‘แอร์บูล VS มานัต’  ศึกรื้อ 3 โปรเจคยักษ์ ทอ.

‘แอร์บูล VS มานัต’  ศึกรื้อ 3 โปรเจคยักษ์ ทอ.

ก่อนที่ กมธ. จะชี้ชัดการปรับปรุง 3 โครงการจัดซื้อยุทโธปกรณ์ของ 'พล.อ.อ.แอร์บูล' ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ก็อย่าแปลกใจหากได้ยิน 'ผู้แทน ทอ.' พูดเป็นแผ่นเสียงตกร่อง “ทำตามคำสั่งการของ ผบ.ทอ.ทุกประการ”

เหลือเวลาเพียงเดือนเศษ พล.อ.อ.แอร์บูล สุทธิวรรณ ผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทอ.) จะเกษียณอายุราชการในวันที่ 30 ก.ย.นี้ 

ขณะอยู่ระหว่างถูกตรวจสอบจากคณะกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร หรือ กมธ.ป.ป.ช.สภาฯ ว่าการใช้อำนาจของ ผบ.ทอ.แก้ไขเปลี่ยนแปลงการจัดหายุทโธปกรณ์ของกองทัพอากาศ (ทอ.)ในยุค พล.อ.อ.มานัต วงษ์วาทย์ ผบ.ทอ.คนก่อน 

ด้วยการปรับปรุงขอบเขตความต้องการโครงการ (SOPR) และขอบเขตของงานหรือรายละเอียดคุณลักษณะเฉพาะของพัสดุที่จะซื้อหรืองานที่จะจ้าง (TOR) ใน 3 โครงการ กว่า 3 พันล้านบาท ที่ผ่านขั้นตอนรัฐสภาไปแล้ว ว่าผิดกฎหมายหรือไม่ ได้แก่ โครงการพัฒนาและปรับปรุงระบบป้องการทางอากาศ ระยะที่ 7 ( N-SOC C2) โครงการพัฒนาการป้องกันฐานที่ตั้งทางทหารของกองทัพอากาศ (GBAD) และโครงการจัดหาทดแทนวิทยุพื้นดิน-อากาศ

จากของเดิมที่ ผบ.ทอ.จากรุ่นสู่รุ่น ได้ร่วมกันวางรากฐานหลัก ‘การพึ่งพาตัวเอง’ ในการจัดหายุทโธปกรณ์ โดยประเทศไทยจะต้องได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีตามแนวทางการจัดหาพร้อมการพัฒนา (Purchase and Development : P&D) เน้นการสร้างภูมิปัญญา และสร้างงานที่บรรจุในยุทธศาสตร์กองทัพอากาศ 20 ปี

เพราะนอกจากเป็นการส่งเสริมอุตสาหกรรมการป้องกันประเทศซึ่งจะทำให้การใช้จ่ายงบประมาณจัดซื้อยุทโธปกรณ์ทางทหาร ซึ่งเมื่อก่อนใช้แล้วหมดไป กลายเป็นการใช้จ่ายที่มีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจคืนมาแล้ว ยังเป็นการสร้างงานตามนโยบาย S curve11 อุตสาหกรรมเป้าหมายลำดับที่ 11 ของรัฐบาล

โดยของใหม่ที่ พล.อ.อ.แอร์บูล ได้ใช้อำนาจของ ผบ.ทอ. ในการปรับปรุง 3 โครงการดังกล่าวด้วยการตัดเรื่อง จัดหาพร้อมการพัฒนา (Purchase and Development : P&D) ออกไป และเปิดทางให้จัดซื้อยุทโธปกรณ์ทั้งหมดจากต่างประเทศ ก็สามารถทำได้ 

จึงมีประเด็นที่ต้องอาศัย ‘นักกฎหมาย’ ให้เข้ามาตีความว่า การดำเนินการของ พล.อ.อ.แอร์บูล ด้วยการเปิดกว้างให้จัดซื้อยุทโธปกรณ์จากต่างประเทศทั้งหมด แทนการจัดซื้อพร้อมพัฒนา ไม่ตอบโจทย์และผิดวัตถุประสงค์ของกองทัพอากาศหรือไม่

ในห้วงที่ผ่านมา น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ ส.ส.กทม.พรรคเพื่อไทย ในฐานะ กมธ.ป.ป.ช.สภาฯ ได้เชิญผู้แทนจากกองทัพอากาศมาชี้แจงและได้รับคำตอบ
     

 “การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวทำตามคำสั่งการของ ผบ.ทอ. ไม่ได้ทำโดยพลการ และได้รับการยืนยันจากฝ่ายเสนาธิการประจำผู้บังคับบัญชาว่าสามารถทำได้ เพราะไม่ได้เปลี่ยนแปลงวัตถุประสงค์ และสาระสำคัญแต่อย่างใด อีกทั้งเจ้ากรมส่งกำลังบำรุงทหารอากาศ ยืนยันว่าได้สอบถามไปยังกรมบัญชีกลางแล้วว่า สามารถเปลี่ยนแปลงรายละเอียดตามที่ ผบ.ทอ.ต้องการได้ แต่เป็นการโทรสอบถาม ไม่มีหนังสือยืนยันเป็นทางการ
  

ทั้งนี้ กมธ.ยังไม่ปักใจเชื่อว่าการดำเนินการปรับปรุง SOPR และ TOR ตามสั่งการของ ผบ.ทอ.นั้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และเตรียมเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้ง กรมบัญชีกลาง และสำนักงบประมาณมาให้ความเห็น พร้อมประสาน พล.อ.อ.มานัต วงษ์วาท อดีต ผบ.ทอ.มาให้ข้อมูล

คนใกล้ชิด พล.อ.อ.มานัต ระบุว่าหาก กมธ.ประสานมา พล.อ.อ.มานัต พร้อมจะเดินทางไปพบด้วยตัวเอง เพราะเป็นงานระดับชาติและเกี่ยวข้องกับยุทธศาสตร์ของกองทัพอากาศ โดยที่ผ่านมา พล.อ.อ.มานัต เลือกที่จะเงียบและไม่เคยคิดเข้าไปแทรกแซงเรื่องภายในกองทัพอากาศ เพราะเกษียณไปแล้ว และปล่อยให้เป็นไปตามกระบวนการสังคม ซึ่งสุดท้ายก็เกิดขึ้นมาจริงๆ

ผมดำเนินการตามยุทธศาสตร์ ทอ. รายละเอียดในทุกเรื่องอยู่ในหัวผม หากกมธ.ถามมาก็ตอบได้หมด ก่อนหน้านี้มีคนมาบอกว่าการใช้อำนาจ ผบ.ทอ.มาปรับปรุงสิ่งที่ผมได้ทำไว้ก่อนนั้น เป็นการล้มผม คงไม่ใช่ การล้มตรงนี้ไม่ใช่ล้มผมแน่นอน แต่ล้มยุทธศาสตร์ ทอ.เพราะผมทำหน้าที่ต่อยอดสิ่งที่รุ่นพี่คิดจากรุ่นสู่รุ่นมาเกือบ 10 ปี ” พล.อ.อ.มานัต เปรยกับคนใกล้ชิด

ในขณะที่คนต้นเรื่องอย่าง พล.อ.อ.แอร์บูล ยังไม่เคยชี้แจงกรณีดังกล่าวแม้แต่ครั้งเดียว ด้วยเหตุผลไม่อยากตอบโต้ ทำได้เพียงส่ง พล.อ.ท.ฐานัตถ์ จันทร์อำไพ โฆษก ทอ. ออกมารับหน้าสื่อ ด้วยการย้ำถึงนโยบายการปรับปรุงรายละเอียดทั้ง 3 โครงการว่าทำเพื่อประโยชน์สูงสุดของกองทัพอากาศ และใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่า

ผบ.ทอ.ไม่ได้กังวลอะไร เพราะท่านทำด้วยความถูกต้องตาม พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างปี 2560 และได้มีการตรวจสอบระเบียบครบถ้วน ก่อนจะมีการเปลี่ยนแปลงเนื้อหาในรายละเอียดทั้ง 3 โครงการ

ทั้งนี้ หากพิจารณาตามขั้นตอน กมธ.อาจต้องใช้เวลาระยะหนึ่งเพื่อรับฟังข้อมูลจากหน่วยงานเกี่ยวข้อง ทั้งในกองทัพอากาศ อดีต ผบ.ทอ. กลาโหม นักกฎหมาย กรมบัญชีกลาง และสำนักงบประมาณ ให้ครอบคลุมทุกด้านเพื่อเกิดความเป็นธรรม ก่อนจะได้บทสรุปเพื่อชี้ชัดว่า การดำเนินการปรับปรุงการจัดซื้อยุทโธปกรณ์ใน 3 โครงการที่ผ่านกระบวนการรัฐสภาไปแล้ว ผิดกฎหมายหรือไม่

ดังนั้นก็อย่าแปลกใจหาก กมธ.ป.ป.ช.สภาฯ จะได้ยินผู้แทนของ ทอ.ชี้แจงเป็นแผ่นเสียงตกร่องด้วยประโยคซ้ำๆ “ทำตามคำสั่งการของ ผบ.ทอ.ทุกประการ”