ราคาน้ำมันดิบทรงตัวระดับสูงต่อเนื่อง หลังอุปสงค์น้ำมันดิบยังคงเติบโตในระดับสูง

ราคาน้ำมันดิบทรงตัวระดับสูงต่อเนื่อง หลังอุปสงค์น้ำมันดิบยังคงเติบโตในระดับสูง

ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 66-71 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 69-74 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

163030751417

แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (30 ส.ค.   3 ก.ย. 64)

ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มทรงตัวในระดับสูงต่อเนื่อง หลังได้รับแรงหนุนจากปริมาณความต้องการใช้น้ำมันที่ยังคงเติบโตในระดับสูงต่อเนื่องจากสหรัฐฯ และจีนที่มีทิศทางดีขึ้น เนื่องจากจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายวันปรับลดลงต่อเนื่อง นอกจากนี้ ราคายังได้รับแรงหนุนจากปริมาณการผลิตน้ำมันดิบในอ่าวเม็กซิโกที่ปรับลดลง หลังผู้ผลิตปรับลดการผลิตลงก่อนที่เฮอร์ริเคน Ida จะเข้าใกล้ และปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ที่คาดว่าจะปรับลดลงต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่ 6 ติดต่อกัน อย่างไรก็ตาม ราคายังคงเผชิญกับแรงกดดันจากความผันผวนของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ และการเพิ่มปริมาณการผลิตของกลุ่มโอเปคและประเทศพันธมิตร รวมถึง ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของเม็กซิโกที่มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นสู่ระดับปกติ หลังเกิดเหตุไฟไหม้

ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:

  • จับตาการประชุมของกลุ่มโอเปคและประเทศพันธมิตร (โอเปคพลัส) ในวันที่ 1 ก.ย. ว่ากลุ่มผู้ผลิตจะมีการเดินหน้าปรับเพิ่มกำลังการผลิตตามแผนเดิมหรือไม่ โดยนักวิเคราะห์บางส่วนมีการคาดการณ์กลุ่มผู้ผลิตมีแนวโน้มจะชะลอแผนการปรับเพิ่มกำลังการผลิต เนื่องจากอุปสงค์ที่ชะลอตัวลง ทั้งนี้ ปัจจุบันกลุ่มผู้ผลิตมีการเพิ่มกำลังการผลิตที่ประมาณ 4 แสนบาร์เรลต่อวัน ตั้งแต่เดือน ส.ค.64 เป็นต้นไปจนกว่าระดับการผลิตที่ทางกลุ่มมีการปรับลดตั้งแต่ต้นปี 64 จะหมดลงในเดือน ก.ย. 65
  • บริษัทน้ำมันหลายแห่งในบริเวณอ่าวเม็กซิโกได้ดำเนินการอพยพคนงานและปรับลดกำลังการผลิตลงกว่า 59% ของปริมาณการผลิตน้ำมันดิบทั้งหมดของอ่าวเม็กซิโก หลังพายุเฮอร์ริเคน Ida จะเคลื่อนตัวเข้าใกล้พื้นที่ชายฝั่งและมีแนวโน้มทวีความรุนแรงขึ้นกลายเป็นเฮอร์ริเคนระดับ 3 ซึ่งมีความเร็วลมกว่า 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง หลังจากนั้นพายุเฮอร์ริเคนจะเข้าสู่พื้นที่ชายฝั่งของรัฐหลุยส์เซียนา
  • ปริมาณความต้องการใช้น้ำมันในประเทศจีนมีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้น เนื่องจากรัฐบาลมีแนวโน้มผ่อนปรนมาตรการล็อกดาวน์ในช่วงที่ผ่านมา หลังสามารถดำเนินการควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้าภายในประเทศได้แล้ว จากการเพิ่มความเข้มงวดของมาตรการกว่าสองเท่าจากเดิมทั้งการควบคุมการเดินทางทางอากาศ ทางบก และทางน้ำ โดยเมื่อวันที่ 23 ส.ค. ที่ผ่านมา ทางการจีนรายงานว่าไม่พบการติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ภายในประเทศเป็นวันแรกนับตั้งแต่ 16 ก.ค. 
  • ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับตัวลดลงติดต่อกันเป็นสัปดาห์ที่ 6 ติดต่อกัน หลังปริมาณความต้องการใช้น้ำมันยังคงอยู่ในระดับสูง ประกอบกับปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ยังคงอยู่ในระดับจำกัด โดย สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ สำหรับสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 20 ส.ค. ปรับลดลง 0 ล้านบาร์เรล อยู่ที่ระดับ 432.6 ล้านบาร์เรล ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำสุดนับตั้งแต่ ม.ค. 63 และลดลงมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะปรับลดลง 2.7 ล้านบาร์เรล เนื่องจากปริมาณความต้องการใช้น้ำมันที่เติบโตขึ้นอย่างแข็งแกร่ง
  • สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทั่วโลกยังคงเพิ่มสูงขึ้น โดยจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ยังคงอยู่ในระดับสูงกว่า 6 แสนวัน นำโดยการเพิ่มขึ้นของสหรัฐฯ อิหร่าน ญี่ปุ่น และกลุ่มประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อาทิเช่นไทย มาเลเซีย และเวียดนาม ส่งผลให้หลายประเทศมีการบังคับใช้มาตรการจำกัดการเดินทางและส่งผลกดดันต่อความต้องการใช้น้ำมันและเศรษฐกิจ
  • การผลิตน้ำมันดิบจากสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น หลังผู้ผลิตน้ำมันดิบในสหรัฐฯ ปรับเพิ่มการขุดเจาะน้ำมันดิบขึ้นต่อเนื่อง ท่ามกลางราคาน้ำมันดิบที่ทรงตัวในระดับสูง โดย เบเกอร์ ฮิวจ์ รายงานจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันในสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์ สิ้นสุดวันที่ 27 ส.ค. 64 ปรับเพิ่มขึ้น 5 แท่นไปอยู่ที่ระดับ 410 แท่น ซึ่งเป็นระดับสูงสุดตั้งแต่เดือน เม.ย. 64 และนับเป็นการปรับเพิ่มขึ้นติดต่อกันกว่า 13 เดือน ทั้งนี้ ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ในปัจจุบัน อยู่ที่ราว 11.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน
  • เศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตและบริการจีน เดือน ส.ค.64 ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตและบริการยุโรป เดือน ส.ค.64 และดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตและบริการสหรัฐฯ เดือน ส.ค.64

 

สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (23 – 27 ส.ค. 64)  

ราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับเพิ่มขึ้น 6.42 ดอลลาร์สหรัฐฯ มาอยู่ที่ 68.74 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เช่นเดียวกันกับราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับเพิ่มขึ้น 7.52 ดอลลาร์สหรัฐฯ มาอยู่ที่ 72.70 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 70.91 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล หลังได้รับแรงหนุนจากปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ที่ปรับลดลงมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ จากปริมาณความต้องการใช้น้ำมันที่เติบโตขึ้นต่อเนื่องและการลงทุนในสัญญาน้ำมันดิบที่เพิ่มมากขึ้น หลังค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ปรับตัวอ่อนค่าลง เนื่องจากตลาดคาดว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ จะชะลอการปรับลดวงเงินของมาตรการผ่อนคลายทางการเงินออกไป นอกจากนี้ ราคายังได้รับแรงหนุนจากอุปทานน้ำมันดิบที่ปรับลดลงจากสหรัฐฯ และเม็กซิโก หลังเกิดเหตุไฟไหม้ ส่งผลให้อุปทานมีการปรับลดลงไปกว่า 421,000 บาร์เรลต่อวัน หรือคิดเป็นกว่าร้อยละ 25 ของปริมาณการผลิตทั้งหมดของประเทศ