“ผู้ประกอบการร้านนวด”ยื่นฟ้องศาลแพ่งเอาผิดรัฐ200ล.-ชี้ล็อกดาวน์ไร้เยียวยา

“ผู้ประกอบการร้านนวด”ยื่นฟ้องศาลแพ่งเอาผิดรัฐ200ล.-ชี้ล็อกดาวน์ไร้เยียวยา

“ผู้ประกอบการร้านนวด”ยื่นฟ้องศาลแพ่งเอาผิดรัฐ200ล.-ชี้ล็อกดาวน์ไร้เยียวยา ลั่นคดีนี้จะเป็นเคสแรกในประวัติศาสตร์ที่รัฐจะต้องชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ประชาชน

ผู้ประกอบการร้านนวดเพื่อสุขภาพ นำโดย นายพิทักษ์ โยธา นายกสมาคมจารวีเพื่ออนุรักษ์นวดแผนไทย และนางอักษิกา จันทรวินิจ เจ้าของกิจการธรรญานวดเพื่อสุขภาพ เป็นโจทก์ฟ้องรัฐบาลร่วมกับกลุ่มผู้ประกอบการร้านนวดและสปาในกรุงเทพมหานครและจังหวัดในเขตพื้นที่สีแดงเข้ม เรียกร้องค่าเสียหายให้ผู้ประกอบการที่ได้รับความเดือดร้อนจากการถูกสั่งปิดสถานประกอบการร้านนวดตามคำสั่งของรัฐบาล ซึ่งที่ผ่านมาได้เรียกร้องไปหลายหน่วยงาน

 

นายพิทักษ์ โยธา เปิดเผยว่ากลุ่มผู้ประกอบการร้านนวดได้รับผลกระทบจากนโยบายสั่งปิดกิจการร้านนวดตั้งแต่ปี 2563 และถูกสั่งปิดต่อเนื่องทุกครั้งของการล็อกดาวน์ ซึ่งร้านนวดไม่เคยเป็นสถานที่เสี่ยงและไม่เคยมีผู้ติดเชื้อเกิดขึ้น แต่รัฐบาลก็ยังสั่งปิดร้านนวดทุกครั้ง จนผู้ประกอบการบางรายต้องปิดกิจการ จนถึงขณะนี้ยังไม่รับการเยียวยาจากภาครัฐเลยสักครั้ง และในวันนี้กลุ่มผู้ประกอบการได้เรียกร้องค่าเสียหายจากภาครัฐเป็นเงินจำนวน 200 ล้านบาท

ด้าน นางสาวศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวเพิ่มเติมว่า พรรคก้าวไกลเป็นตัวกลางยื่นฟ้องให้กลุ่มผู้ประกอบการ โดยกล่าวว่าการฟ้องในครั้งนี้เป็นการฟ้องแพ่งแบบรวมกลุ่มหรือ Class Action ครั้งแรก ซึ่งคดีดังกล่าวจะเป็นเพียงหมุดหมายประวัติศาสตร์แรก ที่รัฐบาลจะตัองรับผิดชอบต่อชีวิตของประชาชนและความเสียหายที่เกิดขึ้นของผู้ประกอบการ ทั้งๆที่เป็นมาตรการที่รัฐบาลสั่งแต่ไม่มีมาตรการที่จะมารองรับความเสียหายที่เกิดขึ้น

 

ซึ่งขณะนี้ผ่านมากว่าหนึ่งปีแล้วที่ผู้ประกอบการร้านนวดเหล่านี้ยังไม่เคยได้รับการเยียวยาจากภาครัฐเลย แต่ถ้าหากจะมาเยียวยาตอนนี้ก็สายเกินไปแล้ว เพราะไม่ได้สัดส่วนของความเสียหายที่เกิดขึ้น โดยต้องพึ่งศาลแพ่งว่าละเมิดกับประชาชนในการบริหารจัดการสถานการณ์โควิด-19 ที่ผิดพลาดขนาดนี้ ก็ต้องชดใช้ค่าเสียหายให้กับประชาชน

จากนั้นเราก็จะยื่นฟ้องสำหรับกลุ่มต่อๆไป ก็อาจเป็นนักดนตรี คนจัดงานอีเวนท์ ผู้ประกอบการร้านอาหาร ผับ บาร์ ญาติผู้เสียชีวิต กลุ่มแรงงานที่ถูกเลือกปฏิบัติจากมาตรการของรัฐที่มีการเลือกปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียม โดยเฉพาะอย่างยิ่งแรงงานต่างชาติ และผู้ที่ทำงานในแคมป์ก่อสร้างหรือโรงงานขนาดใหญ่

 

โดยการแบ่งการฟ้องเป็นกลุ่มๆ เพราะการได้รับผลกระทบของแต่ละกลุ่มนั้นมีลักษณะค่าเสียหายที่เอามาคำนวณต่างกัน อย่างไรก็ตาม ในท้ายที่สุดศาลอาจเห็นสมควรให้รวมคดีก็เป็นได้

 

ดังนั้น ตนจึงขอเรียนเชิญ ประชาชนและสื่อมวลชนติดตามการดำเนินคดีครั้งประวัติศาสตร์นี้ เพื่อเป็นบรรทัดฐานต่อไปในอนาคต ว่ารัฐบาลจะต้องดูแลรับผิดชอบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของทุกคนอย่างดีที่สุด อย่างเสมอภาคเท่าเทียม และไม่เลือกปฏิบัติ โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ประเทศเกิดวิกฤตเช่นนี้