อย. เตือน 'พิมรี่ พาย' ขายน้ำแร่แถม ATK เชิญหารือดูเจตนา

อย. เตือน 'พิมรี่ พาย' ขายน้ำแร่แถม ATK เชิญหารือดูเจตนา

อย. เตือนกรณีชุดตรวจ ATK จัดเป็นเครื่องมือแพทย์ แม้ไม่จำหน่าย แต่แจก แถม ย่อมมีความหมายเท่ากับขาย พร้อมส่งหนังสือเตือน "พิมรี่ พาย" เพื่อเชิญหารือดูเจตนา

จากกรณี นางสาวพิมรดาภรณ์ เบญจวัฒนะพัชร์ หรือ พิมรี่พาย แม่ค้าค้าออนไลน์ ไลฟ์ขายน้ำแร่ 1 ขวด ราคา 120 บาท แถมชุดตรวจ ATK 1 ชุด นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. กล่าวว่า การกระทำดังกล่าวถือว่ามีความผิดตามกฎหมาย อย. และ พ.ร.บ.เครื่องมือแพทย์ ถือว่าการจำหน่าย จ่าย แจก เป็นการกระทำเทียบเท่าเจตนาขาย ซึ่งการใช้ผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ต้องใช้ด้วยความระมัดระวัง

ในส่วนของ ATK นั้น 1. อย.อนุญาตให้มีการขายในร้านขายยา คลินิก สถานพยาบาล เท่านั้น 2. การโฆษณาต้องมีการขออนุญาตจาก อย. ก่อน ถึงแม้จะเป็นคนที่สามารถโฆษณาขายได้ เช่น ร้านขายยาจะขายผ่านออนไลน์ก็ต้องมาขออนุญาตว่าจะโฆษณาด้วยคำพูดอย่างไร ที่ไม่มีการพูดเกินจริง ทั้งนี้เหมือนกับผลิตภัณฑ์อื่นๆ จะโฆษณาก็ต้องขออนุญาตเช่นกัน

สำหรับกรณี "พิมรี่ พาย" นั้น

  • เป็นการขายโดยบุคคลที่เราไม่อนุญาตให้ขาย
  • โฆษณาด้วยการออกสื่อเช่นนี้เป็นการโฆษณาผลิตภัณฑ์เครื่องมือแพทย์ ต้องขออนุญาตก่อน แต่ก็ไม่ได้ขออนุญาต และ
  • ผลิตภัณฑ์ที่นำมาขายนั้นเท่าที่ดูเป็นผลิตภัณฑ์ที่ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนกับ อย. ซึ่งจากกรณีทั้งหมดนี้ถือเป็นความผิดตามกฎหมาย มีโทษตั้งแต่เบาไปหาหนัก สูงสุดคือจำคุก 6 เดือน ปรับไม่เกิน 5 หมื่นบาท ดังนั้น จากนี้ อย. จะมีการส่งหนังสือเตือนไปยัง "พิมรี่ พาย" และให้เข้ามาพูดคุยกัน ซึ่งจะต้องดูเจตนาด้วย ว่าเจตนาหรือไม่ หรือทำเพราะไม่รู้ว่าผิด เพราะบางคนที่ อย. เตือนไปแล้ว ก็เข้าใจ" นพ.สุรโชค กล่าว

เมื่อถามว่าขณะนี้มีการค้าขายผลิตภัณฑ์สุขภาพออนไลน์จำนวนมาก บางคนมองว่า "แค่ขายของทำมาหากินจะอะไรกันนักกันหนา" นพ.สุรโชค กล่าวต่อว่า ขอย้ำว่า อย. ไม่ได้ห้ามเรื่องการโฆษณา สามารถโฆษณาได้ ก็เห็นตัวอย่างอยู่ แต่ อย. ไม่ได้อนุญาตให้ทุกผลิตภัณฑ์ ถ้าเป็นผลิตภัณฑ์ที่ไม่เสี่ยง หรือเสี่ยงไม่มาก ประชาชนสามารถซื้อหามาใช้ได้ เช่น ยาสามัญประจำบ้าน ก็ให้โฆษณาได้ ถ้าเป็นยาอันตราย หรือยาควบคุมพิเศษก็ไม่อนุญาตให้โฆษณา แม้แต่อาหาร ถ้าเป็นอาหารทางการแพทย์ก็ไม่ได้อนุญาตให้มีการโฆษณาขาย แต่โฆษณาเฉพาะกับบุคคลบางอย่างได้

อย่างไรก็ตาม ในผลิตภัณฑ์ทั้งหมดที่ อย. อนุญาตให้ทำการโฆษณาได้ ก็ต้องมาขออนุญาตโฆษณาเพื่อให้อย.ดูเรื่องข้อความการสื่อสารถึงประชาชนไม่มีการโอเว่อร์เคลม หรือกล่าวเกินจริง