BCH ชี้รายได้ครึ่งปีหลังโต เหตุผู้ป่วยโควิดพุ่ง-รพ.สปป.ลาวเปิดดำเนินการ

BCH ชี้รายได้ครึ่งปีหลังโต เหตุผู้ป่วยโควิดพุ่ง-รพ.สปป.ลาวเปิดดำเนินการ

“บางกอก เชน ฮอสปิทอล” เผยครึ่งหลังปี 64 รายได้ขยายตัวจากครึ่งแรก หลังผู้ป่วยตรวจหาเชื้อ-รักษาโควิดพุ่ง เล็งฉีดวัคซีนทางเลือกไตรมาส 4/64 พร้อมเปิดบริการโรงพยาบาลเกษมราษฎร์ฯ สปป.ลาว 19 ส.ค.นี้ หนุนผลดำเนินงานเติบโตเด่น

นายเฉลิม หาญพาณิชย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บางกอก เชน ฮอสปิทอล จำกัด (มหาชน) หรือ BCH เปิดเผยว่า บริษัทประเมินแนวโน้มผลการดำเนินงานครึ่งหลังปี 2564 คาดเติบโตต่อเนื่องจากครึ่งแรก เนื่องจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอก 3 รุนแรง สะท้อนผ่านจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นจำนวนมาก ส่งผลให้ผู้ป่วยที่เข้ามารับบริการตรวจหาเชื้อแบบ RT-PCR เพิ่มขึ้น “เท่าตัว” ในไตรมาส 2 ปี 2564 มาอยู่ที่ 6 แสนราย และยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องไตรมาส 3 ปี 2564 โดยคาดว่า ณ สิ้นไตรมาสนี้จำนวนผู้ตรวจหาเชื้อจะเพิ่มขึ้นมาอยู่ 7-8 แสนราย จากเดือนก.ค. มีผู้เข้ารับการตรวจเชื้อด้วยวิธีดังกล่าวแล้ว 2.7 แสนราย

ทั้งนี้ จากจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นส่งผลให้จำนวนผู้ป่วยที่ต้องเข้ารับการรักษาต่อเนื่องของโรงพยาบาลเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 1.5 หมื่นราย ล่าสุด บริษัทได้จัดหาเตียงเพิ่มอีก 1,800 เตียง เพื่อขยายความดูแลไปยังผู้ป่วยสีเหลืองและสีแดง ขณะที่ไตรมาส 4 ปี 2564 คาดว่าจะได้ปัจจัยหนุนต่อเนื่องจากการเริ่มฉีดวัคซีนทางเลือกยี่ห้อโมเดอร์นา ซึ่งจะเริ่มนำเข้ามาตั้งแต่เดือน ต.ค. 64 ไปจนถึงเดือน ม.ค. 2565 รวมทั้งสิ้น 2 ล้านโดส ซึ่งเป็นจำนวนที่โรงพยาบาลเอกชนร่วมกันจัดหา โดยจะทยอยส่งมอบ 40% และ 60% ตามลำดับ

นอกจากนี้ บริษัทได้ปัจจัยหนุนจากการเปิดดำเนินการโรงพยาบาลเกษมราษฎร์ อินเตอร์เนชั่นแนล นครหลวงเวียงจันทน์ สปป. ลาว ขนาด 254 เตียง ซึ่งเป็นการร่วมทุนกันระหว่างบริษัทและ บมจ.ราช กรุ๊ป (RATCH) โดยบริษัทถือหุ้น 68.47% บริษัท ราช-ลาว เซอร์วิส จำกัด ถือหุ้น 9.91% และผู้ถือหุ้นรายย่อยประเทศไทยและลาวถือหุ้นรวมกัน 21.62% โดยระยะแรกจะเริ่มให้บริการ 110 เตียง โดยคาดว่าจะเริ่มให้บริการตั้งแต่วันที่ 19 ส.ค. เป็นต้นไป

สำหรับกรณีที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้แจ้งปรับลดการเบิกค่าใช้จ่ายการตรวจคัดกรองโควิด-19 นายเฉลิม กล่าวว่า การปรับลดค่าตรวจซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค.เป็นต้นมา ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อผลการดำเนินงานของบริษัท เนื่องจากรายได้หลักยังมาจากจำนวนผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาต่อ นอกจากนี้ จำนวนผู้รับการตรวจที่เพิ่มขึ้นส่งผลให้กำไรขั้นต้นไม่ได้เปลี่ยนแปลงมากนัก ส่วนชุดตรวจแอนติเจนที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นกลับส่งผลให้การตรวจแบบ RT-PCR เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน เนื่องจากประชาชนต้องการตรวจซ้ำเพื่อยืนยันผลตรวจที่ได้จากชุดตรวจ