บทเรียน 'โควิด' 1 ล้านคน 'วัคซีน-ยา-เอทีเค' ไม่พอ

บทเรียน 'โควิด' 1 ล้านคน 'วัคซีน-ยา-เอทีเค' ไม่พอ

ตัวเลขผู้ติดเชื้อ "โควิด-19" ทะลุ 1 ล้านคน ภาพสะท้อนของการบริหารที่ล้มเหลว ทั้งการจัดหาวัคซีน ยารักษา หรือแม้แต่ชุดตรวจเชื้อ ที่มีระบบราชการไทยสุดล้าหลังเป็นต้นตอ

การติด "โควิด-19" ในประเทศไทยเกินจำนวน 1 ล้านคนแล้ว โดยผู้ติดเชื้อนับจากการพบผู้ติดเชื้อครั้งแรกในประเทศไทยเมื่อเดือน ม.ค.2563 จนถึงวันที่ 22 ส.ค.2564 มีจำนวนผู้ติดเชื้อรวม 1.05 ล้านคน ในขณะที่จำนวนผู้เสียชีวิตสะสมอยู่ที่ 9,320 คน และมีผู้ป่วยที่ยังอยู่ระหว่างการรักษาอยู่ 200,339 คน ทั้งจำนวนผู้ติดเชื้อ ผู้เสียชีวิตและผู้รักษาตัวอยู่ถือเป็นจำนวนมากที่ส่งผลให้สถานการณ์การระบาดในประเทศไทยอยู่ในระดับรุนแรงที่หลายฝ่ายต่างคาดหวังว่าจะเมื่อไหร่จะถึงจุดพีค

การฉีดวัคซีนที่ล่าช้าเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้การระบาดระลอกใหม่ยาวนานเกือบ 5 เดือนแล้ว โดยนับถึงวันที่ 21 ส.ค.2564 มีการฉีดวัคซีนแล้ว 26.83 ล้านโดส แบ่งเป็นการฉีดเข็มที่ 1 จำนวน 20.27 ล้านราย

การฉีดเข็มที่ 2 จำนวน 6.01 ล้านราย และการฉีดเข็มที่ 3 จำนวน 542,188 ราย รัฐบาลพยายามสร้างการรับรู้ว่าได้เร่งสั่งจองและสั่งซื้อวัคซีนอย่างเต็มที่แล้ว เพื่อให้ได้วัคซีนตามแผนรวม 168 ล้านโดส ภายในเดือน มี.ค.2565 แต่ข้อมูลที่ปรากฏชัดคือขณะนี้ฉีดได้เพียง 20.27 ล้านโดส

ในช่วงที่เหลือของปีนี้ (เดือน ก.ย.-ธ.ค.2564) วัคซีนส่วนใหญ่ที่ประเทศไทยจะได้รับมอบเป็น "วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า" และ "วัคซีนไฟเซอร์" ซึ่งได้แต่คาดหวังว่าประเทศไทยจะได้รับมอบวัคซีนตรงตามที่วางแผนไว้ เพื่อให้ขีดความสามารถในการฉีดวัคซีนดีกว่าไตรมาสที่ 2-3 ซึ่งขณะนี้ประชาชนยังคงมีความต้องการฉีดวัคซีนอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเมื่อดูการค้นหาข้อมูลในอินเทอร์เน็ตจะพบสถิติการค้นหาข้อมูลการจองวัคซีนทั้งการจองแบบฟรีและการจองแบบเสียเงิน และรัฐบาลคงจะรับทราบข้อมูลสถิติเหล่านี้

นอกจากวัคซีนที่ประชาชนและผู้ประกอบการวิ่งหามาตลอด 3 เดือน ที่ผ่านมา ในปัจจุบันทุกคนต่างต้องการอุปกรณ์ชุดตรวจเชื้อโควิด-19 หรือ Antigen Test Kits เพื่อมาใช้ตรวจเพื่อแยกผู้ติดเชื้อออกจากผู้ไม่ติดเชื้อ ซึ่งการตรวจหาเชื้อแบบสม่ำเสมอจะทำให้ประสิทธิภาพการคัดกรองและการจัดสถานที่พักคอยของผู้ติดเชื้อมีประสิทธิภาพขึ้น แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ต่างจากการจัดหาวัคซีนที่มีความล่าช้าและติดเงื่อนไขทางราชการ ถึงแม้จะอยู่ในภาวะวิกฤติแต่วิธีการทำงานยังยึดรูปแบบที่เคยเป็น

รวมถึงยาที่ใช้สำหรับการรักษาผู้ติดเชื้อทั้งยาที่ต้องนำเข้าและยาบางส่วนที่ผลิตได้ในประเทศไทย ต่างมีปัญหาขาดแคลนไม่ต่างจากวัคซีนและชุดตรวจเชื้อ ซึ่งเมื่อสถานการณ์คลี่คลายแล้วคงต้องมาดูว่าระบบราชการในปัจจุบันทำไมไม่สามารถรับมือกับสถานการณ์วิกฤตินี้ได้ โดยต้องมาดูว่าปัญหาเกิดจากข้าราชการการเมืองในการกำหนดนโยบาย หรือเกิดจากระบบราชการที่ไม่ตอบสนองต่อสถานการณ์วิกฤติ ซึ่งบทเรียนเกิดขึ้นซ้ำๆ แต่ปัญหาก็เกิดซ้ำจนน่าสงสัยถึงอนาคตของประเทศไทยหลังจากติดเชื้อเกิน 1 ล้านคนไปแล้ว