“ชานนท์” แท็กทีมผู้บริหาร ฝ่ายกฎหมาย แจงข้อพิพาท "แอชตัน อโศก”

“ชานนท์” แท็กทีมผู้บริหาร ฝ่ายกฎหมาย แจงข้อพิพาท "แอชตัน อโศก”

อนันดาฯ ย้ำฯ ระมัดระวัง รอบคอบ ซื้อที่ดินพัฒนาโครงการ "แอชตัน อโศก" ถูกต้องตามกฎหมาย ศึกษาข้อมูลต่างๆ การใช้ทางเข้า-ออก ของ รฟม.พร้อมจ่ายผลตอบแทนใช้ที่ดินเกือบ 100 ล้าน เป็นการสร้างอาคารจอดรถ

นับเป็นการแถลงข่าวผ่านระบบออนไลน์ด้วยสีหน้าที่ “เคร่งเครียด” อย่างมาก สำหรับแม่ทัพอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำของเมืองไทยอย่าง ชานนท์ เรืองกฤตยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อนันดา  ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หลังเผชิญมรสุมครั้งใหญ่ เมื่อศาลปกครองมีคำพิพากษา เพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างโครงการ "แอชตัน อโศก" มูลค่า 6,481 ล้านบาท ซึ่งพัฒนาโดยบริษัทลูกอย่าง “บริษัท อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก จำกัด

ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวเป็นอาคารชุด 51 ชั้น มีจำนวนทั้งสิ้น 666 ยูนิต ห้องชุดส่งมอบแล้ว 87% มูลค่ากว่า 5,639 ล้านบาท และมีจำนวนครัวเรือนอยู่อาศัย 578 ครอบครัว เป็นคนไทย 438 ราย และลูกค้าต่างชาติ 140 รายจากทั้งสิ้น 20 ประเทศ 

คำสั่งศาลปกครองกลาง ที่พิพากษาถอนใบอนุญาตก่อสร้าง ส่งผลกระทบต่อธุรกิจอย่างมาก รวมถึง “ลูกบ้าน” แสดงความกังวลใจให้ผู้บริหารรับทราบผ่านการประชุมออนไลน์เมื่อคืนนี้ โดยมีคำถามมากมายประเดประดังเข้ามา ไม่ว่าจะเป็น..เราคือคนที่มาซื้อคอนโด เพื่ออยู่อาศัยนะ ไม่ได้มาเพื่อเก็งกำไรแล้วมีปัญหาก็มาโวยวาย, เค้าจะทุบหมดเลยใช่ไหม, จะครบ 3 ปีจะรีไฟแนนซ์ได้ไหม เป็นต้น ซึ่งผู้บริหารเองก็มืดแปดด้าน และเร่งหาทางออก แต่ระหว่างทางยืนยันจะอยู่เคียงข้างลูกบ้าน 

นอกจากการออกตัวอยู่เคียงข้างลูกค้าที่ซื้อโครงการ สิ่งที่บริษัทจะดำเนินการต่อจากนี้ คือเตรียมข้อมูล หลักฐานต่างๆ เพื่อยื่นอุทรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด ภายใน 30 วัน ซึ่งตามกระบวนการศาลคาดว่าจะต้องใช้เวลาประมาณ 3-5 ปี เร็วสุดอาจเป็น 2 ปี 

ขณะเดียวกัน บริษัทได้ถือโอกาสชี้แจงกรณีที่เกิดขึ้น โดยระบุว่า กระบวนการพัฒนาโครงการ มีการขออนุญาตถูกต้องตามกฎหมายทุกประการ เช่น อนุมัติจาก 8 หน่วยงานราขการ ทั้งสำนักงานนโยบายและแผนพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(สผ.) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) สำนักงานเขตวัฒนา กรมโยธาธิการและผังเมือง กรมที่ดิน เป็นต้น

162789178591

และได้รับใบอนุญาต 9 ฉบับ เช่น ใบอนุญาตใช้ทางของรฟม. ใบอนุญาติเชื่อมทางสาธารณะ ใบรับแจ้งการก่อสร้างตามมาตรา 39 ทวิ 3 ใบ ฯ นอกจากนี้ ยังขอความเห็นก่อนดำเนินการ 7 หน่วยงาน เช่น รฟม. กองควบคุมอาคาร สำนักการจราจร สำนักงานที่ดินฯ ผ่านความเห็นชอบจาก 5  คณะกรรมการ เช่น คณะกรรมการ รฟม. คณะกรรมการ พิจารณาแบบของสำนักงานควบคุมอาหาร ว่าแบบก่อสร้างถูกต้อง เป็นต้น

ขณะที่ทางเข้า-ออก โครงการ ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญ เดิมที่ดินของโครงการนั้นมีทางเข้าออกถนน แต่ภายหลังถูกเวนคืน ตามพ.ร.บ.เวนคืนที่ดิน เพื่อให้มีการใช้ประโยชน์ในที่ดินสาธารณะ ซึ่งส่งผลให้บริษัทและรฟม.สามารถใช้ที่ดินสำหรับเป็นทางเข้า-ออกโครงการเทียบเท่าสาธารณะได้ กรณีนี้บริษัทได้เสนอค่าตอบแทนให้แก่รฟม.มูลค่าเกือบ 100 ล้านบาท ด้วยการสร้างอาคารจอดรถสูง 7 ชั้น เพื่อรองรับการบริการรถไฟฟ้า 

“บริษัทฯ ดำเนินงานอย่างระมัดระวัง รอบคอบให้ความสำคัญอย่างยิ่งในเรื่องของการซื้อที่ดินอย่างถูกต้องตามกฎหมาย มีการศึกษาข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับการใช้ทางเข้า-ออก ของ รฟม. จากโครงการอื่นๆด้วย” 

พร้อมกันนี้ บริษัทให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า โครงการ แอชตัน อโศก ไม่ใช่รายแรกที่ใช้ทางเข้า-ออกของ รฟม. รวมถึงเรื่องการดำเนินงานขออนุมัติใบอนุญาตต่างๆ ทุกขั้นตอนอย่างถูกต้องภายใต้กฎระเบียบและข้อบังคับของภาครัฐอย่างเคร่งครัด และได้ผ่านการพิจารณาเห็นชอบจากส่วนงานราชการที่เกี่ยวข้องในทุกภาคส่วน จึงทำให้บริษัทฯ มั่นใจอย่างยิ่งว่าในกระบวนการดำเนินโครงการแอชตัน อโศก ที่ผ่านมาทั้งหมดตั้งอยู่บนพื้นฐานความถูกต้องและสุจริต ชอบด้วยกฎหมายทุกขั้นตอน

ทว่า เหตุการณ์ครั้งนี้ ยอมรับว่าส่งผลกระทบต่อบริษัท เนื่องจากโครงการแอชตัน อโศก ถือเป็นหน้าเป็นตาขององค์กร 

“แอชตัน อโศก เป็นโครงการเรือธงของบริษัท กรณีที่เกิดขึ้น เหมือนเราโดนเสียบหัวใจ อยากให้เราตายเลย ลูกค้า นักลงทุน จะคิดกับเรายังไง”