เชียงใหม่ ประกาศ 'ชุมชนช้างคลาน' เป็นพื้นที่เฝ้าระวังสูง

คกก.โรคติดต่อเชียงใหม่ ประกาศให้ชุมชนช้างคลาน เป็นพื้นที่เฝ้าระวังสูง งดเดินทางเข้า-ออก หลังพบผู้ป่วยติดเชื้อสะสม 26 ราย ระบุยังไม่ทราบสาเหตุการแพร่ระบาดชัดเจน เผยในชุมชนทำอาชีพค้าขายขนส่งสินค้าจาก อ.แม่สอด และ อ.แม่สะเรียง

เมื่อวันที่ 18 ส.ค. 64 หลังจากที่ทางคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเชียงใหม่ ประกาศให้ชุมชนช้างคลาน เป็นพื้นที่เฝ้าระวังสูง เป็นเวลา 14 วัน หลังจากพบผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จำนวน 26 ราย พร้อมทั้งขอความร่วมมือประชาชนงดเดินทางเข้า- ออกพื้นที่ พร้อมทั้งให้ผู้สัมผัสเสี่ยงสูงเข้ารับการตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด-19 ทุกคน หากผลออกมาไม่พบเชื้อให้กักตัวเองเป็นเวลา 14 วัน และปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อในพื้นที่อย่างเคร่งครัด โดยให้ศูนย์ปฏิบัติการควบคุมโรคเทศบาลนครเชียงใหม่ ดำเนินการจัดระเบียบ ระบบ และควบคุมติดตามผู้ที่เดินทางเข้า - ออก ชุมชนดังกล่าว ให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ และดำเนินการป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคในพื้นที่

นายวินัส มหาเทพ ประธานชุมชนช้างคลาน อ.เมือง จ.เชียงใหม่ เปิดเผยว่า สำหรับชุมชนช้างคลาน ประชาชนในพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ และมักจะเช่าบ้านอยู่ร่วมกันหลายครอบครัว หลังจากพบผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เจ้าหน้าที่สาธารณสุขได้เข้ามาทำการตรวจคัดกรองเชิงรุกในทันที โดยพบผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง ทำให้คลัสเตอร์ชุมชนช้างคลานมีผู้ป่วยติดเชื้อสะสมรวม 26 ราย สำหรับวันนี้ (18 ส.ค. 64) ชุมชนช้างคลานได้จัดจุดตรวจคัดกรองเชิงรุกหาเชื้อไวรัสโควิด-19 ไว้ที่มัสยิดช้างคลาน เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่เข้ามาตรวจคัดกรอง

สำหรับการปิดพื้นที่ ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างรอให้ทางเทศบาลสั่งการ โดยจะขอเสนอให้ปิดเฉพาะบริเวณจุดที่พบผู้ป่วยติดเชื้อและมีกลุ่มเสี่ยงสูงที่ต้องกักตัว ซึ่งมีอยู่ประมาณ 4 จุด ที่อยู่ใกล้เคียงกับ มัสยิดช้างคลาน เพื่อให้ประชาชนที่ไม่ใช่กลุ่มเสี่ยงได้รับความเดือดร้อนจากการประกอบอาชีพเลี้ยงครอบครัวขณะนี้ได้มีการกักตัวกลุ่มเสี่ยงสูงไว้จำนวนประมาณ 20 คน สาเหตุหลักที่ทำให้เกิดการแพร่กระจายเชื้ออย่างรวดเร็ว เนื่องจากแต่ละบ้านมีผู้อยู่อาศัยรวมกันหลายครอบครัว และมักจะรับประทานอาหารสังสรรค์ร่วมกัน

ส่วนการสอบสวนโรคจากคลัสเตอร์ชุมชนช้างคลาน ทางกรมควบคุมโรคยังไม่ระบุชัดเจนว่าผู้ป่วยรับเชื้อจากจุดไหน ซึ่งในชุมชนช้างคลานมีต่างด้าวเข้ามาอยู่อาศัย เพื่อประกอบอาชีพค้าขาย และเดินทางไปต่างจังหวัดเพื่อขนส่งสินค้า โดยเฉพาะบริเวณชายแดน เช่น อ.แม่สอด จ.ตาก และที่ อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน หลังจากนั้นนำสินค้ามาพักรอในบริเวณชุมชนเพื่อรอกระจายสินค้าออกสู่ตลาด ซึ่งอาจมีความเป็นไปได้ที่จะได้รับเชื้อมาจากการขนส่งสินค้า ขณะเดียวกันยังมีความเชื่อมโยงกับร้านร้านอินเตอร์แฟบริค ที่พบผู้ป่วยไปก่อนหน้านี้ เนื่องจากมีผู้ป่วย 1 ราย ที่อาศัยอยู่ในชุมชนทำงานที่ร้านดังกล่าว อาจเป็นไปได้ว่านำมาแพร่กระจายเชื้อสู่ครอบครัว

ขณะที่ ดร.ทรงยศ คำชัย หัวหน้ากลุ่มงานควบคุมโรคติดต่อ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า สำหรับผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ข้อมูลเม่อวันที่ 17 สิงหาคม 2564 พบผู้ป่วยติดเชื้อจำนวน 34 ราย เป็นผู้ติดเชื้อที่เดินทางมาจากต่างจังหวัด 14 ราย โดยมาจากกรุงเทพมหานคร 5 ราย ปทุมธานี 2 ราย สมุทรปราการ 1 ราย สมุทรสาคร 1 ราย นครปฐม 1 ราย ชลบุรี 1 ราย เชียงราย 2 ราย และลำพูน 1 ราย

ส่วนอีก 20 ราย เป็นผู้ติดเชื้อในจังหวัด โดยมาจากคลัสเตอร์หมู่ 10 ตำบลหางดง อำเภอฮอด 6 ราย ทำให้มีผู้ติดเชื้อสะสมคลัสเตอร์นี้ 91 ราย, คลัสเตอร์น้ำพุร้อนสันกำแพง 1 ราย เป็นผู้สัมผัสร่วมบ้าน รวมผู้ติดเชื้อสะสมในคลัสเตอร์นี้ 41 ราย , คลัสเตอร์ครอบครัวตำบลช้างคลานและอินเตอร์แฟบริค ตลาดวโรรส 3 ราย เป็นการระบาดในชุมชน รวมผู้ติดเชื้อสะสมในคลัสเตอร์นี้ 26 ราย , คลัสเตอร์โกดังลำไย หมู่ 7 บ้านเป้า อำเภอแม่แตง 2 ราย ตรวจพบระหว่างการกักตัว รวมผู้ติดเชื้อสะสมในคลัสเตอร์นี้ 20 ราย , บริษัท ค.เคหะภัณฑ์ ตำบลหนองผึ้ง อำเภอสารภี 1 ราย เป็นพนักงานขับรถส่งของ รวมผู้ติดเชื้อสะสมในกลุ่มนี้ 5 ราย , บริษัทนิ่มซี่เส็ง ท่าลี่ อำเภอจอมทอง 1 ราย รวมผู้ติดเชื้อสะสม 28 ราย , ครอบครัวหมู่ 6 ตำบลโป่งแยง อำเภอแม่ริม 3 ราย เป็นผู้สัมผัสผู้ติดเชื้อรายก่อนหน้า 1 ราย และอีก 2 ราย อยู่ระหว่างสอบสวนโรค