‘เซ็นเทล’ ปรับกลยุทธ์ลงทุน-คุมเข้มต้นทุน โชว์สถานะการเงินแกร่งสู้วิกฤติโควิด!

‘เซ็นเทล’ ปรับกลยุทธ์ลงทุน-คุมเข้มต้นทุน  โชว์สถานะการเงินแกร่งสู้วิกฤติโควิด!

วิกฤติโควิด-19 ยังคงฉุดผลประกอบการครึ่งปีแรกของธุรกิจท่องเที่ยวและโรงแรมอย่างต่อเนื่อง หลังเกิดการระบาดยาวนานกว่า 1 ปีครึ่ง และมีแนวโน้มยืดเยื้อเกินคาด ส่งผลให้บริษัท โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา จำกัด (มหาชน) หรือ เซ็นเทล (Centel) ต้องปรับกลยุทธ์รับมือวิกฤติ

ด้วยการบริหารต้นทุน คุมค่าใช้จ่ายเข้ม รวมถึงแผนการลงทุนโรงแรมโครงการใหม่ๆ ในอนาคตให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด!

รณชิต มหัทธนะพฤทธิ์ รองประธานอาวุโสฝ่ายการเงินและบริหาร เซ็นเทล กล่าวในรายงานของบริษัทฯต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ว่า บริษัทฯมองว่าผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่ระลอกที่ 3 เป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ดังนั้น “การบริหารจัดการต้นทุนและค่าใช้จ่าย” รวมถึง “แผนการลงทุนอย่างมีประสิทธิภาพ” เป็นกลยุทธ์สำคัญภายใต้สถานการณ์ที่มีความไม่แน่นอน!! บริษัทฯได้ทำการควบคุมดูแลงบการลงทุนอย่างใกล้ชิด และให้อยู่ในระดับต่ำที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ทั้งนี้งบการลงทุนรวมสำหรับธุรกิจโรงแรม (รวมงบการปรับปรุงโรงแรมประจำปีและโครงการใหม่) ในปี 2564 รวมกว่า 2,600 ล้านบาท

“บริษัทฯยังคงแผนการลงทุนสำหรับโครงการโรงแรมใหม่ที่ดูไบ ญี่ปุ่น และการปรับปรุงโรงแรมที่เกาะสมุย แต่เลื่อนการลงทุนโครงการที่มัลดีฟส์ในส่วนของการก่อสร้างอาคารรีสอร์ท และโคซี่ เชียงใหม่”

สำหรับงบการลงทุนและแผนการเปิดโรงแรมที่สำคัญ มีการปิดปรับปรุงโรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ บีช รีสอร์ท สมุย จากเดิมเป็นโรงแรมระดับอัปเปอร์ อัปสเกล (Upper Upscale) เป็นโรงแรม “เซ็นทารา รีเซิร์ฟ สมุย” ระดับลักชัวรี (Luxury) กำหนดเปิดดำเนินการในไตรมาส 4 นี้ หลังปิดปรับปรุงตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย.2562 โดยงบใช้จ่ายการลงทุนอยู่ที่ประมาณ 600 ล้านบาทในปีนี้ นอกจากนี้ยังมีโรงแรม “เซ็นทารา มิราจ บีช รีสอร์ท ดูไบ” คาดว่าจะสามารถเปิดดำเนินการในไตรมาส 4 นี้เช่นกัน โดยงบใช้จ่ายการลงทุนประมาณ 800 ล้านบาทในปีนี้ ขณะที่โรงแรม “เซ็นทารา แกรนด์ โฮเทล โอซาก้า” คาดว่าจะเปิดดำเนินการในปี 2566 ใช้เงินลงทุนประมาณ 570 ล้านบาทในปีนี้

162869791088

“จากแนวโน้มธุรกิจโรงแรมในปีนี้ การฟื้นตัวของธุรกิจโรงแรมสะดุดลงจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ โดยเฉพาะแถบเอเชีย ประกอบกับแผนการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่ล่าช้ากว่ากำหนด ส่งผลให้บริษัทฯต้องมีการทบทวนแผนการปิดโรงแรมบางแห่งชั่วคราวในไตรมาส 3 นี้ เพื่อลดต้นทุนและค่าใช้จ่ายในการบริหารและจัดการให้เหลือน้อยที่สุด อย่างไรก็ดี บริษัทฯคาดว่าจะสามารถเปิดดำเนินการโรงแรมที่เป็นเจ้าของได้ทั้งหมดภายในไตรมาส 4 นี้ ทั้งนี้การเปิดหรือปิดโรงแรมอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ ขึ้นอยู่กับสถานการณ์การแพร่ระบาดเป็นสำคัญ”

โดย ณ วันที่ 30 มิ.ย.ที่ผ่านมา บริษัทฯมีโรงแรมภายใต้การบริหารงานทั้งสิ้น จำนวน 84 แห่ง (17,224 ห้อง) แบ่งเป็นโรงแรมที่เปิดดำเนินการแล้วทั้งสิ้น 44 แห่ง (7,819 ห้อง) และเป็นโรงแรมที่กำลังพัฒนา 40 แห่ง (9,405 ห้อง) โดยในส่วนของโรงแรม 44 แห่งที่เปิดดำเนินการแล้วนั้น โรงแรม 18 แห่ง (4,443 ห้อง) เป็นโรงแรมที่บริษัทฯเป็นเจ้าของ และ 26 แห่ง (3,376 ห้อง) เป็นโรงแรมที่อยู่ภายใต้สัญญาบริหาร

สำหรับผลประกอบการไตรมาส 2/2564 บริษัทฯมีรายได้รวม 2,690 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 354 ล้านบาท หรือคิดเป็น 15% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีที่แล้ว โดยสัดส่วนของรายได้จากธุรกิจโรงแรมอยู่ที่ 322 ล้านบาท คิดเป็น 12% ขณะที่รายได้จากธุรกิจอาหารอยู่ที่ 2,368 ล้านบาท คิดเป็น 88% โดยบริษัทฯขาดทุนสุทธิ 607 ล้านบาท ขาดทุนเพิ่มขึ้น 141 ล้านบาท หรือคิดเป็น 30% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีที่แล้ว

และเมื่อดูผลประกอบการ 6 เดือนแรกของปีนี้ บริษัทฯมีรายได้รวม 5,463 ล้านบาท ลดลง 1,475 ล้านบาท หรือลดลง 21% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยสัดส่วนของรายได้จากธุรกิจโรงแรมอยู่ที่ 822 ล้านบาท คิดเป็น 15% ขณะที่รายได้จากธุรกิจอาหารอยู่ที่ 4,641 ล้านบาท คิดเป็น 85% บริษัทฯขาดทุนสุทธิ 1,082 ล้านบาท ขาดทุนเพิ่มขึ้น 571 ล้านบาท หรือ 112% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว

หากโฟกัสเฉพาะธุรกิจโรงแรมจากผลประกอบการในงวด 6 เดือนแรกของปีนี้ที่บริษัทฯมีรายได้รวม 822 ล้านบาท ลดลง 1,114 ล้านบาท หรือลดลง 58% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว หลังอัตราการเข้าพักลดลงจาก 31% เป็น 13% และราคาห้องพักเฉลี่ยลดลง 20% อยู่ที่ 4,096 บาท ส่งผลให้รายได้ต่อห้องพักเฉลี่ย (RevPAR) ลดลง 68% อยู่ที่ 516 บาท ทั้งนี้ส่วนของธุรกิจโรงแรมขาดทุนสุทธิ 1,127 ล้านบาท ขาดทุนเพิ่มขึ้น 622 ล้านบาท หรือ 123% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว

ทั้งนี้บริษัทฯมีอัตราส่วนสภาพคล่องดีขึ้นจากสิ้นปี 2563 เป็น 0.7 เท่า อัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยต่อส่วนผู้ถือหุ้นลดลงเป็น 1.2 เท่า ดีขึ้นจากสิ้นปีก่อน จากการเพิ่มขึ้นของส่วนผู้ถือหุ้นเนื่องจากการตีราคาที่ดินเป็นสำคัญ และมีอัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ย (ไม่รวมหนี้สินตามสัญญาเช่า) ต่อส่วนผู้ถือหุ้น 0.7 เท่า นอกจากนี้บริษัทฯมีเงื่อนไขกับสถาบันการเงินเกี่ยวกับการรักษาอัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ย (ไม่รวมหนี้สินตามสัญญาเช่า) ต่อส่วนผู้ถือหุ้นอยู่ที่ 2.0 เท่า

อย่างไรก็ดี เนื่องด้วย “ความไม่แน่นอน” ในการฟื้นตัวของธุรกิจ บริษัทฯได้จัดเตรียมวงเงินกู้ทั้งระยะสั้นและระยะยาวที่สามารถเบิกถอนได้ประมาณ 8,300 ล้านบาท ณ วันที่ 30 มิ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งเพียงพอสำหรับการดำเนินงานภายใต้ความผันผวนของธุรกิจถึงไตรมาส 4 ปี 2565 ในการใช้ไปเพื่อการดำเนินงานบริหารจัดการค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน ค่าใช้จ่ายสำหรับลงทุนและดอกเบี้ยจ่าย (ไม่รวมดอกเบี้ยจ่ายตามมาตรฐานการรายงานทางการเงิน ฉบับที่ 16 เรื่อง สัญญาเช่า) รวมสุทธิเดือนละประมาณ 370-380 ล้านบาท ในขณะที่ธุรกิจอาหารยังคงสามารถสร้างกระแสเงินสดจากการดำเนินงาน รวมถึงเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดในมือเพียงพอในการดำเนินงานและการลงทุน