ธปท.เผยความเชื่อมั่นค้าปลีกดิ่งหนักเหลือ 16.4 ต่ำกว่า เม.ย.63

ธปท.เผยความเชื่อมั่นค้าปลีกดิ่งหนักเหลือ 16.4 ต่ำกว่า เม.ย.63

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการค้าปลีกเดือน ก.ค.และอีก 3 เดือนข้างหน้าเหลือ 16.4 และ 27.6 ต่ำกว่าเดือน เม.ย.63 เหตุมาตรการควบคุมโรคที่เข้มงวดส่งผลกระทบต่อรายได้

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการค้าปลีก (Retailer Sentiment Index: RSI) ว่า ความเชื่อมั่นผู้ประกอบการค้าปลีกปรับลดลงมากทั้งภาวะปัจจุบันและอีก 3 เดือนข้างหน้า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดที่รุนแรงขึ้น มาตรการควบคุมโรคที่เข้มงวดและแผนการกระจายวัคซีนไม่ชัดเจน ทั้งนี้ ความเชื่อมั่นฯ อยู่ต่ำกว่าเดือน เม.ย.2563 ที่มีการประกาศล็อกดาวน์ครั้งแรกในทุกมิติ

โดยดัชนี RSI เดือน ก.ค.และแนวโน้มอีก 3 เดือนข้างหน้า (ส.ค.-ต.ค.) ปรับลดลงมาก และต่ำกว่าเดือน เม.ย.2563 อยู่ที่ 16.4 และ 27.6 ที่มีการการประกาศล็อกดาวน์ครั้งแรกจากการแพร่ระบาดที่รุนแรงขึ้น และมาตรการควบคุมโรคที่เข้มงวด ส่งผลกระทบโดยตรงต่อรายได้ของผู้ประกอบการค้าปลีก ขณะที่แผนการกระจายวัคซีนที่ไม่เป็นไปตามเป้าหมายและประสิทธิภาพของวัคซีน ซ้ำเติมความเปราะบางของความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการค้าปลีก

ความเชื่อมั่นต่อยอดขายสาขาเดิมปรับลดลงในทุกภาค ตามสถานการณ์การแพร่ระบาดที่ทวีความรุนแรงขึ้นในทุกพื้นที่ เช่นเดียวกับความเชื่อมั่นในอีก 3 เดือนข้างหน้าที่ปรับลดลง สะท้อนภาวะความยืดเยื้อของสถานการณ์ ความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจ และกำลังซื้อของผู้บริโภคที่จะแย่ลงกว่าเดิม รวมถึงความล่าช้าของการจัดการวัคซึน

ขณะที่ความเชื่อมั่นทุกประเภทร้านค้าในภาวะปัจจุบันปรับลดลงมากจากเดือนก่อน โดยเฉพาะห้างสรรพสินค้า และร้านอาหารที่ถูกกระทบโดยตรงจากมาตรการควบคุมการระบาดที่เข้มงวด

ส่วนความเชื่อมั่นต่อยอดขายสาขาเดิม (SSSG) ยอดใช้จ่ายต่อใบเสร็จ (Spending per bill และความถี่ของผู้ใช้บริการ (Frequency) ปรับลดลงมากจากเดือนก่อนและต่ำกว่าช่วงการล็อกดาวน์ครั้งแรก ซึ่งเป็นผลจากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดที่เข้มงวด งดการเดินทาง และลดเวลาเปิดทำการของร้านค้า

นอกจากนี้ พบว่าจากสถานการณ์การแพร่ระบาดที่รุนแรง ผู้ประกอบการ 90% ประเมินว่ากำลังซื้อของผู้บริโภคปรับลดลงมากจากเดือนก่อน และไม่เห็นพฤติกรรมเร่งกักตุน แม้จะมีการสั่งปิดห้างฯ และประเมินแนวโน้มการฟื้นตัวสู่ระดับปกติเลื่อนออกไปเป็นปี 2566 ล่าช้ากว่าที่เคยประเมินไว้อีก 1 ปี

ขณะที่การประเมินแนวโน้มกิจกรรมทางเศรษฐกิจจากผู้ประกอบการ 61% คาดว่ายอดขายจะลดลงมากกว่า 25% จากการเคอร์ฟิว 53% มีสภาพคล่องไม่เกิน 6 เดือน และ 42% คาดการบริโภคภาคเอกชนไตรมาส 3 ปี 2564 จะกดตัวอย่างน้อย 10% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน