ยอดหนี้ค้างไม่เกิน3เดือนแบงก์รัฐพุ่งกว่า2.3แสนล้าน

ยอดหนี้ค้างไม่เกิน3เดือนแบงก์รัฐพุ่งกว่า2.3แสนล้าน

คลังเผยแบงก์รัฐเร่งปล่อยสินเชื่อเข้าสู่ระบบช่วงโควิดระบาด ส่งผลยอดคงค้างสินเชื่ออยู่ที่กว่า5.27ล้านล้านบาท ขยายตัว5.66%จากช่วงเดียวกันปีก่อน หนี้เสียอยู่ที่3.08%และ หนี้SMพุ่งเป็น2.31แสนล้านบาท ขณะที่ ตั้งสำรองหนี้สูญสูงถึง337.8%ของหนี้เสียรวม

รายงานข่าวจากกระทรวงการคลังเปิดเผยภาพรวมการดำเนินงานของธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ(แบงก์รัฐ)ในรอบเดือนมี.ค.2564ว่า ยอดสินเชื่อคงค้างรวมอยู่ที่5.27ล้านล้านบาท ขยายตัว5.66%จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และขยายตัวจากเดือนก่อนหน้า0.45%

“ยอดเงินให้สินเชื่อที่เพิ่มในช่วงเวลาดังกล่าว เป็นผลจากการเร่งรัดการปล่อยสินเชื่อของแบงก์รัฐในช่วงที่เกิดสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19แก่ภาคธุรกิจและประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากผลกระทบดังกล่าว”

ส่วนเงินรับฝากขยายตัว6.78%จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และ ขยายตัว0.57%จากเดือนก่อนหน้า โดยมียอดเงินฝากรวมที่5.52ล้านล้านบาท จากปีก่อนที่มียอดเงินฝากที่5.17ล้านล้านบาท

สำหรับหนี้เสียของแบงก์รัฐนั้น หดตัวลงจากเดือนก่อนหน้า1.86แสนล้านบาท คิดเป็น3.08%ของสินเชื่อรวม ขณะที่ แบงก์รัฐได้ตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญสูงถึง337.89%ของหนี้เสียรวม ทั้งนี้ หนี้เสียดังกล่าวลดลงจากเดือนธ.ค.2563ที่อยู่ในระดับ3.21%ส่วนช่วงเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่3.89%

ด้านหนี้ที่ผิดนัดชำระตั้งแต่1-3เดือนหรือSMของแบงก์รัฐได้ปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้ามาเป็น2.3แสนล้านบาท คิดเป็น3.53%ของสินเชื่อรวม โดยเดือนธ.ค.2563อยู่ที่3.37%ของสินเชื่อรวม และ ช่วงเดียวกันของก่อนอยู่ที่4.04%ของสินเชื่อรวม

ด้านเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงนั้น อยู่ที่13.94%ลดลงเล็กน้อยจากเดือนธ.ค.ที่อยู่ในระดับ13.95%แต่เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่อยู่ในระดับ13.92%ถือว่า เพียงพอต่อการดำเนินงานระยะต่อไป

สำหรับผลกำไรของแบงก์รัฐอยู่ที่1.87หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น253.17%เทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่อยู่ที่5.31พันล้านบาท

“ในภาพรวมผลการดำเนินงานของแบงก์รัฐท่ามกลางวิกฤตโควิด-19ที่แบงก์รัฐเป็นสถาบันการเงินที่เข้ามาช่วยเหลือลูกหนี้ ถือว่า อยู่ในเกณฑ์ที่ดี โดยระดับเงินกองทุนยังแข็งแกร่ง ผลกำไรก็ปรับตัวดีขึ้น ส่วนหนี้เสียนั้น และหนี้ที่ผิดนัดชำระหนี้ระหว่าง1-3เดือนนั้น ก็ถือว่า อยู่ในระดับที่รับได้ เพราะตอนนี้ ลูกค้าส่วนใหญ่จะได้รับความเดือดร้อน”

สำหรับธนาคารที่มีผลกำไรสูงสุด 3 อันดับ คือ ธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์(ธอส.) และ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร โดยในส่วนธนาคารออมสินนั้น ได้รายงานผลการดำเนินงานในรอบ 6 เดือนที่ผ่านมา สิ้นสุด ณ 30 มิ.ย. 2564 ว่า มีสินทรัพย์รวม 2.86 ล้านล้านบาท มีเงินฝาก 2.45 ล้านล้านบาท และสินเชื่อรวม 2.190 ล้านล้านบาท หนี้เสียอยู่ในระดับไม่เกิน 2% รวมถึง เพิ่มการกันสำรองส่วนเกิน เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งอีกกว่า 3.2 หมื่นล้านบาท ส่งผลให้ค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพแข็งแรงถึง 205.15%

สำหรับธอส.นั้น รอบ 6 เดือน ปล่อยสินเชื่อใหม่ได้ 1 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.20% จากช่วงเดียวกันของปี 2563 คิดเป็นเกือบ 50% ของเป้าหมายปล่อยสินเชื่อใหม่ปี 2564 ที่ 2.15 แสนล้านบาท ธนาคารมียอดสินเชื่อคงค้างรวมทั้งสิ้น 1.37 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.17% สินทรัพย์รวม 1.44 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.46% เงินฝากรวม 1.2 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.81%

หนี้เสียอยู่ที่จำนวน 5.9 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 4.31% ของยอดสินเชื่อรวม เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากสิ้นปี 2563 ที่มีหนี้เสียอยู่ที่ 3.75% ของสินเชื่อรวม โดยมี การตั้งสำรองเผื่อหนี้สงสัยจะสูญที่ 1 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนต่อหนี้เสีย สูงถึง 176.13% มีกำไรสุทธิ 5.99 พันล้านบาท และมีอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio) ในระดับแข็งแกร่งที่ 15.63%