ย้อนอดีต 'อัฟกานิสถาน' เมื่อ 'ตาลีบัน' ครองเมือง

ย้อนอดีต 'อัฟกานิสถาน' เมื่อ 'ตาลีบัน' ครองเมือง

การรุกคืบของตาลีบันสร้างความหวาดหวั่นไปทั่วโลก โดยเฉพาะชะตากรรมของผู้หญิงและเด็กหญิง รวมทั้งอีกหลายอาชีพที่เคยเป็นของต้องห้ามในยุคตาลีบัน

กองกำลังตาลีบันและอัฟกานิสถานตกเป็นข่าวดังในสื่อต่างประเทศช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา เมื่อสหรัฐทะยอยถอนทหารออกไปจนกระทั่งรอบล่าสุดเมื่อเดือน ก.ค.ตาลีบันจึงรุกคืบพื้นที่ชนบทจนหลายฝ่ายหวาดเกรงกันว่า ตาลีบันจะกลับไปยึดอัฟกานิสถานได้ในเร็วๆ นี้ หลังเคยปกครองประเทศเมื่อในอดีตแล้วถูกกองกำลังร่วมนำโดยสหรัฐขับไล่ออกไปในปี 2544 

ระหว่างปกครองอัฟกานิสถานปี 2539-2544 ตาลีบันห้ามทำกิจกรรมหลายอย่าง เช่น เล่นว่าว ละครโทรทัศน์ แข่งนกพิราบ ทรงผมแปลกตา หรือแม้แต่เล่นดนตรีก็ถูกห้าม เมื่อตาลีบันพ้นอำนาจกิจกรรมเหล่านี้ก็หวนคืนมา แต่ตอนนี้เริ่มมีความกังวลกันมากว่าถ้าเหล่าผู้นิยมอิสลามสุดโต่งหวนคืนสู่อำนาจจะสั่งห้ามอีกเพราะผู้นำตาลีบันประกาศแล้วว่า ต้องการให้อัฟกานิสถานกลับไปเป็นนครรัฐอิสลามปกครองโดยผู้อาวุโสทางศาสนา สำนักข่าวเอเอฟพีรวบรวมอาชีพและกิจกรรมที่เคยถูกตาลีบันห้ามและตอนนี้หวั่นเกรงกันว่าจะโดนแบบนั้นอีก

นักดนตรี

162813410788

ซาอิด โมฮัมหมัด หาเลี้ยงชีพด้วยการเล่นจาปานี เครื่องสายโบราณของเอเชียกลางที่เขาเล่นตั้งแต่เป็นเด็กชาย

โมฮัมหมัดยังจำได้ถึงเย็นวันหนึ่งเมื่อสองทศวรรษก่อน ตอนที่ตาลีบันบุกเข้ามาในบ้านที่เขาและเพื่อนๆ กำลังเล่นดนตรีและร้องเพลง เนื่องจากตาลีบันตีความอิสลามอย่างเคร่งครัด มีแต่เสียงมนุษย์เท่านั้นที่สร้างเสียงดนตรีและเพื่อสรรเสริญพระผู้เป็นเจ้าเท่านั้น

“ผมยังเป็นเด็กก็เลยถูกตีน้อยกว่าคนอื่นๆ แต่ก็เล่นเอาผมยืนไม่ได้ 3 วัน” โมฮัมหมัดในวัย 40 ปี ผู้อาศัยอยู่ในอดีตฐานที่มั่นของตาลีบันในเมืองกันดาฮาร์เล่าเรื่องราวในอดีต และว่าเขายังโชคดี เพื่อนเขาคนหนึ่งถูกตาลีบันตัดนิ้วเพราะเล่นจาปานี

เมื่อกลุ่มติดอาวุธนี้ถูกโค่น โมฮัมหมัดเฉลิมฉลองด้วยการไปดูคอนเสิร์ต

“เมื่อดนตรีเริ่ม ผู้รู้สึกถึงความปลื้มปีติจนสั่นเทิ้มไปทั่วร่าง ปลื้มใจที่ประเทศของเราเป็นอิสระ ประชาชนมีอิสระในการเริ่มต้นชีวิตใหม่” นับตั้งแต่นั้นชาวอัฟกันหลายคนรวมทั้งโมฮัมหมัดกลายเป็นนักร้องและนักดนตรีอาชีพ

“ชีวิตเราไม่มีทางรื่นรมย์ได้ถ้าอยู่ด้วยความกลัว” คุณพ่อลูก 8 กล่าวกับเอเอฟพี เขามุ่งมั่นทำตามความปรารถนาแม้ว่าตาลีบันจะกลับมามีอำนาจก็ตาม

“คล้ายๆ อาการเสพติด ต่อให้พวกเขาตัดนิ้ว พวกเราก็ยังคงเล่นดนตรี”

ช่างแต่งหน้า

162813413518

ในร้านเล็กๆ กลางกรุงคาบูล ช่างแต่งหน้านาม “ฟารีดา” กำลังเปลี่ยนหญิงสาวขี้อายให้กลายเป็นว่าที่เจ้าสาวราศรีจับ

ด้วยการบรรจงติดขนตาปลอมแพหนา ตามด้วยลิปสติกสีแดงเลือดนก อายแชโดว์ และปัดแก้มสีเบจและเหลืองอย่างประณีต

แม้ได้รับความนิยมล้นหลามแต่ร้านเสริมสวยของฟารีดาก็เป็นหนึ่งในหลายร้อยร้านทั่วประเทศที่กำลังเผชิญความไม่แน่นอนในอนาคต ในช่วงที่ปกครองตาลีบันเข้มงวดอย่างมากกับการเดินทางและทำกิจกรรมของผู้หญิงและเด็กหญิง ห้ามเปิดร้านเสริมสวยในที่สาธารณะ

“ถ้าพวกเขากลับมา เราไม่มีวันมีเสรีภาพเหมือนอย่างทุกวันนี้ พวกเขาไม่อยากให้ผู้หญิงทำงาน” ฟารีดา วัย 27 ปีกล่าว เธอไม่อนุญาตให้เอเอฟพีเปิดเผยตัวตนมากกว่านี้

162813418573

ร้านของฟารีดาลูกค้าแน่นสุดในวันพฤหัสบดีและวันศุกร์ ซึ่งเป็นวันหยุดสุดสัปดาห์ของประเทศ ลูกค้าหลายร้อยคนมาออกันเพื่อแต่งหน้าแต่งตัวร่วมพิธีแต่งงานใหญ่ๆ ที่นี่พวกผู้หญิงได้รับการปรนเปรอพ้นจากสายตาผู้ชายนาน 2-3 ชั่วโมง แต่ความงามก็มีราคา ที่ร้านของฟารีดาซึ่งโด่งดังมากที่สุดร้านหนึ่งในกรุงคาบูล แพกเกจทรีตเมนต์ครบทุกขั้นตอนราคาสูงถึง 300 ดอลลาร์

“ฉันคิดว่าเมื่อตาลีบันมาพวกเขาคงบีบให้เราออกไป” ฟารีดากล่าว เธอเองก็อยากจะย้ายไปอยู่แคนาดาถ้ามีโอกาส

ช่างทำว่าว

ณ ร้านค้าแห่งหนึ่งในตลาดอันจอแจของกรุงคาบูล ว่าวสีสันสดใสทุกขนาดหลายร้อยตัวแขวนเรียงรายอยู่รอบร้านของเซลไก เจ้าตัวเล่าว่า เขาตัดสินใจเดินหน้าสานต่อธุรกิจครอบครัวที่สืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคน

ตาลีบันห้ามเล่นว่าวเพราะทำให้คนหนุ่มหันเหจากการละหมาด ไม่ทำกิจกรรมทางศาสนา แต่เซลไกและครอบครัวยังทำว่าวต่อไป

“แน่นอน เราแอบทำกันลับๆ” ชายวัย 59 ปีเผยกับเอเอฟพีที่ร้านค้าของเขาในตลาดชอร์กลางเมืองหลวง

ร้านค้าสีสันสดใสของเขามีว่าวสำเร็จรูปพร้อมขาย และสั่งทำตามออเดอร์ของลูกค้าด้วย ธุรกิจรุ่งเรืองนับตั้งแต่ตาลีบันพ้นอำนาจ

“นี่คือเสรีภาพ เราสามารถโชว์และขายว่าวได้อย่างเปิดเผย ไม่ต้องกลัวอะไรทั้งนั้น”

งานอดิเรกที่นิยมชมชอบมากของอัฟกานิสถานสร้างชื่อเสียงในต่างประเทศหลังจาก นวนิยายขายดี “เด็กเก็บว่าว” (The Kite Runner) ผลงานปี 2546 ของฮาเหล็ด โฮเซนี นักเขียนชาวอัฟกัน ถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์

ถึงวันนี้ เมื่อลมดีว่าวหลายพันตัวก็ลอยเต็มท้องฟ้าสีครามของอัฟกานิสถาน

ว่าวบางตัวถูกเจ้าของนำมาใช้ต่อสู้กันด้วยทักษะการเล่นว่าวของแต่ละคน บางคนใช้เศษแก้วเคลือบเชืิอกว่าวเข้าตัดสายป่านฝ่ายตรงข้ัาม

“ประชาชนคงเสียหายถ้าห้ามทำว่าว หลายพันครอบครัวหาเลี้ยงชีพด้วยสิ่งนี้” เซลไกรำพึง

นักเต้นเบรกแดนซ์

วันที่มานิชา ตาลาช เต้นเบรกแดนซ์ เธอรู้ดีว่าอาจตกเป็นเป้าของตาลีบัน ตาลาชเป็นสมาชิกหญิงเพียงคนเดียวของกลุ่มฮาซารา ที่เหลือเป็นเด็กผู้ชาย กลุ่มนี้เต้นเบรกแดนซ์กันในกรุงคาบูลและมักจะทำกันลับๆ

หญิงสาววัย 18 ปีรายนี้อยู่กับแม่ผู้ต้องทำงานหลายอย่างมาเลี้ยงดูครอบครัว หลังจากสามีสูญหายไปเมื่อหลายปีก่อน แต่สำหรับตาลาช ผู้ฝันอยากเป็นตัวแทนทีมชาติอัฟกานิสถานไปแข่งโอลิมปิก ความเสี่ยงมีมาอย่างต่อเนื่องหลายเท่าทวีคูณ ไม่ใช่แค่เธอเป็นเด็กหญิงคนเดียวที่ทำกิจกรรมต้องห้าม แต่ยังเป็นสมาชิกกลุ่มฮาซาราที่มุสลิมเคร่งจารีตบางคนมองว่าเป็นพวกนอกรีตด้วย

“ถ้าตาลีบันไม่เปลี่ยน กักผู้หญิงไว้แต่ในบ้าน ทำลายสิทธิของพวกเธอ ชีวิตก็ไม่มีความหมายสำหรับฉันและหญิงสาวคนอื่นๆ อีกหลายล้านคนในอัฟกานิสถาน” ตาลาชกล่าว

แม้มีความเสี่ยงถึงขนาดถูกขู่ฆ่า กลุ่มจำเป็นต้องเปลี่ยนสถานที่ฝึกซ้อม ตาลาชยังมุ่งมั่นทำตามความฝัน อัฟกานิสถานมีผู้หญิงเป็นผู้บุกเบิกในหลากหลายสาขา ตาลาชมองตนเองเป็นหนึ่งในนั้น

“เราไม่เคยมีตำรวจหญิงมาก่อน ตอนนี้เราเห็นพวกเธอในทุกๆ ที่ ฉันยอมรับความเสี่ยงตกเป็นเป้า ในใจฉันก็กลัว แต่จะไม่มีวันยอมแพ้” ตาลาชกล่าวขณะอยู่ในชุดเสื้อยืด หมวกแก็ปและเลกกิงสีดำ เสื้อผ้าที่ตาลีบันต้องประณาม

คอสูบชิชา

ณ ริมฝั่งแม่น้ำสายหนึ่งที่ไหลผ่านเมืองจาลาลาบัดทางตะวันออกของประเทศ โมฮัมหมัด ซาลีมและผองเพื่อนรวมตัวกันทุกเย็นเพื่อสูบชิชา กิจกรรมยามว่างตั้งแต่สมัยโบราณที่หวนคืนมาใหม่ทั่วโลก

“ตอนนี้การสูบชิชาเป็นเรื่องธรรมดามากในอัฟกานิสถาน” ซาลิมเล่าขณะสูดไอระเหยของยาสูบรสผลไม้จากมอระกู่เดือดพล่าน แต่ตาลีบันบอกว่านี่คือของมึนเมา  ต้องห้ามตามคัมภีร์อัลกุรอ่าน

ตั้งแต่ตาลีบันหมดอำนาจ ชิชาคาเฟ่ก็ผุดขึ้นทั่วประเทศ เสิร์ฟชาหญ้าฝรั่นร้อนๆ ให้ลูกค้าที่เพลิดเพลินกับหม้อสูบ

บัคตยาร์ อาหมัด เจ้าของชิชาคาเฟ่เชื่อว่า การสูบชิชาเป็นวิธีที่ช่วยหันเหวัยรุ่นไม่ให้ไปมั่วสุมกันตามท้องถนน หรือสิ่งที่เลวร้ายกว่าอย่างยาเสพติด

“ที่นี่มีแต่ความสงบสุข คาเฟ่ของเราเสิร์ฟชิชาและเล่นดนตรีกล่อม ถ้าตาลีบันกลับมาด้วยความคิดแบบเก่า เขาต้องปิดร้านเราแน่”เรื่องนี้คอชิชาก็เห็นด้วย

“การออกไปปิกนิกหรือสูบชิชาริมน้ำแบบนี้คงทำไม่ได้อีกแล้ว” ซาลีมกล่าวอย่างปลงๆ

ร้านตัดผมชาย

ธุรกิจร้านตัดผมชายของโมฮัมหมัด กาเดรี ในเมืองเฮรัตทางตะวันตกของประเทศกำลังฟู่ฟ่า หนุ่มๆ ยืนเข้าแถวยาวรอโกนหนวดหรือตัดผมทรงทันสมัยแบบเดียวกับดาราบอลลีวูดหรือฮอลลีวูด

“อัฟกานิสถานเข้าสู่โลกใหม่แล้ว เดี๋ยวนี้มีช่างตัดผมมากขึ้น หนุ่มๆ เปิดรับแฟชั่นมากขึ้น รัฐบาลไม่ต่อต้านเหมือนกับตาลีบัน” กาเดรีกล่าว

ขณะที่ผู้ชายในเขตชนบทมีแนวโน้มยึดมั่นกับสไตล์อิสลาม กล่าวคือโกนหนวดให้สั้น ไว้เครายาว หนุ่มๆ ชาวเมืองแห่กันตามแฟชั่นล่าสุด แต่กาเดรีและลูกค้าเกรงว่า ความเป็นปัจเจกชนนิยมของพวกเขาจะสิ้นสุดลงถ้าตาลีบันกลับมา

“เรากลัวว่าถ้าตาลีบันเข้ามาในเมืองและตลาด พวกเขาอาจทำแบบเดียวกับเมื่อ 20 ปีก่อน ผู้หญิงต้องกลับไปสวมชุดบุรกา ชายหนุ่มไม่มีอิสระในการทำอย่างที่ต้องการอีก” ซานาอุลเลาะห์ อามิน ลูกค้าประจำกล่าวเสริมด้วยความหวาดหวั่น