economics Ministers-24th ASEAN Investment Area Council Meeting : AEM-24tAA Counail Meeting) วันที่ 8 ก.ย.2564

สำหรับกรอบ AIFF ให้ความสำคัญกับการอำนวยความสะดวกการลงทุน ในฐานะเสาหลักสำคัญของการลงทุนที่นำไปสู่การรักษาและการเติบโตของการลงทุนในประเทศ ผ่านการสร้างบรรยากาศการลงทุนที่อำนวยความสะดวกแก่ผู้ลงทุนในการตั้งธุรกิจ การดำเนินและขยายธุรกิจ โดยเฉพาะช่วงที่อาเชียนกำลังก้าวสู่สภาพแวดล้อมหลังวิกฤติโรคโควิด-19 โดยมุ่งให้อาเซียนฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด-19 โดยเน้นที่การลงทุนเพื่อผลักดันให้อาเซียนเป็นฐานการผลิต (ซัพพลายเชน) ที่สำคัญของโลก

ทั้งนี้ สาระสำคัญในการอำนวยความสะดวกการลงทุนมี 11 ด้าน ได้แก่

1.ความโปร่งใสของมาตรการและข้อมูล เช่น การเข้าถึงได้ของมาตรการบังคับใช้ทั่วไปความสะดวก และข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนในรัฐสมาชิกที่เกี่ยวข้อง

2.การปรับปรุงด้านการลงทุน และเร่งรัดขั้นตอนการปฏิบัติและข้อกำหนด เช่น มาตรการบังคับใช้ทั่วไปเกี่ยวกับการลงทุนที่นำไปบังคับใช้อย่างสมเหตุสมผล ตรงตามวัตถุประสงค์และเป็นธรรมครอบคลุม ขั้นตอนด้านการลงทุนไม่เป็นอุปสรรคต่อความสามารถของผู้ลงทุนในการลงทุนด้านเอกสารไม่ทำให้เสียเวลาและเสียค่าใช้จ่ายเกินความจำเป็นเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย

3.การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและอินเทอร์เน็ต เช่น ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อพัฒนากระบวนการรับคำขอการลงทุน การอนุมัติต่ออายุ และการดูแลหลังการลงทุน สนับสนุนการใช้สำเนาเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งได้รับการรับรองอย่างถูกต้องตามกฎหมายแทนเอกสารต้นฉบับ ส่งเสริมชำระเงินผ่านอิเล็กทรอนิกส์สำหรับค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายโดยหน่วยงานที่กำกับดูแลด้านการลงทุน

163041455814

4.แพลตฟอร์มดิจิทัลแบบเบ็ดเสร็จ เช่น สนับสนุนให้ลดข้อกำหนดสำหรับผู้ยื่นคำขอในการประสานติดต่อหน่วยงานที่มีอำนาจเกี่ยวข้องมากกว่า 1 หน่วยงานสำหรับการขออนุญาตลงทุน รวมทั้งสนับสนุนให้มีแพลตฟอร์มดิจิทัลแบบเบ็ดเสร็จให้ผู้ลงทุนเพื่อชำระค่าธรรมเนียมและภาษีที่เกี่ยวข้องกับการขออนุญาตลงทุน จัดตั้ง ควบรวมและขยายการลงทุน

5.บริการช่วยเหลือและให้คำปรึกษาแก่ผู้ลงทุน เช่น การจัดให้มีบริการช่วยเหลือผู้ลงทุนในขอบเขตที่ทำได้เพื่อแก้ไขอุปสรรคที่เกี่ยวข้องกับการลงทุน พิจารณาตั้งกลไกให้ข้อเสนอแนะแก่หน่วยงานที่มีอำนาจเพื่อแก้ปัญหาที่พบบ่อยและกระทบผู้ลงทุน

6.ความเป็นอิสระของหน่วยงานที่มีอำนาจ เช่น เมื่อจำเป็นต้องขออนุญาตในการลงทุน หน่วยงานที่มีอำนาจดำเนินการและตัดสินใจอย่างเป็นอิสระจากองค์กรใดสามารถดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ต้องได้รับการขออนุญาตในการลงทุนนั้นได้

7.การเข้าเมืองและการพำนักชั่วคราวของนักธุรกิจเพื่อลงทุน เช่น สนับสนุนให้อำนวยความสะดวกโดยเร่งดำเนินการเกี่ยวกับคำขอเข้าเมืองและการพำนักชั่วคราวของนักธุรกิจ เพื่อการลงทุนในระยะเวลาอันสมควร

8.การอำนวยความสะดวกด้านปัจจัยสนับสนุนการลงทุน โดยช่วยเหลือผู้ลงทุนในการบ่งชี้ปัจจัยสนับสนุนการลงทุนเช่น แรงงาน แหล่งเงินทุน ผู้ผลิตภายในประเทศและโอกาสจับคู่ทางธุรกิจ

9.กลไกการให้คำปรึกษาสำหรับนโยบายการลงทุน เช่น การสนับสนุนให้มีกลไกการปรึกษาและสนทนาอย่างสม่ำเสมอกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่สนใจ โดยรวมถึงผู้ลงทุนและหน่วยงานภาคเอกชน

10.ความร่วมมือ เช่น อำนวยความสะดวกด้านการติดต่อสื่อสารและร่วมมือกับรัฐสมาชิกอาเซียนในประเด็นการอำนวยความสะดวกด้านการลงทุน

11.การดำเนินการตามกรอบ AIFF ฉบับนี้ และแจ้งให้ที่ประชุมคณะกรรมการฯทราบอย่างสม่ำเสมอ

นณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโสด้านนโยบายเศรษฐกิจส่วนรวมและเศรษฐศาสตร์ประยุกต์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า การผลักดันให้อาเซียนเป็นซัพพลายเชนสำคัญของโลกถือว่าเป็นไปได้ โดยระยะกลางอาเซียนจะเป็นพื้นที่มีศักยภาพมาก เพราะประชากรเยอะและเศรษฐกิจเติบโตเป็นกลุ่ม โดยสิงค์โปร์เติบโตเร็วกว่าประเทศอื่น และตามด้วยมาเลเซีย ไทย อินโดนิเซีย ฟิลิปปินส์ และต่อด้วยกลุ่ม CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม) ซึ่งชนชั้นกลางจะเติบโตเป็นกำลังแรงงานและกำลังซื้อ

“เป็นไปได้ที่อาเซียนจะเป็นซัพพลายเชนสำคัญ เพราะประชากรเยอะและเศรษฐกิจเติบโตเป็นกลุ่ม” นณริฏ กล่าว 

สำหรับเส้นทางขนส่งภายในอาเซียนมีทั้งแบบเก่าและส่วนที่เป็น Belt and Road Initiative (BRI) หรือเส้นทางบก ทางราง ทางน้ำและทางอากาศที่จีนผลักดัน โดยอาเซียนมีความร่วมมือทางเศรษฐกิจพอสมควร ซึ่งหลากหลายและตอบโจทย์ความร่วมมือในกลุ่มและนอกกลุ่ม เช่น RCEP, CPTPP, GMS และที่เหลือเป็นการร่วมมือในภาคปฏิบัติให้เกิดผล

รวมทั้งมีการนำหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติมาแทนแรงงาน ซึ่งเป็นภัยคุกคามทุกฝ่ายและถ้าเทคโนโลยีนี้พัฒนาเร็วจจะทำให้แรงงานมีความจำเป็นน้อยลง และอาจเกิดกระบวนการ Reshoring หรือกระบวนการส่งกลับการผลิตและการผลิตสินค้ากลับไปยังประเทศของตัวเอง ซึ่งบางครั้งจะมีความกังวลเกี่ยวกับการกระจายชิ้นส่วนไปหลายประเทศ และเมื่อเกิดการระบาดโควิด-19 อีกจะทำให้ชิ้นส่วนในประเทศหนึ่งผลิตไม่ได้และกระทบกันหมด