'ขยะอาหาร' ตัวการ 'ภาวะโลกร้อน' ที่หลายคนมองข้าม

'ขยะอาหาร' ตัวการ 'ภาวะโลกร้อน' ที่หลายคนมองข้าม

หลายคนอาจคาดไม่ถึงว่า หนึ่งในสาเหตุ 'ภาวะโลกร้อน' มาจาก 'ขยะอาหาร' ที่เราบริโภคกันอยู่ทุกวัน อาหารที่เหลือทิ้ง และถูกฝังกลบในดิน ก่อให้เกิด มีเทน ซึ่งส่งผลต่อโลกร้อนมากกว่า คาร์บอนไดออกไซด์ถึง 25 เท่า

“ขยะอาหาร” เป็นประเด็นสำคัญทั่วโลก องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) พบว่า แต่ละปีมีขยะอาหารทั่วโลกมากกว่า 2.5 พันล้านตัน อาหาร 40% ถูกทิ้งเป็นขยะ ขณะที่ไทยสร้างขยะ 27-28 ล้านตันต่อปี กว่าครึ่งหนึ่งเป็นขยะที่มาจากอาหารทั้งบริโภคไม่หมดและวัสดุที่ใช้ประกอบอาหาร

เมื่อจัดการไม่ถูกต้อง สิ่งที่ตามมาคือการปล่อย ก๊าซเรือนกระจก โดยเฉพาะการสะสมของเสียประเภทสารอินทรีย์ ทำให้เกิดมีเทน เป็นสาเหตุให้เกิด ภาวะโลกร้อน มากกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 25 เท่า

สัดส่วนของปัญหาก๊าซเรือนกระจกจากอาหารคิดเป็น 8-10% การบริหารจัดการจึงถือเป็นเรื่องสำคัญ มีความพยายามแก้ไขปัญหารวมถึงประเทศไทย ทั้งการนำเทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาใช้ อาทิ ในห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ที่มีเครื่องทำปุ๋ย หรือส่งต่อให้แก่เกษตรกรใช้ประโยชน์ สิ่งสำคัญ คือ นโยบาย และนโยบายจะนำปสู่การปฏิบัติให้เกิดผลรูปธรรมได้อย่างไร

“ขยะอาหาร” ซึ่งแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ “การสูญเสียอาหาร” (Food Loss) ตั้งแต่การผลิต ขนส่ง แปรรูป และ “ขยะอาหาร” (Food Waste) เกิดจากการสูญเสียจากค้าส่ง ค้าปลีก บริการ และบริโภค ทั้งนี้ ขยะอาหารเกิดขึ้นจาก 3 ปัจจัย ได้แก่ “อาหารเหลือทิ้ง” จากการมีปริมาณอาหารมากเกินไป อาหารไม่ถูกปาก “อาหารถูกคัดทิ้ง” ส่วนใหญ่เกิดจากการตกเกรด ขนาด สี รูปทรงไม่เป็นไปตามเกณฑ์ ไม่เป็นที่ต้องการของผู้บริโภค และ “อาหารเสื่อมสภาพ” จากการเก็บไว้นานเกินไป เก็บไม่เป็นระบบ ทำให้อาหารเสื่อมสภาพก่อนกำหนด รวมถึงอาหารหมดอายุ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

 

  • ขยะอาหาร ปัญหาระดับโลก

“เบญจมาส โชติทอง” ผอ.ฝ่ายพัฒนาโครงการและแผนงาน สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย กล่าวในงานเสวนา "สะท้อนนโยบาย สู่การขับเคลื่อนการจัดการขยะอาหาร" ผ่านระบบ ZOOM จัดโดย สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ร่วมกับ โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ และ กรุงเทพมหานคร โดยระบุว่า สังคมโลก เริ่มตื่นตัวในเรื่องขยะอาหารตั้งแต่ปี 2554 องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) นำเสนอข้อมูลว่า 1 ใน 3 ของอาหารที่ผลิตขึ้นทั่วโลกต้องสูญเสียและเป็นขยะอาหาร หลังจากนั้น ปี 2558 องค์กรสหประชาชาติ (UN) กำหนดเป้าหมายลดขยะอาหารในระดับค้าปลีก และผู้บริโภคลงครึ่งหนึ่งภายในปี 2573

  • ยุทธศาสตร์ตั้งเป้า ลดขยะอาหารของไทย

ถัดมา ในปี 2560 ประเทศไทย เริ่มมียุทธศาสตร์ชาติแผนปฏิรูปประเทศ ให้จัดทำยุทธศาสตร์และตั้งเป้าลดขยะอาหารพัฒนาระบบสนับสนุนการจัดการขยะ สิ่งที่น่าสนใจ คือ แผนขับเคลื่อนการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน เป็นแผนที่ล่อไปกับ SDG ที่ 12 ในเรื่องการกำจัดขยะอาหาร หลังจากนั้น ปี 2564 ประเทศไทยเริ่มมีแผนที่จับต้องได้หลายชิ้น โดยปี 2563-2564 มีกระแสเศรษฐกิจหมุนเวียนเข้ามาเป็นตัวขับเคลื่อนทำให้การกำจัดขยะอาหาร อยู่ภายใต้หลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน ไม่ว่าจะ BCG สาขาเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ ร่างแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 รวมถึง โรดแมป และแผนปฏิบัติการจัดการขยะอาหาร  

ข้อมูล จากสำนักสิ่งแวดล้อม กทม. พบว่า ปี 2563 กทม. มีขยะอาหารสัดส่วน 45.41% ขณะที่รายงาน Food waste index report (UNEP) ประมาณการว่า ขยะอาหารในปี 2562 มีปริมาณ 931 ล้านตัน โดย 61% มาจากครัวเรือน 26% มาจากภาคบริการอาหาร และ 13% มาจากการขายปลีก อัตราการเกิดขยะอาหารจากการบริโภคต่อคน ในกลุ่มประเทศรายได้สูงกับกลุ่มรายได้ปานกลาง มีความใกล้เคียงกันมาก พร้อมมีความเห็นว่าอาหารที่ผลิตขึ้นทั่วโลกอาจมการสูญเสียไปราว 17%

  • มาตรการบังคับ + แรงจูงใจ  

“ประเทศไทยส่งเสริมการจัดการขยะต้นทางมากกว่า 20 ปี แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จ ท้องถิ่นมีกฎหมายแต่ยังไม่บังคับใช้ อาทิ การเก็บค่าขยะในอัตราก้าวหน้า การควบคุมกลุ่มผู้ประกอบการจำหน่ายอาหาร การคัดแยกขยะ ขณะที่ กรณีต่างประเทศ เห็นได้ชัดว่าการมีมาตรการบังคับ ส่งผลให้ปริมาณ ขยะอาหาร ลดลงชัดเจน เช่น ฝรั่งเศส เมื่อปี 2559 มีกฎหมายห้ามร้านค้าทิ้งอาหารเหลือ แต่ต้องไปบริจาคแก่ธนาคารอาหาร หรือทำปุ๋ยหมัก เพื่อช่วยลดจำนวนขยะอาหาร ทำให้ฝรั่งเศสสามารถลดจำนวนขยะอาหารได้และยังเป็นประโยชน์กับคนยากไร้”

“ความร่วมมือของภาครัฐเอกชนเป็นเรื่องสำคัญ โดยเชื่อมโยงโรงแรม ร้านอาหารที่บริจาค ขยะอาหารกับเกษตรกร สนับสนุนการซื้อผักและผลไม้ที่ไม่ได้ตามเกณฑ์ และพัฒนาแอพฯ เชื่อมกลุ่มผู้ที่ต้องการและกลุ่มที่มีอาหารส่วนเกิน โดยประเด็นที่ต้องคำนึงถึง คือ การมีข้อมูลและเป้าหมายที่ชัดเจนระดับประเทศและระดับเมือง การปรับใช้เทคโนโลยีและมีทางเลือก”

“การใช้มาตรการบังคับควบคู่กับมาตรการจูงใจ เริ่มจากแหล่งกำเนิดขยะอาหารขนาดใหญ่ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคอย่างแนบเนียน การทบทวนอำนาจหน้าที่และศักยภาพของท้องถิ่น ในการดำเนินงานตลอดโซ่อุปทานอาหาร และสร้างความร่วมมือท้องถิ่น เอกชน และประชาชน ในหลายประเทศเมื่อทำเรื่องนี้ องค์กรสาธารณะประโยชน์ NGO เป็นตัวช่วยสำคัญ ไม่อยากให้มองข้าม” เบญจมาส กล่าว

162879286348

  • โควิด 'ขยะอาหาร' น้อยลง พลาสติกเพิ่ม

 

“อนุดา ทวัฒน์สิน” นักวิชาการสิ่งแวดล้อมชำนาญการ กองจัดการกากของเสียและสารอันตราย กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ระบุว่า ภาพรวมสถานการณ์ขยะของไทย ปี 2563 พบวิกฤติโควิด ปริมาณขยะอาหารลดน้อยลง แต่มีขยะพลาสติกมากขึ้น ข้อมูลขยะอาหาร คพ. แต่เดิมมีการศึกษาองค์ประกอบของขยะทั้งประเทศ ปี 2547 ขณะนี้ ได้ให้ทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำการศึกษารอบใหม่ เริ่มตั้งแต่ปี 2563 จนถึงปีนี้ อยู่ในช่วงการวิเคราะห์ผลแล็บบางส่วน คาดว่าปลายปีจะได้ผลตัวเลขออกมา

ข้อมูลเบื้องต้นพบว่า “ขยะอาหาร” จากแหล่งกำเนิดที่ครัวเรือน 43% มีการนำไปใช้ประโยชน์บางส่วนและที่เหลือถูกทิ้งเป็นขยะ 25% มีการคำนวนการทิ้งขยะของคนไทยอยู่ที่ 91.59 กก.ต่อคนต่อปี ใกล้เคียงกับมาเลเซีย หากดูค่าเฉลี่ยทั้งโลกอยู่ที่ 121 กก.ต่อคนต่อปี

ภายใน 10 ปี ไทยต้องลดลงมาครึ่งหนึ่งเหลือราว 45% ขณะที่ คพ. มีการยกร่างการจัดการขยะอาหารของประเทศ โดยมีการจัดการประชุมเมื่อเดือนที่ผ่านมา ตอนนี้มีการพูดคุยตั้งเป้าหมายสอดคล้องกับ SDG 12.3 คือ ลดขยะอาหาร 25% ในปี 2568 และ ปี 2573 ลดลงอีก 50% ทำการศึกษาปริมาณขยะอาหาร กระจายองค์ความรู้สู่ครัวเรือนในการถนอมอาหาร เก็บรักษาอาหาร รวมถึงการจับคู่ข้อมูลอาหารส่วนเกินหรือขยะอาหาร กับผู้ที่ต้องการใช้ประโยชน์ ปัจจัย แรงจูงใจ องค์ความรู้ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม แรงจูงใจด้านเศรษฐกิจเพื่อปรับพฤติกรรม รวมถึงกลไกการขับเคลื่อนทุกภาคส่วน

  • นโยบายจัดการขยะอาหาร กทม.

สถานการณ์โควิด-19 พบว่า ขยะอาหารน้อยลง โดย กทม. ในปี 2562 มีขยะอาหาร 48% ปี 2563 ช่วงต้นโควิดลดลงมาเหลือ 38% และ ม.ค. มี.ค. 64 อยู่ที่ราว 46% เนื่องจากมีการสั่งอาหารมาทานที่บ้าน การเก็บอาหารจึงสะดวกขึ้น

“วิรัตน์ มนัสสนิทวงศ์” ผอ.สำนักสิ่งแวดล้อม กทม. กล่าวว่า ปัจจุบัน กทม. มีความพยายามรณรงค์ให้เอกชนนำเทคโนโลยีมาใช้ในการกำจัดเศษอาหารในครัว โดยได้รับความร่วมมือจากเอกชนหลายแห่ง เช่น ห้างสรรพสินค้า ที่มีเครื่องผลิตปุ๋ย เป็นต้น รณรงค์ตลาดสดให้นำพืชผลต่างๆ มาทำปุ๋ย การคัดแยกขยะในชุมชน และการปลูกฝังเด็กในโรงเรียนสังกัด กทม. ไม่ทานอาหารเหลือ และนำขยะเศษอาหารไปใช้ประโยชน์เป็นปุ๋ย

“เศษอาหารในพื้นที่ใหญ่ๆ ในกทม. มีการกำจัดครบวงจร ไม่ว่าจะเป็นเกษตรกรมารับไปเป็นอาหารสัตว์ มีโรงกำจัดขยะ ที่มีการคัดแยกขยะเศษอาหารไปทำปุ๋ย และพยายามผลักดันให้มีการแยกขยะที่ต้นทาง เสนอแนวทางออกกฎหมาย มาตรการบังคับ และมาตรการจูงใจให้เกิดผลสัมฤทธิ์มากขึ้น สิ่งที่ยังเป็นช่องว่างอยู่ คือ ทำอย่างไรให้คนเกษตรกรรับรู้ว่าแหล่งไหนมีเศษอาหารเหลืออยู่ และนำไปใช้ประโยชน์ต่อได้” ผอ.สำนักสิ่งแวดล้อม กทม. กล่าว