ดีลวัคซีนคุณภาพดี ‘วัดฝีมือผู้นำรัฐบาล’

ดีลวัคซีนคุณภาพดี ‘วัดฝีมือผู้นำรัฐบาล’

เป็นที่ยอมรับกันทั่วโลกแล้วว่า วัคซีนเท่านั้นที่จะยุติการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ นานาประเทศจึงต้องเร่งหาวัคซีนมาฉีดให้กับประชาชนของตน ยิ่งฉีดได้เร็วเท่าไหร่ยิ่งเปิดประเทศได้เร็วเท่านั้น ส่งผลต่อเนื่องถึงการฟื้นฟูเศรษฐกิจ

เดิมทีมองกันแค่วัคซีนตัวไหนก็ได้ขอให้มีฉีด แต่ตอนนี้เริ่มมีคำถามเรื่องประสิทธิภาพตามมา ดังนั้นการที่ประเทศใดจัดหาวัคซีนที่มีประสิทธิภาพมาให้ประชาชนได้ย่อมเป็นมาตรวัดฝีมือผู้นำประเทศนั้นๆ ด้วย 

ญี่ปุ่น หนึ่งในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว จี7 แต่ฉีดวัคซีนช้าเนื่องจากค่อนข้างระมัดระวัง เริ่มนำวัคซีนโมเดอร์นามาทดลองทางคลินิกกับคนญี่ปุ่นเมื่อสิ้นเดือน ม.ค. ไล่เลี่ยกับข้อมูลที่ได้จากไฟเซอร์ โดยไฟเซอร์ได้รับอนุมัติให้ใช้ในญี่ปุ่นในวันที่ 14 ก.พ. ถือเป็นจุดเริ่มต้นการฉีดวัคซีนอย่างเป็นทางการ ที่เริ่มต้นช้าเพราะอยากแน่ใจจริงๆ ว่าปลอดภัย 

ท่ามกลางสถานการณ์ขาดแคลนวัคซีนและญี่ปุ่นต้องเป็นเจ้าภาพการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกในเดือน ก.ค. นายกรัฐมนตรีโยชิฮิเดะ ซูกะของญี่ปุ่นไปเยือนวอชิงตันเมื่อกลางเดือน เม.ย. พบปะกับประธานาธิบดีโจ ไบเดน ในวันที่ 16 เม.ย. คุยกันเสร็จก่อนกลับประเทศ นายกฯ ญี่ปุ่นปิดท้ายการเยือนด้วยการโทรศัพท์ไปหาอัลเบิร์ต เบอร์ลา ประธานคณะเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ไฟเซอร์ ขอให้ไฟเซอร์จัดหาวัคซีนเพิ่มเติมภายในเดือน ก.ย. และให้คำมั่นว่าการจัดส่งจะเป็นไปอย่างราบรื่น โดยรัฐบาลญี่ปุ่นมีแผนจัดหาวัคซีน 314 ล้านโดสครอบคลุมประชากรทั้งประเทศภายในสิ้นปีนี้ ในจำนวนนี้เป็นไฟเซอร์ 144 ล้านโดส ที่เหลือเป็นโมเดอร์นาและแอสตร้าเซนเนก้า 

วันที่ 23 ก.ค. ญี่ปุ่นทำพิธีเปิดโอลิมปิกโตเกียวเกมส์ งานนี้ซีอีโอไฟเซอร์มาร่วมด้วย นายกฯ ซูกะถือโอกาสที่ได้พบกันตัวต่อตัว ขอให้ไฟเซอร์เร่งส่งมอบวัคซีนให้ญี่ปุ่น งวดเดือน ต.ค.20 ล้านโดสขอให้ส่งก่อน 

เกาหลีใต้ เป็นอีกประเทศหนึ่งที่ฉีดวัคซีนช้า ช่วงปลายปี 2563 ที่หลายประเทศเริ่มทยอยฉีดกันแล้ว แดนโสมขาวบอกว่า ไม่รีบ ให้ประเทศอื่นลองฉีดกันไปก่อนแล้วรอดูผล แต่กลายเป็นว่ายุทธศาสตร์นี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ รัฐบาลต้องเร่งหาวัคซีนเป็นการใหญ่

วันที่ 6 ก.ค. สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า เกาหลีใต้ทำข้อตกลงแลกเปลี่ยนวัคซีนไฟเซอร์-ไบออนเทคกับอิสราเอล โดยขอยืมวัคซีนไฟเซอร์-ไบออนเทคราว 700,000 โดสที่อิสราเอลใช้ไม่ทันมาก่อน กำหนดส่งมอบในเดือน ก.ค.จากนั้นค่อยส่งวัคซีนไฟเซอร์-ไบออนเทคที่เกาหลีใต้สั่งไว้คืนให้กับอิสราเอลในเดือน ก.ย.และ ต.ค.

นายกรัฐมนตรีนัฟตาลี เบนเนตต์ของอิสราเอล แถลงว่า ข้อตกลงนี้“ได้ประโยชน์ด้วยกันทั้งสองฝ่าย เราจะเอาชนะโรคระบาดไปด้วยกัน”

ไต้หวันเป็นอีกหนึ่งกรณีศึกษาที่น่าสนใจ เกาะแห่งนี้ถูกจีนมองว่าเป็นมณฑลหนึ่งของตนจะผนวกเข้าเมื่อใดก็ได้ หากจำเป็นก็อาจถึงขั้นใช้กำลังเข้ายึด ใครคบจีนต้องใช้นโยบายจีนเดียว ไม่นับไต้หวันเป็นประเทศ จึงไม่แปลกที่ไต้หวันจะกล่าวหาว่า การที่ตนพยายามซื้อวัคซีนจากไบออนเทคมานานหลายเดือนแต่ซื้อไม่ได้เพราะถูกจีนกีดกัน 

 ปัญหานี้แก้ได้เมื่อฟอกซ์คอนน์และทีเอสเอ็มซี สองบริษัทเทคโนโลยีใหญ่จากไต้หวัน ประกาศเมื่อวันที่ 12 ก.ค.ว่า บรรลุข้อตกลงกับเซี่ยงไฮ้โฟซัน ฟาร์มาซูติคอลกรุ๊ป ตัวแทนจำหน่ายของไบออนเทคในประเทศจีน ซื้อวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของไบออนเทคบริษัทละ 5 ล้านโดสรวมเป็น 10 ล้านโดสมาบริจาคให้รัฐบาลไต้หวันนำไปฉีดประชาชนต่อไป ดีลนี้ซึ่งมีต้นทุนทางการเมืองด้วยราคาสูงถึง 350 ล้านดอลลาร์

ไม่เพียงเท่านั้นสองสัปดาห์ต่อมามูลนิธิพุทธฉือจี้ ทำข้อตกลงซื้อวัคซีนจากโฟซันอีก 5 ล้านโดส บริจาคให้รัฐบาลนำไปฉีดให้ประชาชน รวมวัคซีนที่ไต้หวันได้จากภาคเอกชน 15 ล้านโดส

อินเดีย ประเทศผู้ผลิตวัคซีนรายใหญ่สุดของโลกด้วยฝีมือของสถาบันเซรุมอินเดีย แต่กลับต้องประสบกับทุกขเวทนาแสนสาหัสระหว่างเดือน เม.ย.-พ.ค.ตอนที่สายพันธุ์เดลตาเล่นงาน เมื่อมีสัญญาณว่าเดือน ส.ค.จะมีวัคซีนไม่พอใช้ นายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดีจึงเร่งกระบวนการอนุมัติวัคซีนให้ง่ายขึ้น ส่งผลอินเดียมีวัคซีนป้องกันโควิดมากเกินคาด จากเดิมเดือน ส.ค.มีแค่ 150 ล้านโดส กลายเป็น 266.5 ล้านโดสทันตาเห็น

ทั้งหมดนี้คือตัวอย่างการจัดหาวัคซีนที่อาจจะยาก แต่ถ้าผู้นำรัฐบาลมีฝีมือก็สามารถจัดหามาได้