เช็ค! 3 ช่องทางแจ้ง 'บุคลากรฯด่านหน้า' ตกหล่นฉีดวัคซีน 'ไฟเซอร์'

เช็ค! 3 ช่องทางแจ้ง 'บุคลากรฯด่านหน้า' ตกหล่นฉีดวัคซีน 'ไฟเซอร์'

สธ.เผยกระจายวัคซีน "ไฟเซอร์" ไป 13 จังหวัดแดงเข้มแล้ว ฉีด 3 กลุ่มเป้าหมายหลัก พร้อมแจงอีกรอบเกณฑ์จัดส่งสำหรับบุคลากรรอบแรกไม่เกิน 75 % ก่อน ที่เหลือส่งรอบ 2 ส่วนบุคลากรตกหล่นแจ้งสสจ.-สำนักอนามัย-สบส.

เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 10 สิงหาคม 2564 ในการแถลงสถานการณ์โควิด 19 ของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ประเด็นการบริหารจัดการและการฉีดวัคซีน "ไฟเซอร์" นพ.เฉวตสรร นามวาท ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวว่า วันที่ 9 ส.ค.2564 มีการส่งวัคซีนไฟเซอร์ไปยังรพ.ใน 13 จังหวัดสีแดงเข้มแล้ว คือ กรุงเทพฯ สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี สมุทรสาคร นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส  สำหรับฉีดเป็นเข็มที่ 1 ให้กับผู้สูงอายุ กลุ่ม 7 โรคเรื้อรังที่มีอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป และหญิงตั้งครรภ์ที่มีอายุครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไปที่ยังไม่เคยได้รับวัคซีนโควิด 19 ชนิดในมาก่อน และอีก 3 สัปดาห์นัดฉีดเข็มที่ 2

นพ.เฉวตสรร กล่าวอีกว่า ส่วนกรณีที่จัดสรรให้บุคลากรทางการแพทย์ ขอยืนยันว่าเป้าหมายในการบริหารจัดการวัคซีนไฟเซอร์สำหรับบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้าที่ประสงค์ได้รับวัคซีนนี้จะได้รับทุกรายตามเกณฑ์  ขอได้โปรดอย่าคิดว่าเกณฑ์จะเป็นอุปสรรคในการเข้าไม่ถึง ซึ่งในหลักวิชาการก็ต้องข้อพิจารณาว่ากรณีใดมีความเหมาะสมในการฉีด ร่วมกับข้อมูลที่ได้มีการสำรวจจากต้นสังกัด และหน่วยบริการต้องมีความพร้อมและมั่นใจว่าการดำเนินการได้ตามมาตรฐานในระดับที่วัคซีนฉีดไปแล้วยังได้ผลดี ทั้งเรื่องการเก็บ และการเตรียมวัคซีนสำหรับฉีด

        

   

 

นพ.เฉวตสรร กล่าวอีกว่า สำหรับบุคลากรที่ยังไม่ได้วัคซีนในรอบส่งรอบแรกนี้ หรือมีการตกหล่น ขอให้แจ้งเพิ่มเติมที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด(สสจ.) สำนักอนามัยกรุงเทพมหานคร เพื่อส่งข้อมูลมายังกระทรวงสาธารณสุข ส่วนคลินิกเอกชนแจ้งที่กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ( สบส.) ซึ่งวัตถุประสงค์เพื่อให้บุคลากรฯด่านหน้าที่มีความประสงค์จะรับวัคซีนได้รับตามเกณฑ์ทุกราย และไม่มีวัคซีนที่สูญหาย มีความโปร่งใส่ตรวจสอบได้  

ส่วนกรณีรพ.ขอนแก่น และรพ.สนามธรรมศาสตร์ ที่ระบุว่ารอบแรกของการจัดส่งได้รับไปไม่เพียงพอตามจำนวนนั้น ในการจัดส่งรอบ 2ก็ได้มีการจัดส่งไปครบถ้วนแล้ว ซึ่งในการประชุมร่วมผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ไปยังจังหวัดต่างๆนั้น มีการแจ้งตั้งแต่แรกแล้วว่าจะมีการจัดส่งเป็นรอบๆ ไม่ใช่จัดส่งครั้งเดียว เพราะการจัดเก็บและการนำมาผสมเพื่อฉีดวัคซีนนี้นั้นยากกว่าวัคซีนอื่น  เพราะฉะนั้นอย่าด่วนสรุปว่าได้วัคซีนไม่ครบ

ถามถึงกรณีบางจังหวัดมีบุคลากรโพสต์ในโซเชียลมีเดียว่าได้รับการจัดสรรวัคซีนน้อยกว่ารายชื่อที่ส่งเข้ามานั้น นพ.เฉวตสรร กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ของรพ.ที่เข้าประชุมร่วมกับสธ.รับทราบแนวทางการจัดส่งดีว่าไม่ได้มีการจัดส่งครั้งเดียวและมีเกณฑ์การจัดส่งอย่างไร เพราะรู้ดีว่าการสำรวจรอบแรกมักจะมีการตกหล่น แต่บุคลากรหรือบุคคลภายนอกอาจจะไม่ทราบรายละเอียด โดยในหลักเกณฑ์ที่จะดูว่าจัดสรรเท่าไหร่นั้น จะดูฐานข้อมูลว่าบุคลากรมีการการฉีดวัคซีนโควิด19เท่าไหร่ ร่วมกับข้อมูลที่ต้นสังกัดสำรวจว่าบุคลากรที่มีวัตถุประสงความประสงค์จะรับวัคซีนไฟเซอร์มีจำนวนเท่าไหร่

ถ้ามีการแจ้งมาในจำนวนของบุคลากรที่จะรับวัคซีนไฟเซอร์ต่ำกว่า 50 %จะจัดสรรในประมาณ 50% เต็มไปให้ เ แต่ถ้าแจ้งมาระหว่าง 50-75% ก็จะจัดส่งให้ตรงตามเปอร์เซ็นต์ที่แจ้งมา แต่ถ้าเกิน 75 %จะส่งให้เบื้องต้นก่อน 75 % เพราะฉะนั้นจังหวัดที่ยังได้รับวัคซีนไม่ครบ 100 %นั้น แสดงว่าเป็นจังหวัดที่มีรายชื่อส่งเข้ามามากกว่า 75 % และจะมีการจัดส่งเพิ่มเติมในรอบถัดไป หากใครยังมีรายชื่อตกหล่นขอให้แจ้งหน่วยงานต้นสังกัด  ยืนยันว่าบุคลากรที่ต้องการรับจะได้รับตามเกณฑ์ทุกราย

    นพ.เฉวตสรร กล่าวอีกว่า  สำหรับการฉีดวัคซีนโควิด 19 ของประเทศไทย เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2564 มีการฉีดเพิ่มขึ้น 501,330 โดส ฉีดสะสม 21,171,110 โดส แยกเป็นเข็มที่ 1 จำนวน 16,336,743 ราย  เข็มที่  2 จำนวน 4,566,345 ราย และเข็มที่ 3 จำนวน 268,022 ราย โดยในเข็มที่ 3 เป็นวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 185,029 ราย และไฟเซอร์ 82,993 ราย