เปิดแหล่งรายได้ ท่อน้ำเลี้ยงใหญ่ ‘ตาลีบัน’

เปิดแหล่งรายได้ ท่อน้ำเลี้ยงใหญ่ ‘ตาลีบัน’

"สหรัฐ" ใช้งบประมาณมหาศาลกว่า 8 พันล้านดอลลาร์ ในช่วงเวลากว่า 15 ปี เพื่อขวางกั้นอัฟกานิสถาน ออกจากเส้นทางการค้าฝิ่น และเฮโรอีน ที่ผิดกฎหมาย ตั้งแต่การกวาดล้างแหล่งเพาะปลูกฝิ่น ไปจนถึงการโจมตีทางอากาศ และจู่โจมห้องแล็บที่น่าสงสัย

ในทางเทคนิค ดูเหมือนจะล้มเหลว!!

ขณะนี้ สหรัฐยุติความขัดแย้งยาวนานที่สุดแล้ว แต่อัฟกานิสถานยังคงเป็น "แหล่งจัดหาฝิ่น และยาเสพติดผิดกฎหมายที่ใหญ่ที่สุดในโลก" ดูเหมือนว่าจะคงดำเนินต่อไป ตราบใดกลุ่มตาลีบันยังมีอิทธิในหลายพื้นที่ รวมถึงกรุงคาบูล

สำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานว่า  ในสถานการณ์ความขัดแย้งที่ผ่านมา ได้ทำลายล้างเมืองทั้งเมือง โดยที่ประชาชนนับแสนคนต้องกลายเป็นคนไร้บ้าน การช่วยเหลือจากนานาชาติถูกตัดขาด และขณะนี้กองกำลังระหว่างประเทศ นำโดยกองทัพสหรัฐ ได้ถอนทหารออกจากพื้นที่แล้ว ยิ่งเหมือนเติมเชื้อไฟให้กับความหายนะทางการเงิน และมนุษยธรรม ซึ่งมีแนวโน้มจะทำให้ชาวอัฟกันที่ยากจนจำนวนมากต้องดิ้นรน และเข้าไปพัวพันกับยาเสพติด เพื่อความอยู่รอด

กลุ่มติดอาวุธเข้ายึดครองกรุงคาบูล เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (15 ส.ค.) กลายเป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดให้กับกลุ่มผิดกฎหมายเตรียมสถานปนาตัวเองขึ้นมาอย่างเป็นทางการ

หากแต่ภายใต้สถานการณ์ที่ซับซ้อน กลับได้เห็นความพึ่งพาอาศัย ระหว่างกลุ่มติดอาวุธตาลีบัน ขุนศึกชาติพันธุ์ และเจ้าหน้าที่รัฐ ต่างทำการทุจริตแย่งชิงรายได้จากแหล่งยาเสพติด และพลังงานของประเทศ

รู้หรือไม่ว่า ในปี 2543 กลุ่มตาลีบันแบนการปลูกฝิ่นให้ได้ผลผลิตจำนวนมาก หวังเป็นเครื่องต่อรองด้านการค้าฝิ่น แต่สุดท้ายก็ต้องเปลี่ยนท่าที

เจ้าหน้าที่สหประชาชาติ และสหรัฐบางคน กลัวว่า อัฟกานิสถานจะเกิดกลียุค หันกลับไปพึ่งพาการผลิตฝิ่นที่ผิดกฎหมายเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นการสร้างประโยชน์ให้กับตาลิบัน 

“กลุ่มตาลิบันถือว่า การค้าฝิ่นในอัฟกานิสถานเป็นหนึ่งในแหล่งรายได้หลักของพวกเขา” ซีซาร์ กูดส์ เจ้าหน้าที่สำนักงานยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) กล่าวกับสำนักข่าวรอยเตอร์ส และระบุว่า การผลิตจำนวนมาก ทำให้ยาเสพติดมีราคาถูกลง และเข้าถึงได้มากขึ้น 

สหรัฐ และประเทศต่างๆ เลี่ยงจะเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะเกี่ยวกับขบวนการค้ายาเสพติดในอัฟานิสถาน ขณะที่ UNODC คาดการณ์ว่า "ฝิ่น และเฮโรอีนมากกว่า 80% ในโลก" มาจากที่นี่ 

ด้านเจ้าหน้าที่ของสหรัฐรายหนึ่ง กล่าวถึงการค้ายาเสพติดของอัฟกานิสถานว่า เราได้แต่ยืนอยู่ข้างสนาม โชคไม่ดีนักที่ตาลีบัน เป็นกลุ่มก่อการร้ายที่ไม่ได้รับทุนสนับสนุนมากที่สุดในโลก ทำให้พวกเขาต้องเดินเส้นทางนี้

ยาเสพติดเป็น “อุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ ยกเว้นสงคราม” บาร์เน็ตต์ รูบิน อดีตที่ปรึกษากระทรวงการต่างประเทศอัฟกานิสถานกล่าว

สำหรับชาวอัฟกัน ต้องคิดชั่งน้ำหนักมากมายว่า แต่ละปีจะตัดสินใจปลูกฝิ่นมากแค่ไหน แตกต่างจากการวางแผนปลูกข้าวสาลี และปลูกพืชเกษตรอื่นๆ ที่จะเป็นอาหารเลี้ยงปากท้อง 

หรือแม้ในฤดูแล้งเกิดขาดแคลนข้าวสาลี เมื่อข้าวสาลีมีราคาพุ่งสูงขึ้น แต่เกษตรกรชาวอัฟกัน ก็ยังปลูกฝิ่น และสกัดยางฝิ่น นำมากลั่นเป็นมอร์ฟีน และเฮโรอีน 

UNODC รายงานข้อมูลการผลิตฝิ่นปี 2560 อยู่ที่ 9,900 ตัน มูลค่าประมาณ 1.4 พันล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 7% ของจีดีพีของอัฟกานิสถาน

อย่างไรก็ตาม UNODC ประมาณการณ์รายได้จากมูลค่าการค้าฝิ่น และยาเสพติดเพื่อการส่งออกและการบริโภคในประเทศ ในระยะเวลา 12 เดือน มีมูลค่าสูงถึง 6.6 พันล้านดอลลาร์