อะไรจะเกิดขึ้น! หลังเส้นตาย ‘สหรัฐ’ อพยพคนพ้น ‘อัฟกานิสถาน’ 31 ส.ค.

อะไรจะเกิดขึ้น! หลังเส้นตาย ‘สหรัฐ’ อพยพคนพ้น ‘อัฟกานิสถาน’ 31 ส.ค.

ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ยึดมั่นดำเนินการตามแผนถอนทหารสหรัฐเกือบ 6,000 นาย ออกจากอัฟกานิสถานภายในสิ้นเดือนนี้ แต่สถานการณ์ก็ยังขึ้นอยู่กับกลุ่มตาลีบัน จะให้ความร่วมมือหรือไม่ เพื่ออพยพชาวอเมริกันและพันธมิตรให้ทันเส้นตายวันที่ 31 ส.ค.

ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ประกาศถอนทหารอเมริกัน 2,500 นายในอัฟกานิสถาน เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา หลังกองทัพปฏิบัติภารกิจนานถึง 20 ปี แต่แล้วจำต้องส่งทหารอีกหลายพันนาย กลับไปอีกครั้ง เพื่ออพยพประชาชนกลุ่มเสี่ยงออกจากอัฟกานิสถานให้ทันเส้นตายที่วางไว้ ขณะที่รัฐบาลและกองทัพอัฟกันที่สหรัฐ เคยให้การสนับสนุนได้ทิ้งอำนาจ หนีออกจากประเทศไปก่อนหน้านี้แล้ว

สำนักข่าวรอยเตอร์ส รายงานว่า การอพยพผู้คนที่เต็มไปด้วยความโกลาหล และอันตรายภายในสนามบินคาบูล ได้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์และทำให้ประธานาธิบดีไบเดน ต้องเผชิญวิกฤติครั้งใหญ่ที่สุด นับตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งในเดือน ม.ค. 2564 

อะไรจะเกิดขึ้นต่อไป หลังจากนี้!!  

เจ้าหน้าที่สหรัฐ กล่าวว่า การถอนทหารจะไม่ล่าช้าไปหลังวันศุกร์ที่ 31 ส.ค. 2564 แต่อาจต้องใช้เวลา โดยกองทัพสหรัฐที่ประจำการอยู่ที่สนามบินคาบูล ประกอบด้วยนาวิกโยธิน และพลร่ม กำลังเร่งมือเก็บสิ่งของเพื่อถอนกำลังกลับประเทศ ส่วนจำนวนการเดินทางกลับของทหารอเมริกัน และพันธมิตร อยู่ที่ประมาณ 20,000 นายในสัปดาห์นี้ ซึ่งอาจทำให้ช้าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ 

ก่อนถึงเส้นตาย จะสามารถอพยพได้จำนวนเท่าไร

นับตั้งแต่วันที่ 14 ส.ค. มีผู้คนมากกว่า 70,000 คน รวมทั้งพลเมืองอเมริกัน เจ้าหน้าที่ขององค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต) และชาวอัฟกันได้ทยอยอพยพออกจากกรุงคาบูล

ประธานาธิบดีไบเดน กล่าวในอังคารที่ผ่านมา (24 ส.ค.) ว่า สหรัฐจะอพยพพลเมืองอเมริกันคนใดก็ตามที่ต้องการออกจากอัฟกานิสถาน และเจ้าหน้าที่สหรัฐ ยังได้กล่าวว่า พวกเขาจะอพยพชาวอัฟกันกลุ่มเสี่ยงให้มากที่สุด

"จอห์น เคอร์บี" โฆษกเพนตากอน กล่าวว่า กระทรวงกลาโหมสหรัฐ เชื่อว่า สามารถนำชาวอเมริกันที่ต้องการเดินทางกลับออกมาจากอัฟกานิสถานได้ ภายในวันที่ 31 ส.ค.นี้ โดยเจ้าหน้าที่สหรัฐ ระบุว่า จนถึงขณะนี้มีชาวอเมริกัน 4,000 คนอพยพออกไปแล้ว แต่พวกเขาไม่รู้ว่ายังมีอีกกี่คนที่อาศัยอยู่ในประเทศ เนื่องจากไม่ได้ลงทะเบียนกับสถานทูตสหรัฐไว้ทั้งหมด

เพนตากอน ยังให้คำมั่นที่จะอพยพทหารอัฟกันประมาณ 500 นายที่ช่วยอารักขาสนามบินคาบูล

แม้ขณะนี้ยังมีการอพยพผู้คน โดยเครื่องบินขนส่งทางทหารหลายสิบลำจากสหรัฐและทั่วโลก แต่เจ้าหน้าที่และกลุ่มผู้สนับสนุนหลายพันคนต่างกังวลว่า ต้องเผชิญหน้ากับกลุ่มตาลีบัน หากไม่สามารถอพยพออกไปได้ ตามกำหนดเวลาของประธานาธิบดีไบเดน 

จะเกิดอะไรขึ้น กับผู้คนที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง

Association of Wartime Allies ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ลี้ภัยตั้งถิ่นฐานระหว่างประเทศ ประเมินว่า ชาวอัฟกัน รวมถึงล่ามและคนขับรถ และคนงานอื่นๆที่เคยช่วยทำงานให้กับสหรัฐ ซึ่งต้องอพยพออกจากอัฟกานิสถาน มีจำนวน 250,000 คน และตั้งแต่มีการอพยพมาจนถึงเดือน ก.ค. พบว่า ผู้อพยพกลุ่มนี้เหลือเพียง 62,000 คน

กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ ชี้ว่า จุดมุ่งหมายคือการช่วยเหลือชาวอัฟกันที่มีความเสี่ยงให้เดินทางออกจากอัฟกานิสถาน แม้ภายหลังการถอนทหารแล้ว ทางรัฐบาลวอชิงตันจะกดดันกลุ่มตาลีบัน เพื่อให้แน่ใจว่า ชาวอัฟกันกลุ่มนี้ จะเดินทางออกมาได้ปลอดภัย 

สิ่งที่ไม่สิ้นสุด เมื่อเสร็จสิ้นภารกิจทางทหารแล้วคือ ความมุ่งมั่นของเราต่อชาวอัฟกันที่ตกอยู่ในความเสี่ยง” เน็ด ไพรซ์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (23 ส.ค.) 

'สหรัฐ' จะใช้อิทธิพลต่อเรื่องนี้อย่างไร 

คำถามใหญ่ที่สุดข้อหนึ่งที่ฝ่ายบริหารของประธานาธิบดีไบเดน และรัฐบาลสหรัฐต้องเจอคือ จะยอมรับรัฐบาลที่กลุ่มตาลีบันจัดตั้งขึ้นหรือไม่ รวมถึงว่า กลุ่มตาลีบันจะสามารถเข้าถึงความช่วยเหลือจากต่างประเทศ เช่นเดียวกับที่รัฐบาลอัฟกานิสถานเคยได้รับก่อนหน้านี้ ได้หรือไม่

ในข้อตกลงปี 2563 ที่ลงนามโดยอดีตฝ่ายบริหารของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ระบุอย่างชัดเจนว่า กลุ่มตาลีบัน “ไม่ได้รับการยอมรับจากสหรัฐ ในฐานะประเทศ” แต่มีการส่งสัญญาณอยู่ก่อนแล้วว่า รัฐบาลวอชิงตันจะต้องพูดคุยกับกลุ่มติดอาวุธอิสลามิสต์ในบางประเด็น เช่น การตอบโต้การก่อการร้าย

ผู้อำนวยการซีไอเอ วิลเลียม เบิร์นส์ ได้พบปะกับอับดุล กานี บาราดาร์ ผู้นำกลุ่มตาลีบัน ในกรุงคาบูลเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (23 ส.ค.) ถือว่า เป็นการเผชิญหน้าอย่างเป็นทางการของเจ้าหน้าที่ระดับสูงสุด ตั้งแต่กลุ่มตาลีบันเข้ายึดกรุงคาบูลเมื่อวันที่ 15 ส.ค. โดยเจ้าหน้าที่สหรัฐ เปิดเผยภายหลังว่า นักการทูตและผู้บัญชาการของสหรัฐ จะติดต่อกับเจ้าหน้าที่ตาลีบันตลอดการอพยพครั้งนี้ 

ทางออกของวิกฤตการณ์ด้านมนุษยธรรม

สหรัฐ พันธมิตร และสหประชาชาติ (ยูเอ็น) จะต้องตัดสินใจว่าจะจัดการกับภัยพิบัติด้านมนุษยธรรมที่กำลังจะเกิดขึ้นได้อย่างไร 

ยูเอ็น ระบุว่า ประชาชนมากกว่า 18 ล้านคน หรือมากกว่าครึ่งหนึ่งของประชากรอัฟกานิสถาน ต้องการความช่วยเหลือ และเด็กอัฟกันครึ่งหนึ่งที่อายุต่ำกว่า 5 ปี ประสบภาวะขาดสารอาหารเฉียบพลันแล้ว ท่ามกลางภัยแล้งครั้งที่สองในรอบ 4 ปี

องค์การอนามัยโลกกล่าวว่า มีเสบียงเพียงพอในอัฟกานิสถานที่จะอยู่ได้ 1 สัปดาห์ แต่มาตรการเหล็กของสนามบินคาบูลอาจเป็นการบล็อกความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม และกังวลว่า การเปลี่ยนแปลงภายในอัฟกานิสถานจะผลักดันให้เกิดการแพร่ระบาดโควิด-19 เพิ่มขึ้น 

ทางกลุ่มตาลีบันได้ให้คำรับรองกับสหประชาชาติว่า จะเปิดทางให้ยูเอ็นปฏิบัติงานด้านมนุษยธรรมได้ ขณะที่องค์การระหว่างประเทศยังยืนกรานปกป้องสิทธิสตรีและการเข้าถึงพลเรือนทั้งหมด