เทรนด์โลกดึงพลังงานขาขึ้น เร่งลดกระทบค่าครองชีพ

เทรนด์โลกดึงพลังงานขาขึ้น เร่งลดกระทบค่าครองชีพ

การแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้า มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในหลายประเทศและการขยายมาตรการล็อกดาวน์ ขณะที่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจและอุปสงค์น้ำมันในสหรัฐ ยังมีความไม่แน่นอน

รวมถึงความกังวลต่อเศรษฐกิจจีน หลังดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิต (PMI) ในเดือน ก.ค. 2564 ลดลง 0.5 จุด เนื่องจากต้นทุนวัตถุดิบสูงขึ้นและเกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจลดลง

ทีมวิเคราะห์ตลาดต่างประเทศ หน่วยธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้นำปัจจัยเหล่านี้ มาวิเคราะห์ทางเทคนิคราคาน้ำมันดิบICE Brentระยะสั้นสัปดาห์นี้ จะอยู่ระหว่าง 72– 77 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

แม้ว่าแนวโน้มราคาน้ำมันดิบในปีนี้ จะสูงขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา แต่ในระยะสั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องประเมินว่า คงยังขึ้นไปแตะระดับ 80 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลไม่ง่ายนัก

สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ระบุว่า กระทรวงพลังงาน ยังติดตามสถานการณ์ราคาพลังงานอย่างใกล้ชิด และพยายามรักษาเสถียรภาพราคา โดยยังยึดหลักการของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในการเข้ามาดูแลราคา ซึ่งหากราคาน้ำมันสูงเกินระดับที่ตั้งไว้ก็จะใช้กลไกกองทุนฯเข้าไปดูแล เพื่อลดผลกระทบกับประชาชนผู้ใช้น้ำมัน

ขณะที่เรื่องของค่าไฟฟ้า ภาครัฐก็ยังดูแลให้ ผ่านมาตรการส่วนลดค่าไฟ และเรื่องของก๊าซหุงต้ม(LPG) ที่ 318 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม ก็ยังดูแลราคาต่อไป รวมถึงการช่วยเหลือราคาพลังงานผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐก็ยังดูแลเช่นกัน

“การกู้เงินของกองทุนน้ำมันฯ เพื่อนำมาดูแลเสถียรภาพราคาในอนาคต ก็อยู่ในอำนาจอยู่แล้ว ไม่ได้มีประเด็นอะไร แต่ขอดูระยะเวลาที่เหมาะสม เพราะตอนนี้ ราคา LPG เป็นขาขึ้น ก็ต้องดูว่าจะลากยาวอย่างไร”

ส่วนความเป็นไปได้ในการขยายระยะเวลามาตรการช่วยส่วนลดค่าไฟฟ้าที่จะสิ้นสุดในสิ้นเดือนส.ค.นี้ ยอมรับว่า เป็นเรื่องที่ดำเนินการได้ แต่ไม่อยากให้เกิดขึ้น เพราะรัฐบาลคาดหวังให้การควบคุมโควิด-19 เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และรัฐบาลพร้อมออกมาตรการเยียวยาผลกระทบให้กับประชาชน

162858706459

ส่วนแนวทางในการลดการจัดเก็บเงินส่งเข้ากองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ที่ปัจจุบันจัดเก็บอยู่ที่ 10 สตางค์ต่อลิตร เพื่อนำไปลดต้นทุนราคาน้ำมันนั้นในอนาคตนั้น ก็ยังมีความเป็นไปได้ ซึ่งยังต้องรอเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการฯ (บอร์ดกองทุนฯ) ในเร็วๆนี้ เพื่อพิจารณาลดการจัดสรรเงินกองทุนฯในปี 2565 แต่ในส่วนนี้ ก็ต้องเข้าใจวัตถุประสงค์ของการเก็บเงินที่จะต้องไม่กระทบต่อแผนส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานให้ได้ไม่น้อยกว่า 30% ด้วย

ก่อนหน้านี้ กระทรวงพลังงาน ได้สั่งกำชับให้สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) และสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) ติดตามสถานการณ์ราคาน้ำมันและLPGอย่างใกล้ชิด ขณะเดียวกันกระทรวงพลังงาน ยังยึดหลักการดูแลราคาน้ำมันดีเซล ไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร เพื่อไม่ให้เกิดภาระต่อประชาชนผู้ใช้น้ำมันและต้นทุนการขนส่งสินค้า

อีกทั้ง ทาง สกนช. ยังได้เตรียมแผนการกู้เงิน 20,000 ล้านบาท สำหรับรับมือกรณีที่กองทุนน้ำมันฯต้องรับภาระดูแลราคา LPG และราคาน้ำมัน จนส่งผลกระทบต่อสถานะกองทุนฯในอนาคตด้วย 

162858715526

คมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ในฐานะโฆษก กกพ. ระบุว่า การดูแลค่าไฟฟ้าไม่ให้เป็นภาระต่อประชาชนในช่วงวิกฤตโควิด-19 นั้น กกพ.ได้มีมติให้ตรึงค่าไฟฟ้าผันแปร (ค่าเอฟที) สำหรับการเรียกเก็บค่าไฟฟ้าในรอบเดือนกันยายน – ธันวาคม 2564 โดยให้เรียกเก็บที่ -15.32 สตางค์ต่อหน่วย ส่งผลให้ผู้ใช้ไฟฟ้ายังคงจ่ายค่าไฟฟ้าเท่าเดิมในอัตรา 3.61 บาทต่อหน่วย ต่อไปจนถึงสิ้นปี

“ราคาก๊าซฯ ขณะนี้อยู่ในช่วงขาขึ้น ตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้นจากปริมาณความต้องการการใช้น้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นจากสถานการณ์การเริ่มฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ขณะที่เงินบาทอ่อนค่าลงก็เป็นผลลบต่อราคาพลังงาน”

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในปี 2565 จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกแล้ว ประเทศไทยจะเข้าสู่ภาวะราคาพลังงานขาขึ้น ทำให้ค่าไฟฟ้าผันแปร (ค่าเอฟที)ในปี 2565 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

ดังนั้น การบริหารค่าเอฟทีในปี 2565 จะเป็นไปในทิศทางเพื่อสร้างให้ค่าไฟฟ้ามีเสถียรภาพ โดยขณะนี้ กกพ.ยังมีเงินเหลืออีกกว่า 2,000 ล้านบาท ที่จะนำมาบริหารจัดค่าไฟฟ้าในอนาคต แต่ก็ไม่มั่นใจว่าจะเพียงพอหรือไม่ เพราะยังต้องดูหลายปัจจัยในขณะนั้นด้วย 

162858720362

ฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า แม้โควิด -19 จะส่งผลต่อภาพรวมเศรษฐกิจไทย แต่การส่งออกสินค้าเกษตรไทย ยังขยายตัวได้ดี ตามเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า ถือว่าเป็นอีกแรงสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยให้ขยายตัวได้ โดยช่วงครึ่งแรกของปี 2564 (เดือนม.ค.- มิ.ย.)มีมูลค่า716,581 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.1 % สินค้าสำคัญ ได้แก่ มันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์ ยางพารา เนื้อไก่และผลิตภัณฑ์ กุ้งและผลิตภัณฑ์ และน้ำมันปาล์ม โดย ตลาดส่งออกหลักที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป

ทั้งนี้ จากการวิเคราะห์ผลกระทบโควิด-19พบว่าภาคเกษตรได้รับผลกระทบจากโควิด-19 น้อยที่สุด เมื่อเทียบกับ ภาคอื่น ๆโดย

ผลกระทบที่ได้รับมีสาเหตุหลักมาจากกำลังซื้อของผู้บริโภคต่อสินค้าเกษตรที่อ่อนตัวลง เพราะมาตรการ ที่ป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19โดยผลวิเคราะห์พบว่ากรณีโควิด-19 กระทบ 5 เดือน (เม.ย.-ส.ค. 2564) มูลค่าทางเศรษฐกิจการเกษตรในส่วนของการบริโภคสินค้าเกษตรในประเทศ จะลดลงรวมทั้งสิ้น13,895 ล้านบาท

เมื่อพิจารณาถึงผลกระทบจากโควิด-19 ที่มีต่อสาขาการผลิตทางการเกษตร 5 อันดับแรก (กรณี 5 เดือน) พบว่าสาขาการผลิตที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือ การทำสวนผัก มูลค่าทางเศรษฐกิจลดลง 3,049 ล้านบาท รองลงมา คือ การทำสวนผลไม้ มูลค่าลดลง 2,061 ล้านบาท การทำนา มูลค่าลดลง 2,038 ล้านบาท การประมงทะเลและการประมงชายฝั่ง มูลค่าลดลง 1,007 ล้านบาท และการเลี้ยงสัตว์ปีก มูลค่าลดลง 908 ล้านบาท ตามลำดับ เนื่องจากโครงสร้างการบริโภคของประเทศไทย มีสัดส่วนค่าใช้จ่ายในการบริโภค ผัก ผลไม้ และข้าว มากที่สุด

162858725997

อย่างไรก็ตาม ภาคเกษตร เป็นภาคสำคัญที่รองรับการย้ายคืนถิ่นในช่วงการระบาดโควิด-19 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแรงงานเมือง และความรู้และเทคโนโลยี จึงถือเป็นการสร้างโอกาสการเปลี่ยนแปลงในภาคเกษตรและเร่งกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาคให้เกิดขึ้นจริงได้ เพราะกลุ่มแรงงานคืนถิ่นรุ่นใหม่กลุ่มนี้ จะเพื่อเป็นกำลังสำคัญทั้งการสร้างมูลค่าใหม่ทางการเกษตร มูลค่าเพิ่มจากการแปรรูปเกษตรอย่างง่าย รวมทั้งพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงเกษตรและสุขภาพ

ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เตรียมแนวทางดำเนินนโยบายทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เพื่อสนับสนุนการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ ตลอดจนผลักดันนโยบายดังกล่าวให้เป็นรูปธรรม โดยเฉพาะการพัฒนาและปรับทักษะแรงงาน (upskill/reskill) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับเศรษฐกิจดิจิทัล (Smart Farm) ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและผลกระทบต่อเศรษฐกิจ (economic shocks) ในอนาคตได้

“โควิดระลอกนี้เสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลัง ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2564 มีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวช้าลง จะขยายตัวเพียง 0.7% เท่านั้นขณะที่ภาวะเศรษฐกิจการเกษตร(จีดีพี เกษตร)ในไตรมาส 2 ปี 2564 สศก. พบว่า ขยายตัว 1.2%