แก้ปัญหาโควิด-19 อย่าให้วิกฤติซ้อนวิกฤติ

แก้ปัญหาโควิด-19  อย่าให้วิกฤติซ้อนวิกฤติ

หวังว่ารัฐบาลคงไม่เพิกเฉยกับเสียงร้องดังกล่าวจนทำให้เกิดปัญหาเหมือนกับการจัดหาวัคซีนที่ต่ำกว่าเป้าหมาย รวมทั้งต้องหาทางป้องกันไม่ให้เกิดวิกฤติซ้อนวิกฤติขึ้นมากจนประเทศไทยก้าวข้ามวิกฤติครั้งนี้ไปไม่ได้

การบริหารจัดการสถานการณ์วิกฤติเป็นบททดสอบสำคัญที่ผู้นำทุกระดับต้องเจอ ซึ่งประเทศไทยเจอสถานการณ์วิกฤติมาแล้วหลายครั้งในรอบ 10 ปี เช่น สถานการณ์น้ำท่วมใหญ่ในปี 2554 สถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง จนมาถึงสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ที่นับเป็นวิกฤติครั้งยิ่งใหญ่ของประเทศ ซึ่งรัฐบาลจำเป็นต้องมีการวางยุทธศาสตร์การแก้ปัญหาที่ชัดเจน เพื่อไม่ให้วิกฤติถลำลึกไปมากกว่านี้ โดยวิธีการทำงานเดิมที่ไม่ได้ผลก็ต้องปรับเปลี่ยนให้ทันสถานการณ์

ในช่วงครึ่งหลังของปี 2563 รัฐบาลพึงพอใจกับความสามารถในการรับมือการระบาดของโรคโควิด-19 รวมถึงการได้รับการยกย่องจากต่างชาติ โดยในเดือน เม.ย.2563 คณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ เห็นชอบแผนการเข้าถึงวัคซีนโควิด 19 ของประชากรไทย และในเดือน พ.ย.2563 คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบโครงการจัดหาวัคซีนโดยการจองล่วงหน้ากับแอสตร้าเซนเนก้า 26 ล้านโดส ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการจัดหาวัคซีนของประเทศไทย

ปัจจุบันประเทศไทยฉีดวัคซีนได้ยอดสะสมถึงวันที่ 8 ส.ค.2564 อยู่ที่ 20.6 ล้านโดส ในจำนวนนี้รวมทั้งการฉีดเข็มที่ 1-3 ซึ่งยังไม่เพียงพอที่จะสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ในระยะอันใกล้ ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าการจัดหาวัคซีนของภาครัฐที่อยู่ภายในการบริหารแบบ “ซิงเกิล คอมมาน” ของนายกรัฐมนตรีไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ในขณะที่การหาวัคซีนทางเลือกยังไม่ได้ปริมาณที่เพียงพอถึงแม้ว่าที่ผ่านมาหลายฝ่ายจะเสนอตัวขอเข้ามาช่วยเหลือในการจัดหาวัคซีน

ส่วนระบบสาธารณสุขที่กำลังรับมือกับผู้ป่วยสะสมที่เกือบจะล้นระบบยังต้องประคองสถานการณ์ไปเรื่อยๆ ซึ่งการติดเชื้อของผู้ป่วยรายใหม่ต่อวันที่มีการประเมินว่าอาจขึ้นไปสู่ระดับ 3-4 หมื่นคน เป็นประเด็นที่ต้องพิจารณาว่าเป็นกรณีที่แย่ที่สุดหรือยัง และถ้ายังไม่ถึงจุดที่เรียกว่ากรณีที่แย่ที่สุด หรือ Worst case ก็จะต้องวางแผนเพื่อรองรับกรณีที่แย่ที่สุดไว้ เพื่อให้รัฐบาลมีโมเดลในการรับมือแต่ละปัญหาที่สามารถหยิบมาใช้ได้ทันกาล โดยไม่ปล่อยให้ปัญหาเตียงผู้ป่วยขาดจนระบบสาธารณสุขล้มเหลว

จำนวนผู้ป่วยสะสมของการระบาดระลอกปัจจุบันที่นับตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.2564 ถึงวันที่ 9 ส.ค.2564 มีจำนวน 747,248 คน และมีผู้ที่ต้องรักษาตัวที่บ้านจำนวนมากขึ้น รวมถึงมีความต้องการใช้ยารักษาในปริมาณที่มากขึ้น ซึ่งมีเสียงเตือนถึงการเปิดเสรีนำเข้ายาแล้ว และหวังว่ารัฐบาลคงไม่เพิกเฉยกับเสียงร้องดังกล่าวจนทำให้เกิดปัญหาเหมือนกับการจัดหาวัคซีนที่ต่ำกว่าเป้าหมาย รวมทั้งต้องหาทางป้องกันไม่ให้เกิดวิกฤติซ้อนวิกฤติขึ้นมากจนประเทศไทยก้าวข้ามวิกฤติครั้งนี้ไปไม่ได้