ttb รับ'เอ็นพีแอล'ขาขึ้น คงเป้าปีนี้คุมไม่เกิน 3.6%

ttb รับ'เอ็นพีแอล'ขาขึ้น คงเป้าปีนี้คุมไม่เกิน 3.6%

“ทหารไทยธนชาต” มั่นใจฐานะการเงินแกร่งรับมือวิกฤติโควิดลากยาวได้ถึงปีหน้า คงเป้าหมายธุรกิจปีนี้ ชี้แนวโน้ม“เอ็นพีแอล”ยังขาขึ้น เหตุเศรษฐกิจเปราะบาง -ช่วยเหลือลูกหนี้  ตั้งเป้าคุุมให้ไม่เกิน 3.6% จากครึ่งปีแรก  2.89% 

นายนริศ อารักษ์สกุลวงศ์ หัวหน้ากลยุทธ์องค์กร ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน) หรือ ttb  เปิดเผยว่า  ธนาคารยังเชื่อมั่นว่าสถานะการเงินยังแข็งแกร่งและมีการตั้งสำรองเพียงพอ  สามารถรองรับสถานการณ์ในช่วงครึ่งหลังปีนี้และในปีหน้าได้

ทั้งนี้ธนาคารติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 อย่างใกล้ชิด และมีการตั้งสำรองอย่างรอบคอบและรัดกุมกับความเสี่ยง ซึ่งธนาคารประเมินว่าสถานการณ์โควิด-19 จะลากยาวอยู่แล้ว

ดังนั้น ด้วยต้นทุนความเสี่ยงจากการให้สินเชื่อ (credit cost) ที่ปัจจุบันธนาคารตั้งไว้ในระดับค่อนข้างสูงกว่าสถานการณ์ปกติ และในปีนี้ยังคงเป้ามี Credit Cost ที่ 1.60-1.80 % โดยครึ่งปีแรก 2564 อยู่ที่ 1.61%  ถือว่า ยังเพียงพอกับความเสี่ยงที่ประเมินไว้ สามารถรองรับในสถานการณ์ขณะนี้แม้จะยังคงมีการขยายมาตรการล็อกดาวน์และยอดผู้ติดเชื้อยังอยู่ในระดับที่สูง

พร้อมกันนี้  ธนาคารยังคงเป้าหมายทางธุรกิจต่างๆ ไว้ตามเดิมจากเมื่อต้นปีนี้ โดยวางเป้าปล่อยสินเชื่อยังทรงตัวในระดับเดียวกับปีก่อน และเน้นขยายสินเชื่อย่อยที่มีหลักประกัน เช่น  บ้านและรถยนต์ มากขึ้น  ส่วนกลุ่มเอสเอ็มอี มีความเปราะบางยังต้องระมัดระวัง รวมถึงสร้างรายได้ค่าฟี จากขยายฐานบัญชีเงินฝาก  บัตรเครดิตและผลิตภัณฑ์การลงทุนต่างผ่านทีทีบีสมาร์ทพอร์ตมากขึ้น

นายนริศ กล่าวว่า ด้านหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(NPL) ในปีนี้ ยังคงเอาไว้ที่ไม่เกิน 3.6% จากครึ่งปีแรก 2564 อยู่ที่ 2.89%  ซึ่งปีนี้อาจตัดขายNPLออกไปน้อยกว่าปีที่แล้ว เนื่องจากสถานการณ์ไม่เอื้อ แต่ธนาคารก็ได้จัดตั้งบริษัทบริหารสินทรัพย์ขึ้นมาแล้ว เพื่อรองรับการตัดหนี้เสียออกไปบริหารให้ชัดเจนและอาจจะดีกว่าการขายออกไปในราคาต่ำในช่วงนี้  

ขณะเดียวกัน ธนาคารยังให้ความสำคัญกับความโปร่งใสในการจัดชั้นลูกหนี้ เพื่อกันสำรองอย่างเพียงพอกับความไม่แน่นอนที่จะเกิดขึ้นในอนาคต  โดยเฉพาะในช่วงครึ่งหลังปีนี้ ที่ประเมินว่า NPL ยังมีแนวโน้มขาขึ้นจากความเปราะบางของเศรษฐกิจ  รวมถึงธนาคารมีการช่วยเหลือตามมาตรการของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)และของธนาคาร ซึ่งติดตามสถานการณ์ของลูกค้าอย่างใกล้ชิด 

สำหรับที่ผ่านมา การช่วยเหลือรอบแรกเมื่อเดือนมี.ค. ปี 2563 มีลูกค้าเข้ามาขอความช่วยเหลือราว 40% ของสินเชื่อรวม แต่ ณ ไตรมาส 2  ปี 2564 ลดลงมาอยู่ที่ราว 14% ของสินเชื่อรวม ซึ่งยังทรงตัวจากไตรมาส 1 ปี 2564 โดยยังคงมีการล็อกดาวน์บางพื้นที่ต่อเนื่อง และคาดว่า การให้ความช่วยเหลือตามมาตรการรอบใหม่ของธปท. คงจะไม่กลับไปสูงเท่ากับปีก่อน เพราะเงื่อนไขของการให้ความช่วยเหลือครั้งนี้ กำหนดให้ต้องเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบจริงๆ จากมาตรการที่รัฐบาลประกาศล็อกดาวน์          

นอกจากนี้ ทางด้านอัตราส่วนค่าใช้จ่ายดําเนินงานต่อรายได้รวม(Cost to income) อยู่ที่ 47-49% โดยครึ่งปีแรก 2564 อยู่ที่ 46.6%  เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายจากการควบรวมบางส่วนที่เลื่อนตัดจ่ายในไตรมาส 2 ออกไปในช่วงครึ่งปีหลัง จึงน่าจะทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้นบ้าง แต่ไม่น่าจะเกินเป้าที่ตั้งไว้  เพราะ การควบรวมระหว่างธนาคารทหารไทยและธนาคารธนชาตเสร็จสิ้นตามกำหนดที่วางไว้ในเดือนก.ค.ที่ผ่านมา ส่งผลให้การบริหารจัดการทั้งด้านรายได้และค่าใช้จ่ายของธนาคารดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ