สนค. หนุนไทยเร่งดันกฎหมายการประกันภัยทางทะเล รับมือวิกฤตฉุกเฉินส่งออกทางเรือ

สนค. หนุนไทยเร่งดันกฎหมายการประกันภัยทางทะเล รับมือวิกฤตฉุกเฉินส่งออกทางเรือ

สนค.  หนุนแผนรับมือวิกฤตส่งออกทางเรือ แนะเร่งผลักดันกฎหมายการประกันภัยทางทะเล สร้างความเชื่อมั่นในการซื้อขาย เหตุไทยมีนโยบายอาหารไทยอาหารโลก พร้อมเร่งพัฒนาการขนส่งแบบห้องเย็น สร้างสัมพันธ์คู่ค้าหลัก และหาคู่ค้าใหม่

นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า การค้าทางเรือถือถือว่ามีความสำคัญอย่างมากกับการส่งออกของไทย หากเกิดวิกฤติของการเดินเรือ ไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานการค้าเท่านั้น หากยังส่งผลในแง่มุมของการประกันภัยและมาตรการชดเชยสำหรับวิกฤติที่เกิดขึ้นด้วยโดยเห็นว่าไทยจะต้องมีการผลักดันกฎหมายการประกันภัยทางทะเล ที่จะเข้ามาช่วยสนับสนุนและทำให้เกิดความมั่นใจในการซื้อขาย สร้างความเป็นธรรมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่ายอย่างเหมาะสมกับการขนส่งทางทะเลของไทย เนื่องจากไทยเป็นแหล่งผลิตสินค้าเกษตรและอาหาร และมีนโยบาย “อาหารไทยอาหารโลก”ที่นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ได้กำหนดไว้

ที่ผ่ามาได้มีการจัดทำร่างพระราชบัญญัติการประกันภัยทางทะเล พ.ศ. .... ขึ้นเสนอโดยกระทรวงการคลัง มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประเทศไทยมีกฎหมายประกันภัยทางทะเลเป็นของตนเอง และคณะรัฐมนตรี (ค.ร.ม.) มีมติ เมื่อวันที่ 8 ม.ค. 2562 เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวแล้ว ซึ่งร่างพระราชบัญญัติการประกันภัยทางทะเลฯ ฉบับนี้สอดคล้องกับหลักสากลที่นานาประเทศใช้อยู่ในปัจจุบัน คือ กฎหมายการประกันภัยทางเรือ (Marine Insurance Act 1906) และ กฎหมายการประกันภัย (Insurance Act 2015) ของประเทศอังกฤษ มีสาระสำคัญ อาทิ การกำหนดขอบเขตของการบังคับการใช้สัญญาประกันภัยทางทะเล ทั้งการบังคับใช้ทั้งภายในและระหว่างประเทศ การกำหนดสิทธิและหน้าที่ระหว่างผู้รับประกันภัย และผู้เอาประกันภัย การกำหนดวิธีการคำนวณมูลค่าที่เอาประกัน การกำหนดอายุความในการเรียกให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนสำหรับสัญญาประกันภัยตรง การกำหนดวิิธีการชดใช้ค่าสินไหมทดแทน รวมทั้งการกำหนดรายละเอียดสาระสำคัญและรายการต่าง ๆ ที่ต้องแสดงในกรมธรรม์ประกันภัยทางทะเล

162762605355

โดยขณะนี้ร่าง พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าว อยู่ระหว่างขั้นตอนการตรวจพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งหากมีผลบังคับใช้จะเป็นการสร้างบรรทัดฐานทางกฎหมายในการตีความหมายประกันภัยทางทะเลของไทย ซึ่งจะเป็นประโยชน์ให้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการประกันภัยทางทะเลสามารถทราบสิทธิและหน้าที่ของตนอย่างชัดเจน เกิดความเชื่อมั่นแก่ผู้ประกอบการและประชาชนที่เกี่ยวข้อง เป็นเครื่องมืออันเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการเสริมประสิทธิภาพการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัย สร้างกลไกในการเสริมสร้างศักยภาพเศรษฐกิจไทยด้านอุตสาหกรรมประกันภัยทางทะเล และขนส่งให้แข่งขันในเวทีโลกได้ รวมทั้งช่วยให้ไทยสามารถตั้งรับวิกฤตหรือสถานการณ์ฉุกเฉินที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตได้อย่างทันท่วงที

นอกจากนี้ ไทยควรส่งเสริมการพัฒนาการขนส่งสินค้ารูปแบบห้องเย็น (Cold-Chain Logistics) เพื่อลดความสูญเสียจากการขนส่งสินค้าที่เน่าเสียง่าย และเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่กระบวนการโลจิสติกส์ในการบริหารจัดการการขนส่งแบบห้องเย็น (Value-added Cold Chain) เช่น 1.การจัดการบรรจุภัณฑ์สำหรับห้องเย็น (Portion Packing) ที่แตกต่างตามรูปแบบสินค้าและตรงความต้องการของลูกค้าปลายทาง 2.การปิดผนึกด้วยระบบแรงดันสูง(High Pressure Processing : HPP) และการใช้ความร้อนในระยะสั้น (High-temperature Short-time Heating: HTST)  เพื่อการฆ่าเชื้อก่อนการบรรจุเข้าห้องเย็นซึ่งมีต้นทุนต่ำ โดยนิยมใช้กับผลิตภัณฑ์นมและเนื้อสัตว์ 3.การแช่แข็ง (Blast freezing) เพื่อยืดอายุการเก็บรักษาผลิตภัณฑ์ให้นานขึ้น และ 4.การจัดการพาเลทห้องเย็นแบบผสมผสานสินค้า เป็นต้น

ขณะเดียวกัน จะต้องเร่งสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับประเทศคู่ค้าหลัก ได้แก่ สหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น เวียดนาม และออสเตรเลีย เป็นต้น เพราะ 5 ประเทศนี้ เป็นคู่ค้าหลักที่ไทยส่งออกผ่านทางเรือ โดยมียอดส่งออกเฉลี่ย 3 ปี (2561-2563) ถึงปีละ 2.45 ล้านล้านบาท คิดเป็นอัตรา 48.55% หรือเกือบครึ่งหนึ่งของการส่งออกทางเรือทั้งหมดของไทย ที่มีประมาณปีละ 5 ล้านล้านบาท และหากพิจารณาสินค้าส่งออก 15 อันดับแรก พบว่า มีการส่งออกทางเรือผ่าน 5 ประเทศ มีมูลค่าถึง 1.2 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 24.06% ของการส่งออกทางเรือทั้งหมด หรือคิดเป็น 16.11% ของการส่งออกทั้งหมดของไทย

162762610585

ทั้งนี้ สินค้าส่งออกทางเรือไปยัง 5 ประเทศคู่ค้าสำคัญ 15 อันดับแรก ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มสินค้าที่ใช้ในอุตสาหกรรม สินค้าอาหารและการเกษตร และสินค้าเกี่ยวกับการขนส่งและเครื่องจักรกล โดยกลุ่มที่อ่อนไหวที่สุด คือ สินค้าอาหารและการเกษตร ที่มีการส่งออกทางเรือมูลค่าเฉลี่ยรวมราว 2.4 แสนล้านบาทต่อปี คิดเป็นสัดส่วน 4.68% ของการส่งออกสินค้าทางเรือทั้งหมด ซึ่งกลุ่มนี้ ควรจะมีการประกันภัยทางทะเล และมีระบบการขนส่งห้องเย็นรองรับ

ส่วนแนวทางอื่นๆ จะต้องเร่งสร้างเครือข่ายและเชื่อมโยงตลาดไปยังประเทศคู่ค้าใหม่ เพื่อกระจายความเสี่ยงและลดการพึ่งพาประเทศใดประเทศหนึ่งมากเกินไป หากเกิดวิกฤตในเส้นทางการเดินเรือเส้นทางใดเส้นทางหนึ่ง และต้องกำหนดแนวทางและขั้นตอนการดำเนินการและแนวทางเยียวยาที่ชัดเจนสำหรับผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบหรือความไม่เป็นธรรม เมื่อเกิดวิกฤตการขนส่งสินค้าทางเรือ

ปัจจุบัน ภาพรวมการค้าของไทย ทั้งส่งออกและนำเข้าเฉลี่ยย้อนหลัง 3 ปี (2561-2563) รวมเป็นมูลค่า 14.75 ล้านล้านบาทต่อปี แบ่งเป็นการส่งออกมูลค่า 7.56 ล้านล้านบาทต่อปี โดยมีสัดส่วนการส่งออกทางเรือคิดเป็น 66.96% โดยมีการส่งออกทางเรือไปยังประเทศสำคัญ ได้แก่ สหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น เวียดนาม และฮ่องกง ตามลำดับ ส่วนการนำเข้า มีมูลค่าเฉลี่ย 7.19 ล้านล้านบาทต่อปี โดยมีสัดส่วนการนำเข้าทางเรือคิดเป็น 66.51% โดยมีการนำเข้าทางเรือจากประเทศสำคัญ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น สหรัฐฯ มาเลเซีย และเกาหลีใต้ ตามลำดับ