โควิดฉุดส่งออกจ่อสูญ 3 แสนล้าน

โควิดฉุดส่งออกจ่อสูญ 3 แสนล้าน

(ชมคลิปข่าวด้านล่าง)

สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย ห่วงสถานการณ์โควิดลามโรงงานอุตสาหกรรมกระทบ 4 กลุ่มใช้แรงงานเข้มข้นทั้งอาหาร ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ สิ่งทอ หากรุนแรงมากขึ้นทำการส่งออกอาจสูญเสีย 3 หมื่นล้านบาทต่อเดือน หรือ 2-3 แสนล้านบาทในช่วง 6 เดือนจากนี้

ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย หรือ สรท. ชัยชาญ เจริญสุข ระบุ สรท.มีความเป็นห่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่ระบาดภายในโรงงานอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้นทั้งกลุ่มอาหาร ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ และสิ่งทอ ซึ่งมีมากกว่า 1,500 โรงงาน และหากมีการระบาดโควิด-19 มากไปกว่านี้จะทำให้โรงงานอุตสาหกรรมต้องหยุดกิจกรรมผลิต และไม่สามารถส่งมอบสินค้าให้กับลูกค้าได้ ซึ่งเป็นผลกระทบระยะสั้น และในระยะยาวไทยจะถูกลดเครดิตความเชื่อมั่นจากลูกค้า ทำให้ลูกค้าหันไปสั่งซื้อสินค้าจากประเทศคู่ค้าอื่นแทนไทย

ทั้งนี้ จากการประเมินเบื้องต้น พบว่า 4 กลุ่มอุตสาหกรรม คือ อาหาร ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ และสิ่งทอ ซึ่งมีสัดส่วนต่อการส่งออกมากว่า 50% ของการส่งออกภาพรวม ซึ่งหากได้รับผลกระทบโควิดจนไม่สามารถผลิตได้จะทำให้มูลค่าส่งออกหายไปประมาณ 1,000 ล้านดอลลาร์/เดือน หรือหายไปประมาณ 3 หมื่นล้านบาท/เดือน หรือรายได้จากการส่งออกอาจสูญถึง 2-3 แสนล้านบาทจากนี้ไปในช่วงระยะเวลา 6 เดือน

“เรียกได้ว่าภาคการส่งออกอยู่ในภาวะความเครียดจากการระบาดของโควิดลามเข้าโรงงานแทบทุกอุตสาหกรรมที่จะส่งผลกระทบอย่างมาก แต่ที่หนักสุดก็จะเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานแบบเข้มข้น โดยในแง่ตัวเลขการส่งออกจากที่จะส่งออกได้ 10% ก็จะเหลือส่งออกขยายตัวได้แค่ 7% แต่สิ่งที่น่ากลัวสุดคือความเชื่อมั่นระยะยาวที่ลูกค้าจะหนีไปซื้อสินค้าจากประเทศอื่น”

อย่างไรก็ตาม ภาคการส่งออกอยากเรียกร้องให้รัฐบาลเข้ามาบริหารจัดการวัคซีนใหักับกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมในภาคการส่งออก ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญมากที่จะต้องให้แรงงานในภาคอุตสาหกรรมได้รับวัคซีนอย่างทั่วถึงไม่ให้เกิดผลกระทบต่อภาคการผลิต และไม่เห็นด้วยรัฐบาลที่จะล็อกดาวน์แบบ FULLY เพราะจะกระทบต่อภาคการส่งออกมากไปกว่านี้

สำหรับปัจจัยลบที่กระทบภาคการส่งออกนอกจากเรื่องโควิดกระทบการผลิตส่งออก ยังมีเรื่องของค่าระวางเรือที่ยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้น และตู้ส่งสินค้าที่ยังไม่เพียงพอต่อการส่งออก ส่วนปัจจัยบวกการส่งออกในปีนี้ คือ เศรษฐกิจคู่ค้าฟื้นตัว ค่าเงินบาทอ่อนค่า 33 บาท/ดอลลาร์ และราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นส่งผลให้ราคาสินค้าเกี่ยวข้องกับน้ำมันเพิ่มขึ้น