'คนไทย VS เทคโนโลยี' เปิดรับแต่ใช้จริงก็ยังหวั่นๆ ในใจ

'คนไทย VS เทคโนโลยี' เปิดรับแต่ใช้จริงก็ยังหวั่นๆ ในใจ

วีโร่ และ ยูกอฟ เผยผลการศึกษาปี 2564 ถึงความรู้สึกของคนไทยที่มีต่อสินค้าและบริการเทคโนโลยี รวมถึงผลกระทบทางสังคมยุคโควิด-19

การศึกษาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ในมิติต่างๆ ระหว่าง "ผู้คนและเทคโนโลยี" เผยให้เห็นความเห็นต่างระหว่างผู้ที่เชื่อว่าบริษัทเทคโนโลยีมีส่วนส่งเสริมสังคมในเชิงบวก ผู้ที่มีความคิดเห็นเป็นกลาง รวมถึงความคิดเห็นเชิงลบเกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยี

จากการสำรวจที่จัดทำโดย "วีโร่ (Vero)" เอเยนซีด้านการสื่อสารของอาเซียน และบริษัทวิจัยการตลาด และการวิเคราะห์ข้อมูลระดับโลก "ยูกอฟ (YouGov)" พบว่า ครึ่งหนึ่งของผู้ตอบแบบสำรวจในประเทศไทยเชื่อว่าเทคโนโลยีสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสังคมมากขึ้น ส่วนอีก 44% มีความรู้สึกเป็นกลางต่อเทคโนโลยี ส่วนอีก 6% เชื่อว่าเทคโนโลยีสร้างผลกระทบในทางลบมากกว่า

ผลกระทบของโควิด-19 ต่อเทคโนโลยี
YouGov ได้ตั้งคำถามเพื่อทำความเข้าใจถึงผลกระทบของโควิด-19 ที่มีต่อพฤติกรรมการใช้ชีวิตและการใช้เทคโนโลยีในประเทศไทย พบว่า 40% ของผู้ตอบแบบสำรวจกล่าวว่าพวกเขาใช้เทคโนโลยีมากขึ้นเนื่องจากวิกฤติโควิด-19 และ 28% กล่าวว่าถึงแม้ว่าวิกฤติจะจบลง พวกเขาก็จะยังดำเนินพฤติกรรมการใช้เทคโนโลยีเหมือนในช่วงการแพร่ระบาดต่อไป

นอกจากนี้ ผู้ตอบแบบสำรวจในประเทศไทยถึง 43% กล่าวว่าจากผลกระทบของโควิด-19 ทำให้พวกเขาซื้อของจากแพลตฟอร์มออนไลน์เป็นส่วนใหญ่ และ 24% กล่าวว่าการชำระเงินและการจัดส่งแบบไม่ต้องสัมผัสมีความสำคัญต่อพวกเขาเป็นอย่างมาก

ความกังวลที่มีต่อเทคโนโลยี
การศึกษาเผยถึงข้อกังวลในการซื้อผลิตภัณฑ์และบริการด้านเทคโนโลยีของคนไทย ซึ่งสิ่งที่พวกเขากังวลมากที่สุดคือแนวโน้มที่จะซื้อสินค้าลอกเลียนแบบโดยไม่รู้ตัว โดยมีผู้ตอบแบบสำรวจถึง 48% ที่มีความกังวลในเรื่องดังกล่าว ในขณะที่ 45% กล่าวว่าหนึ่งในข้อกังวลหลักของพวกเขาคือการบริการหลังการขาย และอีก 37% กล่าวถึงความเป็นไปได้ที่จะเกิดการละเมิดด้านข้อมูลและความปลอดภัย

วิธีการสื่อสารของแบรนด์
การศึกษายังพยายามทำความเข้าใจถึงประเภทของข้อมูลข่าวสารจากบริษัทเทคโนโลยีที่ผู้คนในประเทศไทยต้องการ โดยผู้ตอบแบบสำรวจส่วนใหญ่ (57%) กล่าวว่า พวกเขาต้องการทราบถึงเรื่องราวของผลกระทบจากเทคโนโลยีที่มีต่อสุขภาพและความปลอดภัย

อีก 51% ต้องการเนื้อหาที่สอนการใช้เทคโนโลยี ในขณะที่ 48% กล่าวว่าพวกเขาต้องการให้แบรนด์เทคโนโลยีบอกเล่าเกี่ยวกับสิ่งที่แบรนด์ช่วยพัฒนาสังคม 47% ต้องการทราบเรื่องราวการใช้เทคโนโลยีในชีวิตจริง 42% ต้องการเนื้อหาที่สามารถสร้างแรงบันดาลใจ และอีก 35% ต้องการเนื้อหาที่สร้างความบันเทิง

ภัทร์นีธิ์ จีริผาบ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายสื่อสาร วีโร่ กล่าวว่า การระบาดครั้งใหญ่ทำให้ผู้คนเกิดความต้องการด้านเนื้อหาเกี่ยวกับวิธีการใช้ชีวิตอย่างปลอดภัยและมีสุขภาพดี ขณะที่การสำรวจในปี 2563 พบว่าเนื้อหาที่เป็นที่ต้องการมากที่สุดคือเรื่องราวการใช้เทคโนโลยีในชีวิตจริง อีกเรื่องที่น่าสนใจอย่างมากคือเรื่องราวที่สร้างความบันเทิงนั้นถูกจัดเป็นอันดับสุดท้ายของความต้องการจากเนื้อหาของแบรนด์เทคโนโลยี 

โดยข้อมูลบ่งชี้ถึงความปรารถนาที่จะเรียนรู้และการได้รับความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยี ซึ่งอาจเป็นเพราะการที่เราเป็นผู้รอบรู้ด้านเทคโนโลยีนั้นถือเป็นประโยชน์อย่างมากในปัจจุบัน

"การเข้าสู่ยุคดิจิทัลนั้นมีความสำคัญต่ออนาคตของประเทศไทยเป็นอย่างยิ่ง และบริษัทด้านเทคโนโลยีต่างๆ มีบทบาทสำคัญต่อสังคม จึงเป็นโอกาสดีที่บริษัทเทคโนโลยีจะได้แสดงศักยภาพในฐานะผู้มีส่วนส่งเสริมความเจริญก้าวหน้าในสังคมและช่วยให้ประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น"

ฟรานซิสโก โซซา อาเจตส์ รองผู้อำนวยการ YouGov เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า การศึกษาในลักษณะเดียวกันนี้ ยังได้จัดทำขึ้นในประเทศอินโดนีเซียและประเทศเวียดนาม โดยพบว่าแนวโน้มความคิดเห็นส่วนใหญ่เป็นไปในลักษณะใกล้เคียงกัน ทว่าคนไทยมีทัศนคติในเชิงบวกต่อแบรนด์เทคโนโลยีมากกว่าชาวอินโดนีเซียแต่น้อยกว่าชาวเวียดนาม

สำหรับประเทศไทยกลุ่มผู้ตอบแบบสำรวจประกอบด้วย ประชาชนทั่วไปจาก 5 ภูมิภาค ได้แก่ กรุงเทพฯ ภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายที่หลากหลายทั้งในด้าน รายได้ ระดับการศึกษา และกลุ่มอายุ ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มเจนเอ็กซ์ เจนวาย และเจนแซด (Gen X, Y และ Z)

ผลลัพธ์ที่ได้นำมาวิเคราะห์ตามช่วงอายุและเพศ เพื่อให้เห็นถึงความคิดเห็นที่แตกต่างกันหรือสอดคล้องกัน อาทิ ในกลุ่มตัวอย่างผู้สูงวัย กลุ่มตัวอย่างเพศชาย และกลุ่มตัวอย่างที่มีรายได้สูง ล้วนเป็นกลุ่มมีความคิดเห็นเชิงบวกต่อผลกระทบของเทคโนโลยีในสังคม

การศึกษาครั้งนี้ จัดทำขึ้นเป็นปีที่ 2 เพื่อวัดพลวัตระหว่างผู้คนและเทคโนโลยี โดยได้สอบถามประชาชนเกี่ยวกับการรับรู้และความคิดเห็นในหัวข้อต่างๆ เช่น ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการซื้อผลิตภัณฑ์เทคโนโลยี ความกลัวและความกังวล รวมถึงผลกระทบของโควิด-19 ต่อพฤติกรรมและการรับรู้ของพวกเขา