'ผู้ติดเชื้อโควิด-19' อาการหนัก-ใส่เครื่องช่วยหายใจพุ่งสูง 6,000 กว่าคน

'ผู้ติดเชื้อโควิด-19' อาการหนัก-ใส่เครื่องช่วยหายใจพุ่งสูง 6,000 กว่าคน

ยอดโควิด-19 พุ่ง 23,418 ราย เสียชีวิต 184 ราย ขณะที่ 'ผู้ติดเชื้อโควิด-19' อาการหนัก-ใส่เครื่องช่วยหายใจ 6,000 กว่าคน พร้อมเผยวัคซีน 'ไฟเซอร์' ขอย้ำไม่มีฉีดให้ VIP กระจายตามกลุ่มที่กำหนด

วันนี้ (13 ส.ค.2564) นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานสถานการณ์ประจำวันว่า พบ ผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ เพิ่มขึ้น 23,418 ราย แบ่งเป็น ผู้ติดเชื้อรายใหม่ 23,021 ราย ผู้ติดเชื้อในเรือนจำ 388 ราย และเดินทางมาจากต่างประเทศ 9 ราย  ยอดผู้ป่วยยืนยันสะสมระลอกใหม่เดือนเม.ย.2564 จำนวน 834,326 ราย

ส่วนภาพรวมตั้งแต่ปี 2563 มีผู้ป่วยยืนยันสะสม 863,189ราย มีผู้เสียชีวิตเพิ่มอีก 184 ราย ทำให้การระบาดระลอกใหม่ตั้งแต่เดือน เม.ย. 2564 มียอดผู้เสียชีวิตสะสมสูงถึง 7,032 รายแล้ว ขณะที่ภาพรวมของการเสียชีวิตจากสถานการณ์โควิด-19 มีผู้เสียชีวิตรวม  7,126 ราย

โดยวันนี้มี ผู้ป่วยหายกลับบ้าน  20,083ราย ทั้งนี้ มีผู้หายป่วยสะสมระลอกเดือน เม.ย.2564 จำนวน 616,458 ราย สำหรับผู้ป่วยรักษาอยู่ในโรงพยาบาล 212,179 ราย แบ่งเป็น ในรพ. 61,299 ราย และรพ.สนามและอื่นๆ 150,880 ราย อาการหนัก 5,565 ราย และใส่เครื่องช่วยหายใจ 1,111ราย

  • พบ'ผู้เสียชีวิต'ในกทม.ยังสูงอยู่  

สำหรับ ผู้ป่วยโควิด-19 เสียชีวิต 184  ราย มีดังนี้ กทม. 71  ราย  สมุทรสาคร 16 ราย  สมุทรปราการ 12 ราน ราชบุรี สุพรรณบุรี จังหวัดละ 7 ราย นครปฐม สระบุรี จังหวัดละ 6 ราย นราธิวาส 5 ราย ตาก ปราจีนบุรี จังหวัดละ 4 ราย ยะลา นครศรีธรรมราช อุบลราชธานี ขอนแก่น เพชรบูรณ์ ชัยนาท จังหวัดละ 3 ราย เลย อำนาจเจริญ กำแพงเพชร สิงห์บุรี นครนายก จังหวัดละ 2 ราย ปัตตานี ระนอง กาฬสินธุ์ ยโสธร ร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ พิษณุโลก อุทัยธานี จันทบุรี ชลบุรี ระยอง และประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดละ 1ราย

ปัจจัยเสี่ยง ได้แก่  ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง โรคไต โรคอ้วน หลอดเลือดสมอง โรคปอด โรคหัวใจ ติดเตียง ส่วนปัจจัยเสี่ยงต่อการติดเชื้อ ได้แก่ คนในครอบครัว คนอื่นๆ (ร่วมงาน ผู้ดูแล) อาศัย/ไปพื้นที่ระบาด ไปที่แออัด  อาชีพเสี่ยง  HCW (พยาบาล) และระบุได้ไม่ชัดเจน

ทั้งนี้ อายุ 60 ปีขึ้นไป 123 ราย (67%) อายุต่ำกว่า 60 ปี มีโรคเรื้อรัง 36 ราย (20%) ไม่มีโรคเรื้อรัง 23 ราย (12%) ตั้งครรภ์ 2 ราย (1%) ซึ่งในจำนวนนี้ พบว่า 87% ของผู้เสียชีวิตจะเป็นกลุ่มผู้สูงอายุและมีโรคเรื้อรัง     

ส่วน จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด  ในประเทศรายใหม่ วันที่ 13 ส.ค.2564 ใน 10 อันดับแรก ได้แก่ กทม. 5,140 ราย สมุทรปราการ 1,936 ราย สมุทรสาคร 1,847 ราย ชลบุรี 1,408 ราย นนทบุรี 731 ราย อุบลราชธานี 537  ราย  นครปฐม 532 ราย  บุรีรัมย์ 530 ราย สระบุรี 485 ราย และ พระนครศรีอยุธยา 484 ราย

  • 'คลัสเตอร์ใหม่' พบผู้ติดเชื้อเกือบ 200 คน

ขณะที่ คลัสเตอร์ใหม่ ที่ระบาดพบในจังหวัดที่มีรายงานผู้ป่วยเพิ่มขึ้น วันที่ 13  ส.ค.2564 มีดังนี้

จ.สมุทรสาคร พื้นที่เมืองสมุทรสาคร บริษัทผลิตกระป๋อง 16 ราย บริษัทเฟอร์นิเจอร์ 14 ราย และพื้นที่กระทุ่มแบน โรงงานทอผ้า 9 ราย

จ.ชลบุรี พื้นที่บ้านบึง บริษัทผลิตภัณฑ์อาหาร  12 ราย

จ.นนทบุรี พื้นที่บางใหญ่ บริษัทเสื้อผ้า 58 ราย

จ.นครปฐม พื้นที่สามพราน บริษัทเครื่องกีฬา 10 ราย

จ.ระยอง พื้นที่แกลง โรงงานอาหารทะเล 16 ราย 

จ.สุพรรณบุรี พื้นที่บางปลาม้า โรงงานน้ำแข็ง 17 ราย 

จ.ประจวบคีรีขันธ์ พื้นที่กุยบุรี โรงงานผลไม้กระป๋อง 14 ราย

จ.ตาก  พื้นที่พบพระ หอพักนักเรียน 13 ราย

จ.จันทบุรี พื้นที่เมืองจันทบุรี ค่ายตากสิน 19 ราย

 

  • 'ภาคอีสาน' มีผู้ติดเชื้อกลับภูมิลำเนามากที่สุด

ทั้งนี้ สำหรับลักษณะการติดเชื้อ โดยนำผู้ติดเชื้อกลับสู่ภูมิลำเนา ซึ่งเริ่มดำเนินการ  1 ก.ค.2564  พบว่าข้อมูลสะสม ณ วันที่ 12 ส.ค. ในเขตสุขภาพที่ 1-12 พบว่า 4 เขตสุขภาพ ในภาคอีสาน แบ่งเป็น เขตอีสานเหนือ คือ เขต 7 จำนวน 18,771 ราย  และเขต 8 จำนวน 19,750 ราย และเขตอีสานใต้ คือ เขต 9 จำนวน 27,394 ราย และเขต 10 จำนวน 17,120 ราย

อย่างไรก็ตาม ระบบสาธารณสุข ในต่างจังหวัดได้มีการดูแลพี่น้องอย่างดี และในภาคประชาสังคม วัด พระ ได้มีการช่วยเหลือ ใช้พื้นที่ของวัดให้กลายเป็นศูนย์พักคอยต่างๆ

ส่วน ผู้รับวัคซีน ข้อมูลตั้งแต่ 28 ก.พ.- 12 ส.ค. 2564 พบว่า มีผู้รับวัคซีนแล้ว 22,508,659โดส แบ่งเป็นเข็มที่ 1 จำนวน 17,239,593 ราย เข็มที่ 2 จำนวน 4,855,000 ราย เข็ม3 จำนวน 414,066 ราย 

  • ย้ำวัคซีน 'ไฟเซอร์' ไม่มีฉีดให้กลุ่ม VIP

นพ.เฉวตสรร นามวาท ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงการบริหารวัคซีน ไฟเซอร์ ที่ได้รับบริจาคมาประมาณ  1.5 ล้านโดส ว่าขอย้ำว่าไม่มีการฉีดให้แก่VIP  โดยขณะนี้ได้มีการจัดสรรโควตาวัคซีน 7 แสนโดส

สำหรับ บุคลากรทางการแพทย์ใน 77 จังหวัด พบว่า มีการจัดส่งแบ่งเป็น 2 รอบ โดยรอบแรก 442,800 โดส ซึ่งจัดส่งแล้ววันที่ 4-5 ส.ค.2564 และรอบที่สอง  257,200 โดส เริ่มทยอยส่งตั้งแต่วันที่ 8 ส.ค.2564 และคาดว่าจะส่งทุกพื้นที่ไม่เกิน 14 ส.ค.2564

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มีการฉีดวัคซีนโควิดของชาวต่างชาติที่อาศัยในประเทศไทย ข้อมูลระหว่างวันที่ 12 มี.ค.-30 ก.ค.2564 จำนวน 280,075 คน หรือ 5.72% ของจำนวนประชากรต่างชาติทั้งหมดในประเทศ

ส่วนในกลุ่มของนักเรียนไทยที่ต้องเดินทางไปศึกษาต่อต่างประเทศในปี 2564 พบว่า ขณะนี้มีผู้ที่ได้รับวัคซีนเข็มที่ 1 แล้ว จำนวน 1,630 คนและฉีดครบ 2 เข็ม 1,248 คน