ธปท. สั่งลุย 'หมอหนี้เพื่อประชาชน' แก้หนี้ครบวงจร นำร่องแล้ว 940 ราย

ธปท. สั่งลุย 'หมอหนี้เพื่อประชาชน' แก้หนี้ครบวงจร นำร่องแล้ว 940  ราย

แบงก์ชาติ เปิดเว็บไซต์"หมอหนี้เพื่อประชาชน"' ให้ความรู้และคำแนะนำต่อธุรกิจรายย่อย-เอสเอ็มอี นำร่องแล้ว 940 ราย กลุ่มธุรกิจโดนโควิดกระทบ คาดหลังเปิดตัวทางการจะมีรายย่อยเข้ามาหาข้อมูลผ่านเว็บไซต์ ทะลุหลักหมื่นต่อเดือน และเอสเอ็มอีพบหมอหนี้เพิ่ม 2 เท่า

นางธัญญนิตย์ นิยมการ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน 2 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท. กระทรวงการคลัง บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) สมาคมสถาบันการเงินของรัฐ และสมาคมธนาคารไทย ได้ร่วมกันจัดตั้ง "โครงการหมอหนี้เพื่อประชาชน" อย่างเป็นทางการ เพื่อเป็นช่องทางให้คำแนะนำ ความรู้ และข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการแก้ไขปัญหาหนี้อย่างครบวงจร ตั้งแต่วันที่ 30 ส.ค.2564 เป็นต้นไป

โดยโครงการหมอหนี้ฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความรู้ ความเข้าใจ และข้อแนะนำเกี่ยวกับการแก้ไขหนี้อย่างครบวงจรทั้งในส่วนของลูกหนี้รายย่อย และ ลูกหนี้ธุรกิจเอสเอ็มอี โดยลูกหนี้จะได้รู้วิธีการแก้ไขปัญหาหนี้ การเตรียมตัวก่อนพบพบเจ้าหนี้ ได้รับคำแนะนำ และมาตรการช่วยเหลือต่าง ๆ จากภาครัฐ ที่ดำเนินการในช่วงที่ผ่านมา รวมทั้งได้สำรวจธุรกิจตัวเอง เพื่อปรับแผนธุรกิจได้ดีขึ้น

ทั้งนี้ ลูกหนี้ที่จะร่วมโครงการแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มลูกหนี้รายย่อย สามารถเรียนรู้แก้ไขปัญหาหนี้ด้วยตัวเอง ผ่านเว็บไซต์ เพื่อหาข้อมูลแก้ไขปัญหาหนี้ ประเมินสุขภาพทางการเงิน โดยจะมีเจ้าหน้าที่ช่วยตอบคำถามต่าง ๆ ผ่านทางเว็บไซต์ และ กลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอีที่ต้องการความช่วยเหลือเชิงลึก ให้ลงทะเบียนผ่านทางเว็บไซต์ ซึ่งจะขอข้อมูลรายละเอียดธุรกิจ การเงิน และภาระหนี้ เมื่อลงทะเบียนสำเร็จก็จะได้รับการิดต่อให้ไปพบหมอหนี้ภายใน 5-7 วัน

"ลูกหนี้ที่เป็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอีสามารถติดต่อขอคำแนะนำเชิงลึกเพิ่มเติมจากทีมหมอหนี้ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญจากศูนย์ที่ปรึกษาทางการเงิน SMEs บสย. (บสย. FA Center) สมาคมสถาบันการเงินของรัฐ และสมาคมธนาคารไทย โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย"


โครงการเปิดให้คำปรึกษากับลูกหนี้ทุกสถาบันการเงิน โดยพิจารณาข้อมูลของผู้เข้าร่วมโครงการเป็นหลัก และนำส่งหมอหนี้ภายใต้โครงการที่เหมาะสม โดยจะแจ้งให้ ผู้เข้ารับคำปรึกษาทราบก่อนทุกครั้ง 

ปัจจุบันสถาบันการเงินที่เข้าร่วมโครงการ  ทั้งสิ้น  13  แห่ง เป็นสถาบันการเงินภาครัฐ  7แห่งและธนาคารพาณิชย์อีก 8 แห่ง ได้แก่ 1. บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.)  2. ธนาคารอาคารสงเคราะห์ 3.  ธนาคารออมสิน 4.ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร 5.ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน)  6. ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย  7. ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย 8. ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย 9.ธนาคารยูโอบี จำกัด 10.ธนาคารไทยเครดิตเพื่อรายย่อย 11.ธนาคารกสิกรไทย จำกัด 12.ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด 13.ธนาคารกรุงเทพ จำกัด ทั้งนี้ ธนาคารพาณิชย์อื่น ๆ อยู่ระหว่างทยอยเข้าร่วมโครงการหมอหนี้เพื่อประชาชน ซึ่งหากมีเพิ่มเติม จะแจ้งให้ทราบต่อไป 

163032626579

นางธัญญนิตย์ กล่าวว่า จากสถานการณ์โควิด-19 กระทบกับภาคธุรกิจ การแก้ไขปัญหาหนี้ที่ยั่งยืนต้องกลับมาสู่การปรับโครงสร้างหนี้ ดูแลในส่วนของรายได้ ซึ่งคาดว่าการจ้างงานและรายได้ จะยังไม่กลับมาในปี 2565 โครงการหมอหนี้ฯ จะช่วยปิดช่องว่าง ความไม่เข้าใจปัญหาหนี้สิน และมาตรการของรัฐ ธปท. ในช่วงที่ผ่านมาได้

ที่ผ่านมาตั้งแต่ต้นปีได้นำร่องการ จนถึงเดือนก.ค. มีลูกหนี้เอสเอ็มอีที่เข้าร่วมโครงการกว่า 940 ราย ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มธุรกิจ การค้า อาหาร การบริการ ขนส่ง โรงแรม และการผลิต โดยส่วนใหญ่ เข้าใจปัญหาหนี้และมาตรการช่วยเหลือ และคาดว่าเมื่อเปิดโครงการอย่างเป็นทางการจะมีผู้สนใจ ในกลุ่มที่เข้ามาหาข้อมูลผ่านเว็บไซต์ มากกกว่าหลักหมื่นคนต่อเดือน ส่วนกลุ่มธุรกิจที่จะเข้าหารือกับหมอหนี้ คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 2 เท่า จากช่วงนำร่องที่มียอด 200 รายต่อเดือน 

โดนครงการฯ ได้เตรียมคนหมอหนี้ 200 รายในปีนี อีกทั้งในช่วงปลายปีนี้จะเพิ่มบริการ ผ่านระบบแชทบอท มาช่วยตอบคำถามและให้คำแนะนำ คาดว่าจะความช่วยเหลือได้เร็วและจำนวนมากขึ้นได้ อย่างไรก็ดี โครงการฯ ไม่ได้กำหนดระยะเวลาปิดโครงการฯ ซึ่งหากปัญหาหนี้จากโควิดเริ่มลดลง ก็สามารถปรับรูปแบบการให้ความช่วยเหลือและคำแนะนำให้เหมาะสมกับสถานการณ์มากขึ้นในระยะต่อไปได้