เช็ค! เมื่อไหร่ถึงคิว'คนทั่วไป'ต่างจังหวัดฉีด'วัคซีนโควิด19'

เช็ค! เมื่อไหร่ถึงคิว'คนทั่วไป'ต่างจังหวัดฉีด'วัคซีนโควิด19'

สธ.เผยแนวทางกระจายวัคซีนโควิด19เดือนส.ค.  ลดปริมาณในกทม.เพิ่มยอดในต่างจังหวัด ระบุบุคลากรฯด่านหน้าฉีดแอสตร้าฯเข็มกระตุ้นไปแล้ว 20 % คาดถึงคิวกลุ่มคนทั่วไปได้ฉีดช่วงก.ย.-ต.ค.เป็นต้นไป

เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่  2 ส.ค. 2564 ในแถลงข่าว ประเด็น การกระจายวัคซีนของประเทศไทย นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร  รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ตั้งแต่วันที่ 7 มิ.ย.เป็นต้นมา กลุ่มที่ได้รับการฉีดวัคซีนจำนวนมาก อยู่ในพื้นที่กทม.และปริมณฑลเป็นหลัก แต่ขณะนี้มีหลายพื้นที่มีการเร่งรัดฉีดวัคซีน เพราะมีการกระจายวัคซีนในพื้นที่ต่างๆ อย่างไรก็ตาม สำหรับข้อมูลการฉีดวัคซีนในกลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป มีการฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 ไปแล้วเพียง 23.2%  ซึ่งยังน้อยกว่ากลุ่มอื่นประมาณ 1 ใน 4 จึงเป็นกลุ่มที่สำคัญและต้องเร่งรัดฉีดวัคซีน โดยในช่วงเดือน มิ.ย.และก.ค.ที่ผ่านมา ผู้สูงอายุได้รับการฉีดอย่างมาก เพราะมีการจัดลำดับความสำคัญใหม่ และให้ผู้สูงอายุได้เข้าถึงอย่างสะดวก ทำให้ผู้สูงอายุได้วัคซีนเพิ่มขึ้นมากในพื้นที่กทม.

      พื้นที่ต่างจังหวัด ในเดือน ส.ค. ได้มีการกระจายวัคซีนไปพื้นที่ต่างจังหวัดมากขึ้น โดยในเดือนนี้จะได้รับวัคซีนมากขึ้นกว่าเดือน ก.ค. คือ ประมาณ 10 ล้านโดสขึ้นไป ทั้งวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า วัคซีนซิโนแวค และวัคซีนไฟเซอร์ที่ได้รับบริจาค ดังนั้น เป้าหมายการฉีดวัคซีนในกลุ่มผู้สูงอายุจะเป็นไปตามเป้าหมาย ซึ่งในจังหวัดปริมณฑล อย่างพระนครศรีอยุธยา นครปฐม ชลบุรี นราธิวาส เปอร์เซ็นต์การฉีดผู้สูงอายุอยู่ที่ประมาณ 20-40%  ในเดือน ส.ค.จะได้รับวัคซีนมากขึ้น

     ส่วนจังหวัดถัดมา อย่างฉะเชิงเทรา สมุทรปราการ เป็นช่วงที่มีการระบาดเพิ่มในเดือน ก.ค. ความเสี่ยงก็เพิ่มขึ้น โดยวัคซีนที่ไปในทุกสัปดาห์จะตกอยู่ที่ประมาณ 1-2 ล้านโดส ซึ่งเป็นทั้งซิโนแวค และแอสตร้าฯ โดยตอนนี้ทุกกลุ่มอายุสามารถฉีดสูตรผสม โดยซิโนแวคเข็มแรก และแอสตร้าฯ เข็มสองห่างกัน 3 สัปดาห์ได้ 

สำหรับจังหวัดภาคใต้ตอนล่าง คือ นราธิวาส ปัตตานี ยะลา และสงขลา มีเปอร์เซ็นต์ฉีดวัคซีนต่ำอยู่ เพราะช่วงที่ผ่านมาได้รับการจัดสรรในเปอร์เซ็นต์น้อย แต่เมื่อสถานการณ์แพร่ระบาดขึ้น วัคซีนที่ไปจะมากขึ้นเช่นเดียวกัน ดังนั้น จึงต้องเร่งรัดการฉีดวัคซีนให้ได้ตามเป้าหมาย คงใช้เวลาประมาณ 1-2 เดือน ขณะที่กทม. จะมีการฉีดวัคซีนต่อเนื่อง แต่จำนวนจะน้อยลงเหลือประมาณ 1 ล้านกว่าโดส

   

 

 

นพ.โสภณ กล่าวว่า วัคซีนไฟเซอร์ที่ประเทศไทยได้รับบริจาค จำนวนที่ชัดเจนและถูกต้อง คือ 1,503,450 โดส เป็นจำนวนที่ถูกต้อง เนื่องจากล่าสุดที่เช็กนั้น วัคซีนที่ส่งมาในภาวะแช่แข็งอยู่ในอุณหภูมิติดลบ 70 องศา เวลาส่งมาต้องขนส่งในถาดขนวัคซีน ซึ่งปกติจะขนส่งลงล็อกประมาณ 1,170 โดสต่อถาด รวมแล้วคือจำนวน 1,503,450 โดส ซึ่งสอดคล้องตัวเลขที่อยู่บนเว็บไซต์สถานทูตสหรัฐ ในการจัดสรรสำหรับส่วนของบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้า 7 แสนโดสนั้น  จากตัวเลขในระบบรายงานมีบุคลากรฯด่านหน้าประมาณ 20 %ฉีดเข็มกระตุ้นเป็นแอสตร้าเซนเนก้าไปแล้ว เพราะช่วงที่ผ่านมาทำงานด่านหน้าอยู่ในภาวะงานที่มีความเสี่ยงก็ฉีดวัคซีนกระตุ้นไปแล้ว และคนที่เหลือจะฉีดไฟเซอร์ก็มีให้เพียงพอทุกคน

          วัคซีนไฟเซอร์ จะจัดสรรไปทุกจังหวัดทั่วประเทศ  เนื่องจากทุกจังหวัดได้สำรวจและรวบรวมรายชื่อส่งเข้ามา ซึ่งก็จะทยอยจัดส่งในวันที่ 3 ส.ค.เป็นต้นไป  แต่วัคซีนไฟเซอร์อาจไม่ได้จัดส่งให้ทุก รพ.ทันที เพราะการจัดส่งจะไปใน เทร หรือถาดขนส่ง ซึ่งมีประมาณ 1,170 โดสต่อถาดเดียวกัน และต้องไปในภาวะที่รักษาอุณหภูมิแช่แข็ง เมื่อไปถึงต้องเอาเข้าตู้เย็นทันที ดังนั้น รพ.จังหวัดจะมีวัคซีนนี้ไว้ และเวลาการใช้ เนื่องจากเป็นวัคซีนขวดที่มีจำนวน 6 โดส เมื่อเปิดมาแล้วต้องใช้ 6 คน จึงต้องให้ครบทั้งหมด และต้องมีการกำหนดจุดการรับบริการให้เหมาะสม  ซึ่งในส่วนของกทม. กรมควบคุมโรค ได้ประสานสำนักอนามัย ในการจัดส่งวัคซีนไปที่ รพ.รัฐ และเอกชนที่กำหนด เพื่อจัดบริการฉีดให้บุคลากรการแพทย์ด่านหน้าให้ครอบคลุมสูงสุด

    

    

เมื่อถามว่ากลุ่มคนทั่วไปในต่างจังหวัดจะได้รับการฉีดวัคซีนเมื่อไหร่ นพ.โสภณ กล่าวอีกว่า วัตถุประสงค์ของการให้วัคซีนโควิด19 คือป้องกันป่วยหนักและเสียชีวิต ดังนั้น วัยสูงอายุและผู้มีโรคเรื้อรังมีโอกาสเสียชีวิตมากที่สุดจึงมีการจัดลำดับให้วัคซีนในกลุ่มเป้าหมายนี้ก่อน เพราะไม่ต้องการให้ผู้สูงอายุเสียชีวิต  ซึ่งวิธีการให้วัคซีนแบบนี้ในต่างๆประเทศทำมาก่อน เช่น อังกฤษที่ให้ในกลุ่มคนอายุมากกว่า 85 ปีขึ้นไปก่อนแล้วลดอายุลงเรื่อยๆ จนสุดท้ายเป็นวัยทำงาน  ซึ่งถ้าดูจากจำนวนวัคซีนที่ไทยจองไว้ 100 ล้านโดส สำหรับ 50 ล้านคน  คาดว่าในเวลา 1-2 เดือนข้างหน้าจะถึงคิวผู้ที่มีอายุไม่มากและไม่มีโรคเรื้อรัง อย่างไรก็ตาม เมื่อดูภาพรวมการรับวัคซีนของประเทศไทย กลุ่มประชาชนทั่วไปได้รับวัคซีนแล้วเปอร์เซ็นต์สูงสุด

      “ที่ผ่านมาเป็นการสร้างความสมดุลเรื่องดูแลเจ็บป่วยเสียชีวิตและดูแลเศรษฐกิจ  แต่ในช่วงก.ค.-ส.ค.มีความวิกฤตของโควิด ต้องจัดลำดับให้ผู้สูงอายุและผู้มีโรคเรื้อรังให้ได้รับวัคซีนมากที่สุด หลังจากนั้นคาดว่าช่วงก.ย-ต.ค.เป็นต้นไป กลุ่มอี่นๆก็มีโอกาสได้รับวัคซีนเช่นกันนพ.โสภณกล่าว

นพ.โสภณ กล่าวอีกว่า  ในส่วนของชาวต่างชาติ หากเป็นผู้สูงอายุและมีโรคเรื้อรังก็เสี่ยงป่วยหนักและเสียชีวิต รวมถึงให้เพื่อควบคุมการระบาดก่อนหน้านี้ ซึ่งประเทศไทยได้ให้วัคซีนชาวต่างชาติไปแล้ว 280,075 คน  คิดเป็น 5 %ของชาวต่างชาติที่อยู่ในประเทศไทย เมื่อแยกตามสัญชาติ  เมียนมา 140,577 คน  จีน37,192 คน กัมพูชา 25,414 คน ลาว 16,039 คน ญี่ปุ่น 8,113 คน ฟิลิปปินส์ 7,239 คน อินเดีย 6,522 คน บริติส 5,667 คน  ฝรั่งเศส 5,044 คน และอเมริกัน 3,694 คน