‘เงินบาท’ วันนี้เปิด‘ทรงตัว’ ที่ 32.87บาทต่อดอลลาร์

‘เงินบาท’ วันนี้เปิด‘ทรงตัว’ ที่ 32.87บาทต่อดอลลาร์

จากปัญหาการระบาดโควิด-19 ในไทยทวีความรุนแรงขึ้น แม้เงินดอลลาร์จะอ่อนค่าลงจะยังคงส่งผลให้เกิดแรงเทขายสินทรัพย์ไทย กดดันให้ค่าเงินบาทมีทิศทางผันผวนและอ่อนค่าลงต่อได้ แต่ไม่อ่อนค่าเร็วจากตลาดการเงินกลับมาเปิดรับความเสี่ยง ยังมองกรอบเงินบาทวันนี้ 32.80- 32.95บาทต่อดอลลาร์

นายพูน พานิชพิบูลย์  นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าเงินธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  32.87 บาทต่อดอลลาร์ ไม่เปลี่ยนแปลงจากระดับปิดวันก่อนหน้ามองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 32.80-32.95 บาทต่อดอลลาร์

สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาทยังคงมีแนวโน้มอ่อนค่าอยู่จากปัญหาการระบาดของ โควิด-19 แม้ว่าเงินดอลลาร์นั้นจะอ่อนค่าลงก็ตาม ดังนั้นเราจึงยังมองไม่เห็นโอกาสที่เงินบาทจะพลิกกลับเทรนด์มาแข็งค่าได้ในเร็วนี้ เนื่องจากปัญหาการระบาดของ โควิด-19 ในไทยยังมีแนวโน้มทวีความรุนแรงมากขึ้น และเรามองว่า จุดเลวร้ายสุดของการระบาดยังมาไม่ถึง ทำให้ เราคงประเมินว่า นักลงทุนต่างชาติก็ยังสามารถทยอยขายสินทรัพย์ไทย โดยเฉพาะหุ้นไทย ซึ่งแรงเทขายสินทรัพย์ไทยจากนักลงทุนต่างชาติยังคงกดดันให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงได้

ทั้งนี้ ในระยะสั้น หากตลาดคลายกังวล ปัญหาการระบาด โควิด-19 ทั่วโลก และกล้าเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น หนุนโดยรายงานผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนที่ออกมาแข็งแกร่งและดีกว่าคาด ก็อาจทำให้ เงินดอลลาร์กลับมาอ่อนค่าลง หลังผู้เล่นในตลาดไม่จำเป็นต้องถือสินทรัพย์ปลอดภัย (Safe Haven Asset) เพื่อหลบความผันผวนในตลาด ซึ่งการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ ก็อาจทำให้ เงินบาทไม่อ่อนค่าหนัก ทะลุ 33 บาทต่อดอลลาร์ได้เร็ว

ตลาดการเงินโดยรวมเดินหน้าเปิดรับความเสี่ยง หลังธนาคารกลางสหรัฐฯ ยังคงใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายอยู่ขณะเดียวกัน ผู้เล่นในตลาดก็คาดหวังว่า แนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในฝั่งประเทศพัฒนาแล้ว หรือDeveloped Markets อย่าง สหรัฐฯ และ ยุโรป ที่ดีขึ้นต่อเนื่อง จะช่วยหนุนให้ ผลประกอบการของหุ้นในกลุ่ม Cyclical ออกมาแข็งแกร่ง

ภาพดังกล่าวช่วยหนุนให้ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้น แม้ว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ ในไตรมาสที่ 2 จะขยายตัวเพียง6.5% จากไตรมาสก่อนหน้า แย่กว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ที่ +8.4% โดยดัชนี S&P500 ปิดบวก +0.42% จากแรงหนุนของหุ้นในกลุ่ม Cyclical ที่ปรับตัวขึ้นรับรายงานผลประกอบการที่ออกมาดีกว่าคาด

ส่วนในฝั่งยุโรป ดัชนี STOXX50 ของยุโรป ก็ปรับตัวขึ้น +0.33% โดยได้รับแรงหนุนจากความหวังรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนเช่นกัน กอปรกับ ผู้เล่นในตลาดยังคงมีความหวังต่อการฟื้นตัวเศรษฐกิจสอดคล้องกับการปรับตัวขึ้นของหุ้นในกลุ่ม Cyclical อาทิ หุ้นกลุ่มการเงิน Santander +2.57%, ING +1.82%, BNP Paribas +1.78%

ทางด้านตลาดบอนด์ ผู้เล่นในตลาดเริ่มขายทำกำไรบอนด์ระยะยาว หลังตลาดโดยรวมกลับมาอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง (Risk-On) ส่งผลให้ บอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นเล็กน้อย 2bps สู่ระดับ 1.26% ซึ่งระดับบอนด์ยีลด์ที่ทรงตัวใกล้ 1.30% ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการที่เฟดยังคงเดินหน้าใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลาย อีกทั้งผู้เล่นในตลาดก็เริ่มคลายกังวลปัญหาเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นเช่นกัน ทั้งนี้ เรามองว่า บอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ยังมีแนวโน้มทยอยปรับตัวสูงขึ้น สู่ระดับ 1.50%-1.60% สิ้นปี จากแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และทิศทางการใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้นของเฟด

ส่วนในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก หลังเฟดเดินหน้าใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายต่อ และผู้เล่นในตลาดก็มีความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัยเพื่อหลบความผันผวนน้อยลง ท่ามกลางภาวะเปิดรับความเสี่ยง

อีกทั้ง รายงาน GDP ไตรมาสที่ 2 สหรัฐฯ ก็ออกมาแย่กว่าคาด กดดันให้ล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ปรับตัวลดลงสู่ระดับ 91.88 จุด ขณะเดียวกัน การอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ก็หนุนให้สกุลเงินหลัก อาทิ เงินยูโร(EUR) แข็งค่าขึ้นสู่ระดับ 1.189 ดอลลาร์ต่อยูโร ส่วน เงินปอนด์ (GBP) สามารถปรับตัวขึ้น สู่ระดับ 1.396 ดอลลาร์ต่อปอนด์ ท่ามกลางความหวังการฟื้นตัวเศรษฐกิจ หลังรัฐบาลอังกฤษเดินหน้าผ่อนคลายมาตรการ Lockdown

สำหรับวันนี้ ตลาดจะติดตามแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยุโรป ผ่านรายงานอัตราการเติบโตเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 2 (GDP Growth Q2/2021) โดยตลาดประเมินว่า เศรษฐกิจยุโรปมีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้นในไตรมาสที่ 2 และอาจขยายตัวกว่า +13.2%y/y หลังจากที่เศรษฐกิจหดตัวกว่า -1.3%y/y ในไตรมาสแรก จากปัญหาการระบาดในช่วงต้นปี โดยแรงหนุนเศรษฐกิจมาจากการทยอยผ่อนคลายมาตรการ Lockdown ที่ช่วยหนุนการฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งของภาคการบริการ ขณะเดียวกันภาคการผลิตก็ขยายตัวตามความต้องการสินค้าจากทั่วยุโรปและทั่วโลก อย่างไรก็ดีแม้ยุโรปจะพบยอดผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นรวดเร็ว แต่ยอดผู้เสียชีวิตหรือป่วยหนัก กลับยังไม่ได้เพิ่มขึ้นไปมาก ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากการเร่งแจกจ่ายวัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูง อย่าง mRNA ซึ่งภาพดังกล่าวจะช่วยให้ยุโรปอาจไม่ต้องใช้มาตรการLockdown ที่เข้มงวด ทำให้ เราคงมุมมองที่เป็นบวกต่อแนวโน้มเศรษฐกิจยุโรป กอปรกับ ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ยังคงเดินหน้าใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลาย ทำให้เราเชื่อว่า สินทรัพย์ยุโรป อาทิ หุ้น ยังมีความน่าสนใจต่อการลงทุนในปีนี้

ส่วนในฝั่งเอเชีย ตลาดประเมินว่า ตลาดมองว่า ยอดค้าปลีก (Retail Sales) ของญี่ปุ่นในเดือนมิถุนายน มีโอกาสขยายตัวกว่า 2.9% จากเดือนก่อนหน้า แม้ว่าญี่ปุ่นจะเผชิญปัญหาการระบาดของ COVID-19 เช่นกัน แต่ทางการก็เลือกที่จะใช้มาตรการควบคุม Quasi-Lockdown ควบคู่ไปกับการเร่งแจกจ่ายวัคซีน ทำให้การใช้จ่ายของผู้บริโภคไม่ได้ซบเซาหนัก

ส่วนทางด้านฝั่งไทย ตลาดจะติดตามสถานการณ์การระบาดของ โควิด-19 ที่มีแนวโน้มเลวร้ายต่อเนื่อง ซึ่งความเลวร้ายของสถานการณ์การแพร่ระบาดอาจยากที่จะคาดเดา หลังยอดผู้ติดเชื้อจริงอาจสูงกว่ายอดที่มีการรายงานเนื่องจากข้อจำกัดของการตรวจหาผู้ติดเชื้อและการสรุปยอดจากผลการตรวจ Rapid Test  ดังนั้นการติดตามสถานการณ์การระบาดอาจใช้ข้อมูลอื่น อาทิ ยอดผู้เสียชีวิตเมื่อเทียบกับช่วงปกติในอดีต หรือ Excess Mortality และเทรนด์การเคลื่อนที่ของผู้คน ผ่าน Google Mobility data หรือ ข้อมูลการเดินทางจาก Apple Map อนึ่งปัญหาการระบาดของ โควิด-19 จะยังคงส่งผลให้เกิดแรงเทขายสินทรัพย์ไทย กดดันให้ค่าเงินบาทมีทิศทางผันผวนและอ่อนค่าลงต่อได้