กลุ่ม ปตท.ลุย 'บีซีจี' รุกตลาดผลิตภัณฑ์ 'ไบโอ'

กลุ่ม ปตท.ลุย 'บีซีจี' รุกตลาดผลิตภัณฑ์ 'ไบโอ'

อุตสาหกรรมไบไอพลาสติกกำลังมีบทบาทมากขึ้น ซึ่งทำให้เกิดการสนับสนุนให้ลงทุนผลิตพอลิเมอร์ชีวภาพที่ย่อยสลายได้ ซึ่งมีส่วนช่วยให้ไทยมีคลัสเตอร์ด้านไบโอพลาสติก รวมถึงไบโอเคมีคอลในระยะยาว และยังเป็นไปตามแนวคิดการพัฒนาเศรษฐกิจแบบ BCG Economy Model

ที่ผ่านมาคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ส่งเสริมการลงทุนกิจการพลาสติกชีวภาพ โดยช่วง 6 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2558 ถึงไตรมาส 1 ปี 2564 บีโอไอส่งเสริมการลงทุนกิจการพลาสติกชีวภาพต้นน้ำถึงปลายน้ำ 31,000 ล้านบาท รวมทั้งเดือน พ.ค.2564 อนุมัติส่งเสริมการลงทุนให้ บริษัท เนเชอร์เวิร์คส์ เอเชีย แปซิฟิก จำกัด ผลิต Polylactic Acid (PLA) ซึ่งเป็นพอลิเมอร์ชีวภาพย่อยสลายได้และใช้งานได้หลากหลาย เช่น วัตถุดิบผลิตผลิตภัณฑ์ใส่อาหารเพื่อการบริโภค ถุงชา แคปซูลกาแฟ และบรรจุภัณฑ์อาหาร เส้นใยใช้ในงานพิมพ์ชิ้นงาน 3 มิติ ผลิตเส้นใยที่ผลิตผ้าอ้อม ผ้าเช็ดทำความสะอาด หน้ากากอนามัย รวมถึงอุปกรณ์ใช้ภายในบ้าน

สำหรับกำลังการผลิต PLA อยู่ที่ปีละ 75,000 ตัน ใช้วัตถุดิบการเกษตรในประเทศ ได้แก่ น้ำตาลปีละ 110,000 ตัน โครงการตั้งอยู่ที่ “นครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์” (NBC) จ.สวรรค์ ซึ่งเป็นโครงการไบโอคอมเพล็กซ์แห่งแรกของไทยที่สอดคล้องแนวทาง BCG

รวมทั้งขณะนี้มีความชัดเจนแล้วว่า บริษัท เนเชอร์เวิร์คส์ เอเชีย แปซิฟิก จำกัด ร่วมลงทุนผลิตพลาสติกชีวภาพ ชนิด PLA แห่งแรกในไทย และเป็นโรงงานแห่งที่ 2 ของเนเชอร์เวิร์คส์ ภายใต้ความร่วมมือกับกลุ่ม ปตท.

วานนี้ (10 ส.ค.) บริษัท GC International Corporation ซึ่งบริษัทย่อยของบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) (GC) ในกลุ่ม ปตท. และ บริษัท Cargill Incorporated ในฐานะผู้ถือหุ้นสัดส่วน 50% ในบริษัท NatureWorks LLC (NatureWorks) เดินหน้าสร้างโรงงานพลาสติกชีวภาพแบบครบวงจร เพื่อตอบสนองความต้องการใช้วัสดุที่ยั่งยืนให้ตลาดโลก ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการที่สนับสนุนโมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ BCG Economy Model (Bio-Circular-Green Economy) ที่จะช่วยผลักดันให้เศรษฐกิจเติบโตแบบก้าวกระโดด ยกระดับความสามารถในการแข่งขัน และขับเคลื่อนให้ไทยบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของโลก (SDGs) ตามเป้าหมายที่วางไว้

คงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC กล่าวว่า บริษัทฯ มีแผนทำธุรกิจตามแนวทางความยั่งยืนและหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เพื่อสร้างสมดุลและการเติบโตร่วมกันทั้งมิติเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม โดยขับเคลื่อนบนกรอบของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของโลก

“GC และ Cargill ในฐานะผู้ถือหุ้นของ NatureWorks ผู้ผลิตพลาสติกชีวภาพ PLA อันดับหนึ่งของโลก พร้อมเดินหน้าขยายการลงทุนในธุรกิจเคมีภัณฑ์ชีวภาพเพื่อสิ่งแวดล้อม”

ทั้งนี้ โรงงานพลาสติกชีวภาพแบบครบวงจรแห่งใหม่นี้ จะใช้เทคโนโลยีพลาสติกชีวภาพอันดับหนึ่งของโลกและใช้น้ำตาลจากอ้อยจากเกษตรกรในไทยเป็นวัตถุดิบ ซึ่งจะช่วยขยายฐานพันธมิตรในตลาด Bio-Polymer

รวมถึงการผลิตและการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อตอบสนองความต้องการการใช้วัสดุที่ยั่งยืน โครงการนี้มีมูลค่าการลงทุนมากกว่า 20,000 ล้านบาท เป็นโครงการแห่งแรกของไทยที่สอดคล้อง BCG Economy เพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขันและขยายโอกาสทางการค้าร่วมกับพันธมิตรต่าง ๆ ในเวทีโลก และสนับสนุนให้ประเทศไทยมีเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างมีเสถียรภาพ

162866045373

คอลลีน เมย์ President บริษัท Cargill’s Bioindustrial Group กล่าวว่า พร้อมจับมือ GC เพื่อสนับสนุนการขยายธุรกิจของ NatureWorks ด้วยการสร้างฐานการผลิตแห่งที่ 2 ซึ่งการลงทุนครั้งนี้จะมุ่งพัฒนาโซลูชันที่ยั่งยืนสำหรับลูกค้ากลุ่มอุตสาหกรรมชีวภาพทั่วโลก โดยโรงงานแห่งใหม่เป็นโรงงานพลาสติกชีวภาพ PLA ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมแห่งที่ 2 ภายใต้ชื่อการค้า Ingeo™ และจะต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มกับวัตถุดิบทางการเกษตรของไทย ตอบสนองการของตลาดที่ขยายตัว ซึ่งจะดำเนินการผลิตเชิงพาณิชย์ได้ในปี 2567

ไพโรจน์ สมุทรธนานนท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท โกลบอลกรีนเคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GGC ระบุว่า บริษัทฯ และบริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ KTIS เตรียมเดินหน้าสร้างนครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์ ระยะที่ 2 หลังจากที่บริษัท NatureWorks LLC ลงทุนโรงงานผลิตพลาสติกชีวภาพ PLA โดยเริ่มสร้างวันที่ 1 ม.ค.2565 

“โครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการนำร่องตามนโยบายมาตรการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพของไทย ที่ภาครัฐกำหนดให้ไทยเป็น Bio Hub ของเอเซียภายในปี 2570 และเป็นโครงการ Bio Hub แห่งแรกของไทย” 

สำหรับโครงการนครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์ระยะที่ 2 มีมูลค่าโครงการจำนวน 1,430 ล้านบาท ประกอบด้วย โครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลเพื่อป้อนไฟฟ้า รวมถึงระบบผลิตไอน้ำ ผลิตน้ำ บำบัดน้ำเสียให้กับโครงการของ NatureWorks ซึ่ง GGC ยังมีโครงการลงทุนทางด้านเคมีชีวภาพอื่นที่จะลงทุนในไบโอคอมเพล็กซ์ โดยเปิดรับการลงทุนจากนักลงทุนอื่นที่สนใจลงทุนในธุรกิจชีวภาพ

162866047434

อภิชาติ นุชประยูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายธุรกิจชีวภาพ กลุ่มบริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า โครงการนครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์ช่วยสร้างงานสร้างรายได้ในภาวะที่แรงงานจำนวนมากได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 และด้านสิ่งแวดล้อมจะเห็นได้ชัดเจนมากตั้งแต่กระบวนการผลิตของโรงงานหีบอ้อยและโรงงานเอทานอลที่ใช้เทคโนโลยีใหม่ล่าสุด

ส่วนความคืบหน้าโครงการนครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์ในเฟส 1 ซึ่งเป็นการก่อสร้างโรงงานเอทานอล กำลังการผลิต 6 แสนลิตรต่อวัน มูลค่าโครงการ 7,500 ล้านบาท ขณะนี้การก่อสร้างจะเสร็จตามแผนปลายปีนี้ และเริ่มผลิตต้นปี 2565