‘สิงคโปร์’ ไขข้อข้องใจ ต้องฉีดเข็มกระตุ้นหรือไม่ ระบาดโควิดระลอก 3

‘สิงคโปร์’ ไขข้อข้องใจ ต้องฉีดเข็มกระตุ้นหรือไม่ ระบาดโควิดระลอก 3

บางประเทศ รวมถึงสิงคโปร์ มีแผนฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น หรือบูสเตอร์โดส เพื่อป้องกันโควิด-19 ซึ่งในทางวิทยาศาสตร์มีความจำเป็นหรือไม่ ทุกประเทศยังคงหาคำตอบ

'ศาสตราจารย์เดล ฟิชเชอร์' ที่ปรึกษาอาวุโสแผนกโรคติดเชื้อของโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยแห่งชาติ (NUH) ของสิงคโปร์ กล่าวกับสำนักข่าวชาแนลนิวส์ เอเชีย ในวันนี้ว่า คำถามสำคัญที่ต้องหาคำตอบคือ "ใครควรฉีดวัคซีนเมื่อใด และวัคซีนชนิดไหนที่ควรฉีดเป็นครั้งที่สาม" 

“นักวิทยาศาสตร์หลายคนเชื่อว่า การฉีดวัคซีนโดสสามจะช่วยปกป้องผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ" ศ.ฟิชเชอร์ ระบุ และกล่าวว่า การเพิ่มภูมิคุ้มกันโควิด-19 ในหมู่ประชากร เราต้องวิเคราะห์ข้อมูลอย่างรอบคอบ

และนี่คือสิ่งที่ควรรู้ในการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น!!

สิงคโปร์ มีแนวโน้มฉีดบูสเตอร์โดสให้ประชาชน 

'ออง เย คุง' รัฐมนตรีสาธารณสุขสิงคโปร์ กล่าวว่า มีความเป็นไปได้มากที่สิงคโปร์จะส่งเสริมให้มีการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น ซึ่งกำลังติดตามข้อมูลของประเทศที่เริ่มฉีดวัคซีนแล้ว หวังได้ประโยชน์จากการสังเกตและเรียนรู้จากประสบการณ์ของพวกเขา  

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขสิงคโปร์ กล่าวว่า มีสองสิ่งสำคัญที่ต้องพิจารณาคือ ประการแรก อุบัติการณ์ของอาการไม่พึงประสงค์ และประการสอง วัคซีนเข็มกระตุ้นควรเหมือนหรือต่างกัน

คณะกรรมการด้านวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของสิงคโปร์ มีความเห็นที่ชัดเจนว่า ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องรุนแรง จำเป็นต้องฉีดบูสเตอร์โดส รวมถึงผู้ป่วยโรคมะเร็ง ผู้ที่ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะ และผู้ที่ได้รับการบำบัดด้วยการกดภูมิคุ้มกัน

ประเทศใดบ้าง ฉีดเข็มกระตุ้นแล้ว 

อิสราเอลเป็นประเทศแรก ที่เริ่มฉีดวัคซีนเข็มสามให้กับประชากรจำนวน 9 ล้านคน 

นอกจากการอิสราเอลจะมีอัตราการฉีดวัคซีนเร็วเป็นประเทศอันดับต้นๆ ในโลก อิสราเอลยังยกเลิกข้อจำกัดโควิด-19 หลังจากสายพันธุ์เดลตาโจมตีประเทศในเดือนมิถุนายน ซึ่งได้เปลี่ยนนยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในอิสราเอลจากเลขหลักเดียว เป็นการทุบสถิติสูงสุด เมื่อวันที่ 24 ส.ค.2564 ตามข้อมูลของมหาวิทยาลัยจอห์นส ฮอปกินส์

เมื่อวันที่ 30 ก.ค. อิสราเอลได้เริ่มฉีดวัคซีนไฟเซอร์-ไบออนเทค โดสที่สาม ให้กับผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปี แล้วค่อยๆ ลดเกณฑ์อายุลง และในวันอังคารที่ผ่านมา (24 ส.ค.) ได้ขยายการฉีดบูสเตอร์โดสให้กับประชาชนในวัย 30 ปีขึ้นไป

ส่วนฮังการี เริ่มแจกจ่ายวัคซีนกระตุ้นแล้ว และทุกคนมีสิทธิ์ได้ฉีดบูสเตอร์โดส หลังได้ฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 แล้วสี่เดือน 

สหรัฐ ประกาศแผนการฉีดวัคซีนไฟเซอร์-ไบออนเทค เป็นบูสเตอร์โดสให้กับชาวอเมริกันทุกคนในเดือนกันยายน ซึ่งได้เริ่มขั้นตอนการสมัครเพื่อขออนุมัติบูสเตอร์ช็อตในผู้ที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป เพื่อกระตุ้นการเพิ่มแอนติบอดีต่อต้านโควิด-19 ได้มากถึง 3 เท่า

สหราชอาณาจักร แคนาดา ฝรั่งเศส เยอรมนี และออสเตรีย ยังได้วางแผนฉีดวัคซีนโดสสามด้วย โดยมุ่งไปที่ผู้ป่วยที่อ่อนแอ และภูมิคุ้มกันบกพร่อง

ส่วนในเอเชีย อินโดนีเซียเริ่มฉีดวัคซีนโมเดอร์นา เป็นเข็มกระตุ้นให้กับเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์เมื่อเดือนกรกฎาคม และกำลังพิจารณาขยายไปยังกลุ่มอื่นๆ  

ส่วนไทย เสนอฉีดวัคซีนไฟเซอร์-ไบออนเทค ให้กับทีมแพทย์และพยาบาลที่ได้ฉีดวัคซีนซิโนแวคแล้วสองเข็ม ส่วนกัมพูชาฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า เป็นบูสเตอร์โดสไปเมื่อวันที่ 12 ส.ค. กับผู้ที่ฉีดวัคซีนซิโนแวคและซิโนฟาร์มแล้ว ขณะที่เกาหลีใต้มีแผนจะจัดหาวัคซีน mRNA ให้มากขึ้นเพื่อเริ่มฉีดเข็มกระตุ้นปีหน้า 

เมื่อใด ควรฉีดเข็มกระตุ้น 

ประเทศต่างๆ ยังมีไทม์ไลน์ที่แตกต่างกันมากสำหรับแผนฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น บ้างเห็นว่า ควรจะฉีดหลังเดือนที่ 4  หรือเดือนที่ 6 หรือเดือนที่ 8  ดังนั้นเวลาไหน จะควรได้รับวัคซีนโดสสาม

ศ.ฟิชเชอร์ กล่าวว่า ณ เวลานี้ยังไม่มีข้อมูลเพียงพอที่จะให้ความชัดเจนเรื่องนี้ เมื่อดูประสบการณ์จากอิสราเอล และสหราชอาณาจักร แนะนำว่า ประสิทธิภาพวัคซีนในการป้องกันการติดเชื้อ ซึ่งรวมถึงโรคที่ไม่รุนแรง จะลดต่ำลงภายใน 6 เดือนหลังการฉีดวัคซีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งวัคซีน mRNA ของไฟเซอร์-ไบออนเทค

อย่างไรก็ตาม การป้องกันโรคร้ายแรงยังคงมีประสิทธิภาพมากถึง 85% เมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีนโควิด-19 แม้แต่ในผู้สูงอายุก็ตาม 

วัคซีนต่างชนิดกัน ก็อาจแสดงประสิทธิภาพที่ลดต่ำที่แตกต่างออกไป 

ควรฉีดบูสเตอรืโดส ชนิดเหมือนหรือต่างชนิดกัน

ศาสตราจารย์ Ooi Eng Eong รองผู้อำนวยการโรคอุบัติใหม่ของโครงการ Duke-NUS ว่า ข้อมูลเบื้องต้นบ่งชี้ว่า การใช้วัคซีนต่างชนิด อาจเป็นประโยชน์ในการสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อโควิดให้ครอบคลุม แต่ผลการทดลองทางคลินิกที่เห็น ยังจำกัดเฉพาะการประเมินการใช้วัคซีนชนิด adenovirus vector เช่นวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า เป็นเข็มแรกตามด้วยวัคซีน mRNA เป็นเข็มที่สอง

“เนื่องจาก ชาวสิงคโปร์ส่วนใหญ่ได้รับวัคซีน mRNA ทั้งสองโดส แต่ยังไม่มีหลักฐานว่า การฉีดวัคซีนบูสเตอร์ด้วยวัคซีนที่ไม่ใช่ mRNA จะสร้างการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันที่เหนือกว่า” เขากล่าว

ส่วนสหราชอาณาจักรได้ทำการศึกษาวัคซีนอย่างน้อย 7 ชนิดที่กำลังดำเนินอยู่ และผลการศึกษาจะออกมาเดือนกันยายน

ในเรื่องนี้ เป็นภารกิจที่รัฐบาลทั่วโลก จะต้องติดตามผลการศึกษาการตอบสนองของภูมิคุ้มกันอย่างใกล้ชิด