'ทูตสหรัฐฯ' เผย บริจาค 'ไฟเซอร์' 2.5 ล้านโดส ไม่มีเงื่อนไขจัดสรร

'ทูตสหรัฐฯ' เผย บริจาค 'ไฟเซอร์' 2.5 ล้านโดส ไม่มีเงื่อนไขจัดสรร

"ทูตสหรัฐฯ" ระบุ บริจาคไฟเซอร์ 2.5 ล้านโดส ไม่มีเงื่อนไขในการกระจายวัคซีน เพียงช่วยชีวิตผู้คนอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม

เมื่อวันที่ 30 ก.ค. 64 นายไมเคิล ฮีธ อุปทูตรักษาการแทนเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย สัมภาษณ์พิเศษกับเรื่องเล่าเช้านี้ ระบุว่า วัคซีนไฟเซอร์ล็อตแรก 1.5 ล้านโดส ที่สหรัฐอเมริกาบริจาคถึงไทยแล้วในเช้าวันนี้ (30 ก.ค.64) เวลา 04.00 น. ส่วนอีก 1 ล้านโดส รอทำเนียบขาวยืนยันวันและเวลา โดยสหรัฐฯ จะบริจาควัคซีนให้ไทย รวมทั้งสิ้น 2.5 ล้านโดส

โดยเป็นความพยายามของสหรัฐฯ ในการยุติการระบาดทั่วโลก เป็นการประสานของรัฐ โดยไม่มีตัวกลาง มีการพิจารณาตามเกณฑ์ประเทศที่มีความเสี่ยงมากที่สุด ซึ่งสหรัฐฯและไทยได้ทำงานร่วมกันในการยกระดับสาธารณสุขมากว่า 60 ปี

162760513922

ทั้งนี้ ทางสหรัฐฯ ไม่ได้ตั้งเงื่อนไขในการกระจายวัคซีน มีเพียงการช่วยชีวิตผู้คน ต้องการกระจายอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม เพื่อป้องกันผู้มีความเสี่ยงสูง โดยเฉพาะบุคลากรทางการแพทย์, ผู้สูงอายุ โดยตั้งแต่มีการระบาดในไทย สหรัฐฯ ได้ผลักดันวัคซีนเพิ่มให้ไทยอีก 1 ล้านโดส รวมทั้งอุปกรณ์ทางการแพทย์อื่นๆอีกประมาณ 10 ล้านดอลลาร์ ซึ่งมากกว่ามูลค่าทางการเงิน คือการมองถึงการช่วยชีวิตผู้คน และสนับสนุนประเทศไทยในการต่อสู้กับโรคระบาดครั้งนี้ต่อไป

พร้อมกันนี้ นายไมเคิล ยังแสดงความชื่นชมและส่งกำลังใจให้บุคลากรทางการแพทย์ พร้อมยืนยันว่า สหรัฐฯ จะเคียงบ่าเคียงไหล่กับคนไทยตลอดไป

162760511148

นอกจากนี้ สถานทูตสหรัฐฯ ยังได้ขึ้นบทความ "วัคซีนไฟเซอร์ 1.5 ล้านโดสที่บริจาคโดยสหรัฐฯ มาถึงไทยแล้ว" บนเว็บไซต์ของสถานทูต โดยมีข้อความดังนี้ 

สหรัฐฯ ได้บริจาควัคซีนโควิด-19 ของไฟเซอร์จำนวน 1,503,450 โดสให้กับประเทศไทย โดยวัคซีนจำนวนดังกล่าวมาถึงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิในเวลาเช้าวันนี้ การขนส่งวัคซีนครั้งประวัติศาสตร์นี้เป็นการเน้นย้ำถึงการสนับสนุนที่สหรัฐฯ มีต่อพันธมิตรที่เก่าแก่ที่สุดของเราในเอเชีย

เรายังภูมิใจที่ได้ยืนยันว่า สหรัฐฯ จะบริจาควัคซีนให้กับไทยรวมทั้งหมด 2.5 ล้านโดส โดยจะบริจาคเพิ่มเติมอีก 1 ล้านโดสนอกไปจากจำนวนที่มาถึงแล้วในวันนี้

รัฐบาลสหรัฐฯ ยืนเคียงข้างไทย หุ้นส่วนของเรา ในการต่อสู้กับโรคโควิด-19 และเริ่มกระบวนการฟื้นฟูทางเศรษฐกิจ ความร่วมมือกันนี้สะท้อนคำมั่นของประธานาธิบดีไบเดนที่จะมอบวัคซีนที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพให้กับประเทศต่าง ๆ ที่ขาดแคลน

รัฐบาลภายใต้การบริหารของประธานาธิบดีไบเดนและรองประธานาธิบดีแฮร์ริสประกาศว่า สหรัฐฯ จะแบ่งปันวัคซีนจำนวน 80 ล้านโดสในส่วนของสหรัฐฯ เองเพื่อช่วยยุติโรคระบาดใหญ่ในทั่วโลกนี้ และการส่งมอบวัคซีนไฟเซอร์ในครั้งนี้แสดงถึงความสำคัญที่สหรัฐฯ ให้กับความร่วมมือระหว่างเรากับไทย ในแผนการบริจาควัคซีน 80 ล้านโดสของประธานาธิบดีไบเดนนั้น สหรัฐฯ จะมอบวัคซีน 23 ล้านโดสให้กับประเทศต่าง ๆ ในเอเชีย เพื่อที่จะช่วยให้ภูมิภาคนี้รวมถึงประเทศไทยปลอดภัย การบริจาควัคซีนเหล่านี้เป็นความช่วยเหลือนอกเหนือไปจากความช่วยเหลือมูลค่า 4,000 ล้านเหรียญที่สหรัฐฯ ให้ผ่านทางโคแวกซ์ ซึ่งเป็นโครงการจัดสรรวัคซีนโควิด-19 ให้แก่นานาประเทศอย่างเท่าเทียม

การบริจาควัคซีนจำนวน 1.5 ล้านโดสครั้งนี้ รวมถึงวัคซีนหลายล้านโดสที่สหรัฐฯ มอบให้กับประเทศเพื่อนบ้านของไทย จะช่วยให้ไทยและประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคเร่งการฉีดวัคซีนเพื่อให้พลเมืองของตนปลอดภัย ตลอดจนฟื้นฟูเศรษฐกิจได้อย่างรวดเร็ว

วัคซีนของเรานั้นให้เปล่าโดยไม่มีเงื่อนไข สหรัฐฯ ดำเนินการเช่นนี้ด้วยวัตถุประสงค์หนึ่งเดียวเท่านั้น นั่นคือการช่วยชีวิตผู้คน และด้วยความตระหนักอย่างถ่องแท้ว่า ไม่มีใครปลอดภัยจนกว่าทุกคนจะปลอดภัย

ดังนั้น เราจึงยินดีที่ได้ทราบว่า รัฐบาลไทยมุ่งมั่นที่จะกระจายวัคซีนเหล่านี้อย่างเป็นธรรมให้ผู้ที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยทุกคน รวมทั้งมุ่งเน้นการจัดสรรวัคซีนให้กับกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงสุด

วัคซีนโควิด-19 ของไฟเซอร์-ไบออนเทค ซึ่ง Pfizer Inc. บริษัทยาของสหรัฐฯ และ BioNTech SE บริษัทไบโอเทคโนโลยีของเยอรมนี ร่วมกันพัฒนาขึ้น เป็นวัคซีนตัวแรกที่ได้รับอนุญาตทะเบียนแบบฉุกเฉินจากองค์การอนามัยโลก และข้อมูลขององค์การอาหารและยาสหรัฐฯ แสดงให้เห็นว่า วัคซีนนี้มีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคโควิด-19 ได้ร้อยละ 95

กว่า 60 ปี สหรัฐฯ และไทยได้ผนึกกำลังรับมือกับปัญหาสำคัญที่ส่งผลต่อสาธารณสุข ความร่วมมือนี้เพิ่มพูนขึ้นนับตั้งแต่เกิดการระบาด โดยสหรัฐฯ ทำงานเคียงบ่าเคียงไหล่กับภาคีชาวไทยในการเสริมสร้างความเข้มแข็งเพื่อตอบสนองต่อโรคโควิด-19 ในไทย รวมถึงช่วยให้ไทยเข้าถึงอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่สำคัญได้ จนถึงปัจจุบัน ความช่วยเหลือทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับโรคโควิด-19 จากรัฐบาลสหรัฐฯ ได้ส่งเสริมรัฐบาลไทยในการเตรียมความพร้อมระบบห้องปฏิบัติการ ดำเนินการค้นหาผู้ป่วยและเฝ้าระวังเหตุการณ์สำหรับอาการป่วย สนับสนุนผู้เชี่ยวชาญด้านวิชาการเพื่อการตอบสนองและเตรียมความพร้อมต่อการระบาด เสริมสร้างการสื่อสารความเสี่ยง ป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อในสถานพยาบาล ตลอดจนช่วยเหลือผู้พลัดถิ่นตามแนวชายแดน นอกจากนี้ เรายังได้มอบเครื่องช่วยหายใจ หน้ากากกรองอากาศ ชุดตรวจหาการติดเชื้อ หน้ากากอนามัย แว่นตานิรภัย และอุปกรณ์ป้องกันอื่น ๆ สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ พยาบาล และอาสาสมัครสาธารณสุขชาวไทยที่กล้าหาญซึ่งกำลังทำงานเพื่อควบคุมการระบาดด้วย

ความร่วมมือระหว่างสหรัฐฯ และไทยได้ช่วยชีวิตผู้คนนับไม่ถ้วนทั่วโลกผ่านความก้าวหน้าด้านการวิจัย การพัฒนา และการรักษา และเราก็ยังคงทำงานด้วยกันอย่างแข็งขันเพื่อหยุดยั้งโรคโควิด-19 ตั้งแต่การระบาดระลอกแรกเมื่อปีที่แล้ว

นับตั้งแต่ปี 2491 เป็นต้นมา สหรัฐฯ เป็นผู้สนับสนุนรายใหญ่ที่สุดขององค์การอนามัยโลก เราเข้าใจว่าความมั่นคงด้านสุขภาพทั่วโลกขึ้นอยู่กับระบบสาธารณสุขที่ยืดหยุ่นพร้อมฟื้นตัว โปร่งใส และตอบสนองต่อสถานการณ์ได้ดี

สหรัฐฯ มุ่งมั่นที่จะเป็นผู้นำในการตอบโต้การระบาดของโรคโควิด-19 ทั่วโลก และเป็นผู้บริจาครายใหญ่ที่สุดในโครงการสนับสนุนด้านการเงิน COVAX Advance Market Commitment เพื่อการเข้าถึงวัคซีนโควิด-19 อย่างเท่าเทียม