ครม.เคาะแผน ‘อี-คอมเมิร์ซ’ แตะ 5.3 ล้านล้าน

ครม.เคาะแผน ‘อี-คอมเมิร์ซ’ แตะ 5.3 ล้านล้าน

(ชมคลิปข่าวด้านล่าง) ครม.เห็นชอบแผนพัฒนาอี-คอมเมิร์ซ ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ กำหนดปี 65 มูลค่าเพิ่มเป็น 5.3 ล้านล้านบาท ผ่าน 4 ยุทธศาสตร์ พร้อมให้ปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง อำนวจความสะดวกจัดเก็บภาษี ดันไทยเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัล

รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รัชดา ธนาดิเรก ระบุ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ระยะที่ 1 (ปี 2564–2565) ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ เพื่อเป็นกรอบแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของไทย ซึ่งแผนปฏิบัติการฯฉบับนี้กำหนดให้พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (อี-คอมเมิร์ซ) เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการค้าของประเทศไทยภายใต้ยุคเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) มีเป้าหมาย คือ

1.มูลค่าอี-คอมเมิร์ซ ในประเทศเพิ่มขึ้นเป็น 5.3 ล้านล้านบาท ในปี 2565
2.มูลค่าอี-คอมเมิร์ซ ในประเทศของผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) เติบโตเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 5% ต่อปีในช่วงปี 2564-2565
3.มูลค่าอี-คอมเมิร์ซ ข้ามพรมแดนด้านการขายต่างประเทศ เติบโตไม่น้อยกว่า 5% ต่อปี ในช่วงปี 2564-2565
4.มีการเชื่อมโยงข้อมูลพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ระหว่างภาครัฐและเอกชน และเกิดการบูรณาการในการพัฒนาระบบการบริหารจัดการข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ร่วมกัน
5.จำนวนการออกเครื่องหมายรับรองผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (DBD Registered) ไม่ต่ำกว่าปีละ 10,000 ราย

สำหรับการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการ จะดำเนินการภายใต้ 4 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ 1. การพัฒนาแพลตฟอร์มตลาดออนไลน์ (e-Marketplace) เพื่อส่งเสริมการค้าภายในประเทศและการค้าพรมแดน 2.การพัฒนาสภาพแวดล้อมและปัจจัยสนับสนุนการค้าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ในทุกด้านให้พร้อมรองรับการเติบโตของการค้าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (Ecosystem and Enabling Factors) 3. การสร้างความเชื่อมั่นในธุรกรรมพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (Trust and Sustainability) และ 4. การพัฒนาผู้ประกอบการไทยให้สามารถใช้ประโยชน์จากธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (Competency Building)

ที่ประชุมครม.ให้กระทรวงพาณิชย์รับความเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับการประกอบกิจการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ การอำนวยความสะดวกด้านการจัดเก็บภาษี การเชื่อมโยงกับบริการของรัฐแบบจุดเดียวเบ็ดเสร็จ และการกำกับดูแลมาตรฐานสินค้า เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถปฏิบัติตามได้โดยสะดวก ไม่ซ้ำซ้อน และมีภาระการดำเนินการน้อยที่สุด รวมทั้งพัฒนากลไกการคุ้มครองผู้บริโภคที่สามารถยุติข้อร้องเรียนและเยียวยาผู้บริโภคได้อย่างรวดเร็วและเป็นธรรม เพื่อส่งเสริมการประกอบธุรกิจในเศรษฐกิจดิจิทัล และสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภคในการประกอบธุรกรรมผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์