ไม่ 'เชื่อมั่น' รัฐ-การเมืองไร้การเปลี่ยนแปลง

ไม่ 'เชื่อมั่น' รัฐ-การเมืองไร้การเปลี่ยนแปลง

(ชมคลิปข่าวด้านล่าง) การอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลที่จะมีขึ้นในวันพรุ่งนี้ จากเหตุที่ฝ่ายค้านอ้างถึงการบริหารงานที่ผิดพลาด โดยเฉพาะวิกฤตโควิด-19 การกระจายวัคซีนไม่ทั่วถึง เกิดคำถามถึงความไม่โปร่งใส และเหลื่อมล้ำ รวมถึงปัญหาเศรษฐกิจปากท้องประชาชน

การยื่นญัตติเพื่ออภิปรายไม่ไว้วางใจด้วยการเข้าชื่อของฝ่ายค้านเพื่อซักฟอกสอบสวนรัฐบาล เมื่อเห็นว่าการทำงานของรัฐมนตรีตำแหน่งต่าง ๆ รวมถึงนายกรัฐมนตรีนั้นมีผลงานไม่เป็นที่น่าพอใจ

ซึ่งประเด็นสำคัญในการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้จะเป็นเรื่องการบริหารจัดการสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ที่ผิดพลาดซ้ำซากของรัฐบาล เป็นสาเหตุทำให้ประชาชนยากลำบากและปัญหาการทุจริตประพฤติมิชอบของบุคคลในรัฐบาลรวมไปถึงบริวารแวดล้อม 

โดยรัฐมนตรีที่จะถูกฝ่ายค้านยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้มีทั้งสิ้น 6 คน ได้แก่ นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีอีก 5 คน โดยจะอภิปรายตั้งแต่วันที่ 31 สิงหาคม- 3 กันยายน และลงมติในวันที่ 4 กันยายน 

ด้านความคิดเห็นของประชาชนมองว่าเป็นเรื่องดีที่เปิดโอกาสให้ฝ่ายค้านได้อภิปราย แต่หลังจบการอภิปรายครั้งนี้สถานการณ์การเมืองไทยก็น่าจะยังเหมือนเดิม และประชาชนนั้นยังรู้สึกไม่เชื่อมั่นต่อรัฐบาล ขณะที่สิ่งสำคัญที่สุดตอนนี้ประชาชนต้องการวัคซีนที่ดีและเพียงพอกับประชาชนทุกคน


++++ โพลชี้ ปชช.ต้องการวัคซีนมีประสิทธิภาพ-ทั่วถึง ++++

ขณะที่ผลสํารวจความต้องการของคนไทยในยุคโควิด-19 ของสวนดุสิตโพล พบว่า ภาพรวมความต้องการของประชาชน อยากให้รัฐบาลเร่งควบคุมสถานการณ์โควิด-19 ให้ได้โดยเร็ว ด้วยการนําเข้าวัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูงและฉีดให้กับประชาชนอย่างทั่วถึง เพราะมองว่าวัคซีนจะช่วยให้กลับมาใช้ชีวิต ได้ปกติและเศรษฐกิจเดินหน้าต่อไปได้ หากรัฐบาลเร่งดําเนินการแก้ปัญหาตามความต้องการของประชาชนครั้งนี้ ก็จะส่งผลให้ประเทศไทยฟื้นตัวจากโควิด-19 ได้เร็วขึ้น

ผลโพลสะท้อนให้เห็นว่า สิ่งท่ีประชาชนสมหวังเป็นเพียงการแจกจ่ายสิ่งของและเงินช่วยเหลือ ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ไม่ใช่ความต้องการที่แท้จริงของประชาชน และการช่วยเหลือส่วนใหญ่ก็มาจาก ภาคประชาชนด้วยกันเอง ประชาชนจึงผิดหวังต่อการแก้ไขปัญหาของภาครัฐที่ขาดความจริงใจ และไม่รับฟังความคิดเห็น ของประชาชน เกิดความเหลื่อมล้ำในสังคม

ภาครัฐจึงต้องเร่งดําเนินการเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการบริหารจัดการให้ มากที่สุด โดยเริ่มจากความจริงใจ รับฟังความคิดเห็น มีแผนที่ชัดเจนทั้งแผนการป้องกัน แผนการดูแลรักษา และแผนการ ฟื้นฟู สื่อสารไปยังประชาชนได้เข้าใจ สร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้น จึงจะนําไปสู่การแก้ปัญหาที่ตรงกับความต้องการ ที่แท้จริง